Search

นักเคลื่อนไหวการเมืองหญิงในพม่าเกือบ 4,000 คน ถูกคุมขังอยู่ในคุก-ตัวเลขถูกคุกคามทางเพศพุ่ง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายงานตามคำกล่าวอ้างของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (Assistance Association for Political Prisoners-Burma : AAPP) ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงในพม่าจำนวน 3,908 คน ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและอยู่ในศูนย์สอบปากคำตามสถานีตำรวจ-ทหารทั่วประเทศพม่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน โดยได้ยกย่องผู้หญิงในพม่าจากหลากหลายอาชีพคือกลุ่มแนวหน้าและเป็นกลุ่มที่ออกมานำเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มแรกๆ เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพตั้ดมะด่อว์

AAPP ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนผู้หญิงที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศนั้นคิดเป็นร้อยละ 21 จากนักโทษการเมืองทั้งหมด 20,101 คน โดยนักเคลื่อนไหวหญิงที่เป็นที่รู้จักและนับถือในหมู่ชาวพม่าอย่างนางอองซาน ซูจี วัย 78 ปี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐก่อนมีการรัฐประหาร ขณะนี้ก็ยังคงถูกคุมตัวขังเดี่ยวอยู่ในเรือนจำเนปีดอว์ และถูกศาลทหารพม่าตัดสินจำคุกแล้ว 27 ปี ในหลายข้อหาที่กองทัพพม่ายัดเยียดให้


AAPP ยังระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร กองทัพพม่าสังหารผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว 4,650 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 822 คน โดยผู้หญิงจำนวน 8 คน เสียชีวิตในเรือนจำ และอีก 4 คน เสียชีวิตในระหว่างถูกสอบสวน นอกจากนี้ผู้หญิงอีกจำนวน 111 คน เสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขังในรูปแบบอื่นๆ ส่วนตัวเลขที่เหลือเสียชีวิตในระหว่างการปราบปรามการประท้วงของรัฐบาล และเสียชีวิตจากการถูกโจมตีทางอากาศและถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของพลเรือนทั่วประเทศ นอกจากนี้ตัวเลขของผู้หญิงที่ถูกสังหารนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น มีผู้หญิงเสียชีวิต 95 รายในปี 2564 แต่จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 212 รายในปี 2565 และ 395 รายในปี 2566

ทางด้านโก่โบจี ผู้ก่อตั้งและเป็นเลขาธิการร่วมของ AAPP กล่าวว่า จำนวนผู้หญิงที่ถูกสังหารและควบคุมตัวบ่งชี้ว่าการมีส่วนร่วมของสตรีพม่าในขบวนการต่อต้านระบอบการปกครองตั้งแต่ปี 2564 นั้นไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศ

โก่โบจี กล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่แนวโน้มดังกล่าวอย่างน้อยก็มีนัยเชิงบวก โดยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ในปัจจุบันมีผู้หญิงที่กระตือรือร้นทางการเมืองจำนวนมากทั้งในระดับผู้นำของขบวนการต่อต้านระบอบการปกครอง เช่นเดียวกับในการต่อต้านด้วยอาวุธและการสู้รบต่อต้านกองทัพพม่าในแนวหน้าสนามรบ

“แต่การนำผู้หญิงเกือบ 4,000 คนเข้าคุก และสังหารอีกหลายๆ คน ถือเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับประเทศ ดังนั้น รัฐบาลทหารจะต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เขากล่าวเสริม

ขณะที่สำนักข่าว DVB ได้รายงานว่า ตัวเลขผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศตามเมืองใหญ่ๆ เช่นย่างกุ้งนั้นพุ่งสูงขึ้น และกระบวนการสืบสวนหาคนทำผิดหรือไต่สวนในชั้นศาลเกี่ยวกับคดีละเมิดทางเพศนั้น เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ทางการพม่ามุ่งเน้นเร่งปราบปรามและตัดสินในคดีที่เกี่ยวกับการเมือง หรือจับกุมคนที่มีพฤติกรรมต่อต้านทางการมากกว่าคนที่ก่ออาชญากรรมทั่วไป และเมื่อเกิดเหตุก่ออาชญากรรมหรือเหตุละเมิดทางเพศ ผู้เสียหายเลือกที่จะไม่ไปโรงพักแจ้งความ เนื่องจากทราบดีว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →