เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดการสู้รบดุเดือดระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งจับมือกับกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) บริเวณชายแดนจังหวัดเมียวดีตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด รวมถึงชายแดนด้านอำเภอท่าสองยางและอำเภออุ้มผาง จ.ตาก ทำให้มีคนไทยพลัดถิ่นในบ้านห้วยส้านเสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 3 ราย และคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากต้องอพยพหนีตาย ว่าคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้สมัยก่อนพวกเขาอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกับเราและเป็นคนไทย เพราะบ้านห้วยส้านเคยเป็นดินแดนไทย แต่ต่อมาตกเป็นของประเทศพม่า แต่คนไทยกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ในพื้นที่เดิม บางส่วนได้ขอกลับมาอยู่ประเทศไทย แต่คณะกรรมการที่พิจารณาสัญชาติของกระทรวงมหาดไทยไม่ยอมรับรองคนกลุ่มนี้จนมีการฟ้องศาลและศาลได้มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยรับรองคนไทยกลุ่มนี้
“คนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่น้อยยังอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยส้านเพราะเขามีที่นาที่ไร่อยู่ที่นั่น แต่เขาก็มีญาติพี่น้องอยู่ฝั่งไทย เขามีประวัติศาสตร์ไทย มีการสื่อสารเป็นภาษาไทย ดังนั้นเมื่อเขาเดือดร้อนรัฐบาลไทยควรเร่งรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขในยามเจ็บป่วยหรือเรื่องการศึกษา คนกลุ่มนี้มีนับหมื่นคน แต่รัฐบาลไทยยังไม่เคยมีมาตรการออกมาดูแลพวกเขาเลย” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การสู้รบในด้านตะวันตกของประเทศไม่เหมือนเดิมคือจากที่เคยสู้รบกันเป็นช่วงๆ ทำให้คนที่หนีออกมาจากพื้นที่สู้รบมีเวลากลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้การสู้รบรุนแรงและยาวนานทำให้พวกเขาต้องอพยพกันมาทั้งครอบครัวและปักหลักอยู่ในประเทศไทยยาวนาน แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการรองรับเลยปล่อยให้พวกเขามาอยู่กับญาติพี่น้องโดยไม่ยอมจัดทำทะเบียนใดๆซึ่งในอนาคตจะทำให้การแก้ไขปัญหามีความซับซ้อนขึ้น
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า ความรุนแรงในพม่าส่งผลโดยตรงต่อไทยเพราะมีชายแดนติดกันมากที่สุด โดยมีผู้อพยพเข้ามาแล้วจำนวนมาก ขณะที่การค้าชายแดนไทยได้เปรียบเพราะเป็นผู้ขายฝ่ายเดียว ดังนั้นหน้าที่ของรัฐไทยทำอย่างไรให้เกิดความสงบสุขในพม่า ไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องก้าวก่ายเรื่องภายในพม่า รัฐบาลไทยต้องมีความกล้าในนโยบายทางการทูตอย่างตรงไปตรงมาบ้าง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยควรคบทั้ง 2 ฝ่ายทั้งชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเลือกคบแต่รัฐบาลทหารพม่า ขณะที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยกลับมีความเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลไทยควรปรับเปลี่ยนทิศทาง
“ปัจจุบันมีผู้ที่อพยพหนีเข้ามาอยู่ในไทยแล้วนับแสนคน ซึ่งจะกลายเป็นทั้งปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับคนเหล่านี้ แต่ปัจจุบันรัฐยังไม่ทำอะไรเลย พูดแต่เรื่องมนุษยธรรมโดยจะเข้าไปดูแลถึงฝั่งนู้น แต่คนที่ทะลักเข้ามาเป็นแสนกลับไม่ทำเลย ทั้งๆที่เป็นหน้าที่เพราะต้องรีบแก้ไขก่อนปัญหาจะเพิ่มมากกว่านี้”นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์การสู้รบบริเวณชายแดนไทย-พม่า นั้น สำนักข่าวกะเหรี่ยง Karen Information Center (KIC) รายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ได้มีการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าในพื้นที่กองพล 6 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) โดยมีการทิ้งระเบิดทางอากาศทั้งกลางวันและกลางคืนในพื้นที่กองพล 6 (ดูพลาลายา) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยล่าสุดกองกำลังสนธิที่นำโดยกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA (ฝ่ายทหารของ KNU)ร่วมกับกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF ) ปฏิบัติการโจมตีและยึดครองฐานทัพยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่าไจโดง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และสามารถยึดฐานดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ โดยกองทัพพม่าได้โจมตีทางอากาศอย่างหนัก
นายพะโด่ ซอลิสตาน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KUN เขตดูพลาลายา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว KIC ว่ามีการยิงโจมตีโดยเครื่องบินของกองทัพพม่าทุกวัน มีเครื่องบินขับไล่ไอพ่นมาทิ้งระเบิดเฉลี่ย 20 ครั้งต่อวัน และยังมีเฮลิคอปเตอร์สนับสนุนอีกด้วย
KICรายงานว่าการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าส่งผลให้มีพลเรือนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บโดยยังอยู่ระหว่างการยืนยันตัวเลข และล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 14 มีนาคมมีการทิ้งระเบิดลงหมู่บ้านในเขตลูต่อ กองพล 5 รวมทั้งในเมืองกอกาเร็ก ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในปี 2567 การสู้รบในเขตดูพลายาส่งผลให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นเนื่องจากสงครามแล้ว 136,783 คน
ขอบคุณภาพจาก KIC
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.