Search

น้ำโขงล้นปรี่ทะลักตลิ่ง หลายฝ่ายแนะรัฐทบทวนแผนบริหารน้ำ-ชะลอสร้างเขื่อนปากแบง แฉวิกฤตชี้ชัดผลการศึกษามั่วระดับน้ำเท้อ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากริมแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงรายว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงยังคงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนทางตอนใต้ของประเทศจีนและปริมาณฝนที่ยังตกอย่างต่อเนื่องในลุ่มแม่น้ำโขง โดยระดับน้ำเมื่อเวลา 09.00 น.ที่อำเภอเชียงของอยู่ที่ 10.60 เมตร และเริ่มไหลเอ่อท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง ขณะที่ปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มยังมีปริมาณสูงท่วมพื้นที่การเกษตรในวงกว้างโดยมีมวลน้ำที่ถูกปล่อยจากกว๊านพะเยาไหลตามลำน้ำอิงเพื่อลงน้ำโขงต่อเนื่องทำให้มีน้ำสะสมในพื้นที่ที่ไหลผ่านจำนวนมาก

นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่าสถานการณ์น้ำโขงที่ตนเองได้ติดตามวัดระดับน้ำและตะกอนตลอดหลายปีที่ผ่านมาในฐานะคนท้องถิ่นเห็นว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมากและผิดฤดูกาลโดยในอดีตตามธรรมชาติเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและฝนตก แม่น้ำโขงก็สูงขึ้นและมีน้ำจากลำน้ำสาขาเข้ามาเติม วิถีของผู้คนที่อาศัยริมฝั่งโขงก็เป็นไปตามน้ำ ในหน้าแล้งน้ำลดระดับลง เกิดระบบนิเวศหาด ดอน ความรู้การหากินเลี้ยงชีพของชาวบ้านเป็นไปตามฤดูกาล แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนตอนบน ซึ่งตอนนี้มี 12 เขื่อนในจีนยูนาน พบว่าระดับน้ำเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เกิดความผันผวน ปรวนแปรตามการใช้งานเขื่อน และนิเวศบริการที่แม่น้ำเคยให้ได้ลดหายไปเรื่อยๆ จนหาปลาแทบไม่ได้

“วันนี้เรากลับเห็นผู้คนจากภายนอกเข้ามาทำให้แม่น้ำโขงเป็นสินค้า สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าทำกำไร ข้ออ้างพลังงานที่สะอาดแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชีวิตคนนับล้านๆ การท่องเที่ยว จะสวยงามได้อย่างไรเมื่อมันอยู่บนความเสียหายและการพรากแม่น้ำโขงไปจากประชาชนและชุมชนดั้งเดิม ผมไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลประเทศไทยหรือประเทศสมาชิกจะหารือกันในเรื่องความเสียหายของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น หากแม่น้ำโขงตายแล้วอาจไม่สามารถฟื้นคืนได้ดังเดิม” นายจีระศักดิ์ กล่าว

ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า แม่น้ำโขงที่เอ่อท่วมในเวลานี้ อ.เชียงของไม่เคยมีภัยร้ายแรง มีน้ำท่วมเร็วๆ เพียงครั้งสองครั้ง แต่วันนี้เราเห็น น้ำโขงเอ่อท่วม ลำน้ำสาขาก็ท่วมและไหลลงมาสร้างความเสียหายตลอดทั้งลุ่มน้ำ แต่กลับไม่เคยมีการพูดถึงต้นตอที่มาของปัญหาที่ชัดเจน เขื่อนจีนควรบริหารและระบายน้ำให้เป็นไปตามฤดูกาลและคำนึงถึงท้ายน้ำ และหากมีเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงอีก ทั้งอำเภอเชียงของไม่น่าจะรอด

“น้ำวันนี้ที่ อ.เชียงของสูง 10.60 เมตร หากมีเขื่อนปากแบงกั้นน้ำโขงจะเท้อท่วมระบายไม่ทัน ต้องรุนแรงกว่านี้อย่างแน่นอน ไหนจะตะกอน ขยะอีกมากมาย จะวางแผนแก้ไขปัญหาป้องกันอย่างไร ทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค”นายจีระศักดิ์ กล่าว

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) กล่าวว่า รายงานของบริษัทต้าถังฯ (Datang(Lao) Pak Beng Hydropower Co.,Ltd.) ในเรื่อง Reservoir Sedimentation and Backwater ซึ่งเผยแพร่ผ่านเวปไซด์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC)ตั้งแต่ปี 2558 ได้วิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำเท้อไว้นั้น ทำในสถานการณ์ปกติ ไม่มีการประเมินในกรณีที่มีน้ำหลากมากและต่อเนื่องเช่นในเดือนสิงหาคมของปีนี้ ว่าจะส่งผลต่อระดับน้ำโขงและลำน้ำสาขาอย่างไร ถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงมาก นำไปสู่การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

นายมนตรีกล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม รายงานฯ ระบุว่า ระดับน้ำเท้อที่แก่งผาไดเท่ากับ 343 ม.รทก. (เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) แต่ระดับน้ำโขงจริงที่แก่งผาไดวันที่ 3 สิงหาคม สูงมากกว่า 346 ม.รทก. และในช่วงวันที่ 22-23 สิงหาคม 2567 ระดับน้ำโขงที่แก่งผาไดก็สูงมากกว่า 348 ม.รทก. หรือที่อ.เชียงของ ระดับน้ำเท้อที่รายงานฯ ระบุไว้ที่ 347.4 ม.รทก. แต่ในวันที่ 22-23 สิงหาคม ระดับน้ำโขงจริงก็สูงมากกว่า 351.5 ม.รทก. ความแตกต่างของระดับน้ำเท้อที่ระบุในรายงาน กับระดับน้ำที่เกิดขึ้นจริงมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ หากสร้างเขื่อนปากแบงและมีระดับเท้อในระดับที่ระบุไว้เป็นต้นทุนระดับน้ำโขงอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ แม่น้ำโขงจะมีระดับเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก และส่งผลต่อเนื่องต่อการระบายน้ำจากลำน้ำสาขาลงสู่แม่น้ำโขง จะใช้เวลานานมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความเสียหายต่อบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน และสาธารณูปโภคอีกมากมาย

ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงกล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำซึ่งรับผิดชอบจัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อเขื่อนปากแบง (PNPCA) ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560 ก็มิได้ได้นำผลการศึกษาระดับน้ำเท้อมาเผยแพร่ต่อชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ หรือดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบในฉากทัศน์ต่างๆ (scenario) การดำเนินการที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำมาดำเนินการติดตั้งเสาหลักระดับตามลำน้ำโขง จากแก่งผาไดขึ้นไปถึงอ.เชียงแสน ในปี 2562 เพื่อดูพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากระดับเก็บกักน้ำที่ 340 ม.รทก. เท่านั้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการในคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จำเป็นต้องตรวจสอบรายงานการศึกษาเขื่อนปากแบงของบริษัทต้าถังทั้งหมด ถึงแม้จะผ่านกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบข้ามพรมแดน โดยต้องใช้ข้อมูลสถานการณ์จริงในเดือนสิงหาคมนี้ สร้างแบบจำลองเพื่อประเมินระดับน้ำเท้อทั้งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและคนละช่วงเวลา ได้แก่ การระบายน้ำจากเขื่อนจินหงสูงสุด, ปริมาณฝน และปริมาณน้ำหลากในลุ่มน้ำกก, ลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำงาว และลุ่มน้ำอื่น ๆ เหนือเขื่อนปากแบ่ง เพื่อจะได้เห็นถึงผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทยได้ชัดเจน

“รัฐบาลจำเป็นต้องชะลอการเริ่มก่อสร้างเขื่อนปากแบ่ง เพราะความบกพร่องที่ร้ายแรงของรายงานการศึกษาน้ำเท้อและผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากแบ่งไม่อาจยอมรับได้ และต้องตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่รับผลกระทบทั้งหมด จากแก่งผาไดถึงเชียงของ และชุมชนในลำน้ำสาขาเช่น น้ำงาว, น้ำอิง ต้องได้มีส่วนร่วมในการรับทราบ วิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบทั้งหมดนี้ร่วมกัน ในส่วนธนาคารผู้ให้เงินกู้แก่โครงการเขื่อนปากแบง จำเป็นต้องทบทวนและให้มีการศึกษาใหม่ ด้วยข้อบกพร่องที่ร้ายแรง ของรายงานการศึกษาน้ำเท้อและผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากแบง” นายมนตรี กล่าว

ขณะที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า วันนี้แม่น้ำโขงเพิ่มระดับจนล้นตลิ่ง มีน้ำระบายจากเขื่อนจีน น้ำป่า น้ำจากแม่น้ำอิง และสาขา และขณะนี้ฝนตกตลอดเวลา น้ำเอ่อท่วมพื้นที่เกษตรพื้นที่ อ.เทิง อ.ขุนตาล จนถึง อ.เชียงของ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนปีนี้แม่น้ำโขงขึ้นระดับ 9 เมตร ก่อนจะลดลงในระดับ 4-5 เมตร และไม่กี่วันที่ผ่านมาขึ้นกลับมาระดับ 10 กว่าเมตรและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเขื่อนจีนระบายน้ำเพิ่มทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ปัญหาปัจจุบันคือ แม่น้ำสาขายกระดับท่วมเต็มที่ และน้ำโขงดัน ซึ่งจะทำให้เกิด “ภาวะน้ำแช่ขัง“ เกิดผลกระทบกับเกษตรกร มองเห็นความสัมพันธ์ของแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขา เมื่อแม่น้ำโขงดันแม่น้ำอิงไหลออกไม่ได้เกิดการเอ่อท่วมเป็นเวลานาน

“เป็นปรากฎการณ์น้ำท่วมเพิ่มระดับเมื่อเขื่อนตอนบนในจีนระบายน้ำ ระดับเพิ่มสูงขึ้น ถ้าสร้างเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขงตอนล่างห่างจากชายแดนไทย 97 กม. น้ำโขงจะยกระดับเท้อกลับมาที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และอาจถึง อ.เชียงแสน หากน้ำฝน น้ำป่า น้ำสาขา และแม่น้ำโขงในสถานการณ์แบบนี้ และมีเขื่อนกั้นตอนล่าง จะเป็นอย่างไร” นายนิวัฒน์กล่าว

ครูตี๋กล่าวว่า ปรากฏการณ์เกิดขึ้นชัดเจน รัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องทำภาพแบบจำลองว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนให้ดีเพราะ เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศและภูมิภาค แต่ที่ผ่านมารัฐไม่ให้ความสำคัญถึงผลกระทบชายแดนและแม่น้ำโขงทั้งสาย ทั้งๆที่การจัดการแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อการจัดการของแม่น้ำสาขา

“รัฐควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในการจัดการน้ำข้ามพรมแดน ทำแบบ 60-70 ปีก่อนไม่ได้แล้วเพราะมีปัจจัยความเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ปัจจุบันแม่น้ำอิงมีปัจจัยทำให้วิกฤตหลายประการ ตลิ่งพังเพราะต้นไม้ถูกทำลาย การตัดถนน เส้นทางใหม่กีดขวางทางน้ำและถูกสร้างด้วยวิธีคิดเชิงวิศวกรรมเท่านั้น แต่ไม่คิดถึงการมีอยู่แบบสัมพันธ์กับธรรมชาติ มีการสร้างฝายคอนกรีตและประตูกั้นน้ำเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้น้ำไหลช้า แถมตอนนี้ยังจะมีการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงอีก สิ่งเหล่านี้รัฐต้องทบทวน”นายนิวัฒน์ กล่าว

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →