เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Myanmar Now และสำนักข่าว Tai TV Online ได้รายงานว่า กองทัพโกก้าง MNDAA ได้กลับมาฟื้นฟูเมืองเล่าก์ก่าย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า อีกครั้งหลังการสู้รบระหว่าง 3 กองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพพม่า โดยร้านค้าได้เปิดค้าขายตามปกติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงกิจการธุรกิจโรงแรม และมีการซ่อมแซมบ้านเรือน ถนนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุสงคราม ซึ่งขณะนี้ สงครามในพื้นที่ได้สงบชั่วคราว ทำให้บรรยากาศทั่วไปในเมืองเล่าก์ก่ายกลับมาคึกคักอีกครั้ง
มีรายงานว่า กองทัพโกก้างได้เปิดเมืองให้เดินทางเข้าออกได้ตามปกติ แต่คนภายนอกจะต้องมีใบอนุญาตให้เข้าเมืองจากกองทัพโกก้าง โดยคนภายนอกสามารถเดินทางไปเมืองเล่าก์ก่ายได้ระยะเวลา 7 วัน และกองทัพโกก้างไม่เข้มงวดมากนัก หากเป็นชาติพันธุ์อย่างไทใหญ่ ปะหล่อง คะฉิ่น เป็นต้น แต่จะเข้มงวดกับคนเชื้อสายพม่าที่ต้องการเดินทางเข้าเมืองเล่าก์ก่าย อย่างไรก็ตาม เมืองเล่าก์ก่ายยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยต้องใช้เครื่องปั่นไฟแทน ขณะที่สัญญาณโทรศัพท์นั้นใช้จากประเทศจีน
ขณะที่สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาว่า กองกำลังป้องกันแห่งชาติคะเรนนี (The Karenni Nationalities Defense Force – KNDF) ได้ประกาศว่า ทางกลุ่มและพันธมิตรสามารถยึดพื้นที่รัฐคะเรนนีได้ 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยสามารถยึดเมือง 7 เมืองทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งติดกับพรมแดนประเทศไทย และอีก 2 เมืองทางใต้ของรัฐฉาน ซึ่งมีชาติพันธุ์คะเรนนีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
โดยปฏิบัติการยึดคืนรัฐคะเรนนีจากกองทัพพม่านั้น นอกจากกองทัพ KNDF แล้ว ยังมีกองทัพคะเรนนี ภายใต้พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) ร่วมต่อสู้จนนำมาสู่การยึดเมืองต่างๆได้ ซึ่งขณะนี้ กองทัพพม่าแทบจะสูญเสียเขตพื้นที่ควบคุมเกือบทั้งหมดที่ติดกับชายแดนไทย และกองทัพ KNDF สามารถขยายอาณาเขตควบคุมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมืองบางส่วนที่ฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่ายังไม่สามารถยึดได้สมบูรณ์ หรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่สามารถยึดได้คือ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนีอย่างเมืองลอยก่อ เมืองพรูโส่ เมืองบอว์ลาคี และเมืองพาสะวัง ทั้งนี้ นายโก่ ซอ ทะ แอ โฆษกของกองทัพ KNDF กล่าวว่า แม้ประชาชนเดินทางเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในเขตควบคุมของ KNDF แต่ชาวบ้านยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเดิมของพวกเขาได้ เนื่องจากสถานการณ์สู้รบ และการถูกโจมตีจากกองทัพพม่า รวมไปถึงกับระเบิดที่ฝังไว้
โฆษกของ KNDF กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กองทัพพม่าได้ถอนฐานทัพออกไปกว่า 16 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีกำลังพลอยู่ระหว่าง 40 – 100 นาย และจนถึง 23 มีนาคมที่ผ่านมา กองทัพ KNDF และพันธมิตรสามารถยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าได้แล้ว 65 แห่ง ใน 8 เมือง
ด้านสื่อท้องถิ่น Narinjara รายงานว่า ส่วนราชการในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่นั้น หยุดชะงักเกือบทั้งหมด หลังกองทัพพม่าพ่ายสงครามและสูญเสียเมืองต่างๆให้กองทัพอาระกัน (Arakan Army) แม้แต่ในเมืองหลวงของรัฐอาระกัน อย่างเมืองซิตต่วย ถึงแม้ยังไม่ถูกยึดจากฝ่ายต่อต้านก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ราชการส่วนใหญ่บางส่วนได้ลาออก บางส่วนขาดปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาต
“สถานที่ราชการ แม้จะมีการเปิดประตูหรือหน้าต่างไว้ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายภาคส่วนก็ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ หรือขาดงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และขณะนี้ทางกองทัพพม่าได้ออกกฎห้ามข้าราชการเดินทางออกจากในพื้นที่” ข้าราชการรายหนึ่งกล่าว