เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 นายบันยา โฆษกสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี (Karenni State Interim Executive Council-IEC) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ ถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม humanitarian corridor จากไทยส่งชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย โดยมีข่าวว่าหลังจากมีการจัดกิจกรรมส่งความช่วยเหลือในวันที่ 25 มีนาคม ที่ส่งไปช่วยเหลือชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยงด้านอำเภอแม่สอดและครั้งต่อไปจะส่งให้ชาวบ้านคะเรนนีชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ว่าตนได้ยินข่าวมาว่ากระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ของไทยได้ติดต่อกับพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party หรือ KNPP) แต่สำหรับสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนีไม่ทราบรายละเอียด
นายบันยากล่าวว่า สถานการณ์การสู้รบในรัฐคะเรนนีตอนนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น (internally-displaced persons-IDPs) จำนวนเยอะมาก ประมาณ 3.5 แสนคน หากดูพื้นที่ก็อาจไม่มาก แต่หากเปรียบประชากรในคะเรนนีที่มีเพียง 4 แสนคน(87.5%) ก็ถือว่าสัดส่วนผู้พลัดถิ่นสูงมาก การสู้รบไม่มีที่ว่างให้พักอาศัยอย่างปลอดภัยได้ในเมืองต่างๆ ประชาชนต้องอพยพออกไปทั้งหมดโดยต้องทิ้งบ้านเรือนออกไปอยู่ในป่า การประกอบธุรกิจต่างๆ เป็นไปแทบไม่ได้ ขณะที่การสู้รบที่ชายแดนคะเรนนีด้านรัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉาน รุนแรงต่อเนื่อง ทำให้สินค้าส่งเข้ามารัฐคะเรนนีเป็นไปไม่ได้เลย
โฆษก IEC กล่าวว่า การดูแลช่วยเหลือชาวบ้านที่ผ่านมาก็มีองค์กรประชาสังคม องค์กรศาสนา และชาวคะเรนนีที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศช่วยอยู่บ้าง แต่การหาซื้อเสบียงและข้าวของจำเป็นสำคัญมากเพราะมักขาดตลาด ที่สำคัญคือเส้นทางขนส่งสินค้าถูกปิดและน้ำมันราคาแพง
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลไทยติดต่อไป IEC มีกลไกพร้อมดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านพร้อมหรือไม่ นายบันยากล่าวว่าพร้อม เพราะปกติก็ทำอยู่แล้ว ดังนั้นจึงพร้อมเมื่อได้รับการส่งต่อความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย เพราะเรามีกลไกของรัฐคะเรนนี มีการปกครองมีเส้นทางชัดเจนของเรา มีปัญหาแค่ว่าไม่มีการส่งความช่วยเหลือไปให้
“เส้นทางการส่งของไปยังรัฐคะเรนนีปัจจุบัน ไม่มีการขัดขวางจากกองกำลังฝ่ายตรงข้ามแล้ว ขณะนี้ชายแดนของเราทั้งหมดดูแลโดยชาวคะเรนนี การเข้าสู่เมืองภายใน เดมอโส่ พรูโส่ เป็นพื้นที่ที่สภาบริหารชั่วคราวฯ เราควบคุมแล้วทั้งหมด โดยประชาชนส่วนใหญ่อยู่รอบๆ เมือง เดมอโส่ ลอยก่อ พรูโส่ โมเบีย”นายบันยา กล่าว
โฆษก IEC กล่าวว่าการสู้รบภายในรัฐคะเรนนียังมีตลอดโดยมีเครื่องบินของกองทัพพม่ามาทิ้งระเบิดต่อเนื่องทุกวันโดยพื้นที่เมืองหลวงคือลอยก่อนั้น เรายังไม่สามารถผลักดันทหารพม่าออกไปได้หมด แต่นั่นคือเป้าหมายของเรา ตอนนี้ก็ยังมีประชาชนอยู่ในลอยก่อส่วนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงเด็กๆคะเรนนีที่อพยพหนีการสู้รบตามครอบครัวไปอยู่ในป่าได้เรียนหนังสือหรือไม่ นายบันยากล่าวว่า ยังคงมีการเรียนการสอบอยู่ตามป่า แม้ว่าจะยากลำบากแต่ก็พยายาม เพราะเด็กเยาวชนมีราว 35% หรือ 1.4 แสนคนของประชากรทั้งหมด 4 แสนคน โดยตอนนี้หนังสือเรียน สมุด เครื่องเขียน เวลานี้หาซื้อยากมาก หากมีใครส่งเข้าไปจะช่วยได้มาก ขณะที่ครูของเราไม่มีเงินเดือน มีเพียงค่าเบี้ยเลี้ยงครู เดือนละ 30,000 จั๊ต คือราวๆ 300 บาทเท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่กองทัพพม่าบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารส่งผลกับคนหนุ่มสาวในคะเรนนีหรือไม่ นายบันยากล่าวว่า การเกณฑ์ทหารของกองทัพไม่มีผลในรัฐคะเรนนี เพราะเผด็จการทหารพม่าไม่มีอำนาจปกครองใดๆ ในพื้นที่แล้ว และในเมืองมีประชาชนเหลือน้อย ขณะนี้ชาวคะเรนนี 95% ดูแลโดย IEC ดังนั้นกฎหมายพม่าไม่มีผลในรัฐคะเรนนีแล้ว
“ขณะนี้บางพื้นที่ของเรากำลังสร้างระบบใหม่ เป็นการจัดการชั่วคราว interim arrangement และในส่วนที่ยังไม่ชัดเจน ประชาชนชาวบ้านดูแลกันเองในหมู่บ้านหรือชุมชน ในเร็วๆ นี้เราจะทดลองการปกครองเองระดับอำเภอ 7 แห่งของรัฐคะเรนนี”โฆษก IEC กล่าว
ขณะที่ Kantarawaddy Times สื่อของคะเรนนีรายงานเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ว่า สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นในรัฐคะเรนนีเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากขาดแคลนอาหารถึงขั้นวิกฤติ บางครอบครัวต้องหุงข้าวในตอนเช้าและกินข้าวต้มในตอนเย็น หญิงผู้พลัดถิ่นคนหนึ่งนอกเขตเมืองเดมอโส่ ให้สัมภาษณ์ว่าในปีก่อนหน้านี้ยังพอมีการบริจาคเข้ามา จึงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาการบริจาคขาดแคลนไป ประชาชนที่พลัดถิ่นจึงประสบปัญหาอย่างสาหัส
“ปีที่แล้วเมื่อข้าวหมดก็มีการบริจาคส่งมา แต่ตอนนี้แทบไม่มีส่งมาเลย ในขณะที่เราเองก็ไม่มีรายได้ ไม่สามารถเพาะปลูกเนื่องจากสงคราม มีเพียงขาออกเท่านั้น” หญิงผู้พลัดถิ่นกล่าว
กรรมการค่ายผู้พลัดถิ่นคนหนึ่งที่จัดการค่ายที่มีสมาชิกประมาณ 100 ครอบครัวกล่าวว่าไม่สามารถที่จะให้ความสำคัญกับครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะเกือบทั้งหมดต่างอยู่ในภาวะฉุกเฉิน โดยเมื่อมีข้าวสารหรือความช่วยเหลือเข้ามาก็จะจัดสรรให้ครอบครัวละ 1 ชุดเท่านั้น และบางครอบครัวที่เป็นครอบครัวใหญ่ก็จะลำบากกว่า