Search

หวั่นประกันสังคมเจ๊งเหตุ สปส.บริหารจัดการไม่โปร่งใส นักวิชาการเตือนทำให้ผู้ประกันตนไม่มั่นใจไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ชี้อีก 20 ปีเงินหมด รัฐต้องหาเงินจ่ายปีละ 4-5 แสนล้าน “ษัษฐรัมย์”เผยปรับลดงบบริหารฟุ้งเฟ้อลง 500 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ในสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณและการปกปิดข้อมูล ว่าเป็นสถานการณ์แบบเดิมๆที่เคยเป็นมา ซึ่งตอนแรกคิดว่าประเด็นปัญหาหลักของกองทุนประกันสังคมคือเรื่องความยั่งยืนเพราะเงินกองทุนที่สะสมจะต้องถูกใช้เพื่อบำนาญชราภาพจนหมด แต่กลายเป็นว่าประเด็นหลักเรื่องนี้จะไม่ถูกแก้ไข หากมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการใน สปส. เนื่องจากการไม่ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งๆที่โดยตัวของ สปส.เอง ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงจนทำให้กองทุนประกันสังคมมีอายุสั้น แต่ตัว สปส.เองทำให้ผู้ประกันตนและนายจ้างไม่อยากจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เพื่อไปแก้ไขปัญหาเรื่องความยั่งยืนเพราะเกิดความไม่มั่นใจ



“เรื่องการบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องที่ต้องถูกแก้เป็นอันดับแรก ผู้ประกันตนถึงจะไว้วางใจที่จะเอาเงินไปลงสมทบเพิ่ม กรณีจ่ายบำนาญชราภาพ หากเราไม่ทำอะไรเลย กองทุนฯจะอายุสั้นถึงปี 2588  ไม่น่าจะมีเงินเหลือ และต้องหาเงินมาจ่ายปีละ 4-5 แสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท เมื่อรู้ว่าจะเจ๊งแล้วเราปรับขึ้นอัตราเงินสมทบจะช่วยให้ไม่เจ๊งได้ แต่ผู้ประกันตนไม่มีความมั่นใจในระบบ เมื่อจ่ายเงินลงไปแล้วถูกเอาไปใช้แบบไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะถูกระเบียบข้าราชการ สามารถประหยัดได้ปีละเป็นหลักพันล้าน ผู้ประกันตนก็ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เหมือนกับที่มีคนบอกว่าธนาคารนั้นกำลังจะล้ม แต่มีคนมาบอกว่าช่วยไปฝากเงินที่ธนาคารนั้นหน่อย มันจะได้ไม่ล้ม คุณจะมั่นใจที่นำเงินไปฝากเพิ่มหรือไม่ เรื่องเงินและการออมนั้น ความไว้วางใจกับระบบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”ศ.ดร.วรวรรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทางออกในการแก้ปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ควรเป็นอย่างไร ศ.ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ตอนนี้เห็นชัดเจนว่า สปส.อยู่ในระบบราชการแล้วไม่ได้สร้างความมั่นใจใดๆเลย ดังนั้นต้องออกจากการกำกับดูแลของรัฐเช่นเดีนวกับ กบข.(กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่มีรัฐคอยกำกับอยู่และมีคณะกรรมการที่มีความสามารถในการสร้างองค์กรโปร่งใสและเชื่อถือได้ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ออมเพราะทุกคนต่างต้องการบำนาญ หากใส่เงินไปแล้วไม่ได้คืน ก็ไม่มีใครอยากออม

“วันนี้มาถึงจุดที่ชัดเจนแล้วว่ากองทุนประกันสังคมต้องออกจากการอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานและภายใต้ สปส.ที่เป็นระบบราชการ ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหา สปส.ใช้วิธีโลโปรไฟล์มาตลอด ไม่ตอบคำถามใดๆ ไม่ให้ข้อมูลใดๆ เขารู้ว่าวันหนึ่งข่าวคอรัปชั่นเรื่องอื่นจะมาแซงหน้า แล้วเรื่องของเขาก็จะเงียบลง เขาใช้วิธีการนี้ตลอด”นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรกรณีการปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพซึ่งผู้ประกันตนที่เปลี่ยนจากมาตรา 33 มาเป็นมาตรา 39 ได้รับเงินบำนาญลดลงอย่างมาก ศ.ดร.วรวรรณกล่าว “เป็นความผิดของ สปส.ที่ไม่ให้ข้อมูลกับผู้ประกันตนอย่างครบถ้วน คล้ายเป็นการหลอกลวง เพราะทำให้ฐานในการคำนวณต่ำลงและทำให้เบี้ยบำนาญต่ำลงซึ่งเรื่องนี้ตนเคยเขียนเตือนผู้ที่กำลังเกษียณว่าอย่าเข้ามาตรา 39 การไม่ให้ข้อมูลครบถ้วนเป็นผลให้ผู้ประกันตนตัดสินใจผิด ดังนั้นควรมีการยกเว้นกรณีที่เราจ่าย 5 ปีที่ใช้คำนวณ

“เรื่องนี้ผู้ประกันตนสามารถฟ้องศาลปกครองได้ เพื่อไม่ให้ สปส.นับ 5 ปีที่เราไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน การที่เขาไม่ได้เข้าข้างผู้ประกันตนทั้งๆที่รับเงินเดือนจากประชาชน เขาต้องรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน ไม่ใช่แค่รับผิดชอบแค่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เขานั่งทับเงินอยู่ แต่ไม่ยอมแก้ให้สิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน คนที่นั่งทับเงินและใช้เงินเขาไม่เคยคิดว่า กว่าที่ผู้ประกันตนจะหารายได้มาจ่ายเงินสมทบต้องลำบากขนาดไหน”ศ.ดร.วรวรรณ กล่าว

นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ทีมประกันสังคมก้าวหน้า หนึ่งในกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกหนังสือเวียนห้ามเปิดเผยข้อมูลกับบุคคลภายนอกภายหลังที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณตั้งแต่กรณีงบประมาณในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จนกระทั่งล่าสุดมีข้อสงสัยในโครงการ Web Application มูลค่า 848 ล้านบาทว่า ทิศทางการรับมือของสปส. ถือว่าเป็นวิกฤตที่ค่อนข้างแย่มากเพราะสาธารณะเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูล แทนที่ สปส.จะปรับตัวด้วยการเปิดเผยข้อมูล แต่กลับไปสืบว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลซึ่งสวนทางกับการจัดการที่ดี และน่าจะเป็นปัญหาระยะยาว ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการคิด

นายษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าพยายามกดดันให้มีการถ่ายทอดสด หรือเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ในการประชุมบอร์ดและอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมถึงบันทึกการประชุมภายใต้เงื่อนไขต่างๆ  

“แต่มันมีโมเมนตัมที่แทงมาจาก สปส.และบอร์ดนายจ้าง เขาไม่ต้องการให้เราทำแบบนั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะลำพังอำนาจบอร์ดของเรา 6 จากจำนวนบอร์ดทั้งหมด 21 เสียง เราสามารถคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้แต่จะผลักดันในสิ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าลำบาก เพราะเราไม่ได้มีเสียงส่วนใหญ่ที่อยู่ในบอร์ด แถมประธานบอร์ดก็ยังเป็นตัวแทนของข้าราชการ แต่ถ้ากระแสสังคมมาแรงแบบนี้ ผมคิดว่าก็สามารถผลักดันให้สาธารณะส่องไฟเข้าไปถึง” ผู้แทนทีมประกันสังคมก้างหน้า กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตการจัดซื้อจัดจ้างทำแอปซึ่งใช้งบประมาณ 848 ล้านบาท นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า พอเราตรวจสอบมากขึ้น ก็มักถูกขัดขวางเรื่องการพัฒนาสิทธิประโยชน์

เมื่อถามถึงผลักดันเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณบำนาญชราภาพข้อติดขัดของกลุ่มคัดค้านให้เหตุผลอย่างไร หนึ่งในบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า “เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจ ให้อธิบายทำความเข้าใจแล้วค่อยว่ากัน นี่คือเหตุผลเพียงเท่านี้ แต่เหตุผลที่ไม่เป็นทางการก็พอจะเดาได้ว่าเรื่องนี้มันผ่านอนุกรรมการมานานกว่า 100 วันแล้ว เป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอมายาวนานต่อเนื่อง และเสนอโดย สปส.เอง” นายษัษฐรัมย์ กล่าว
 
เมื่อถามว่าผู้ประกันตนกว่า 3 แสนคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคำนวณสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ จะเข้าไปมีส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันได้อย่างไร บอร์ดประกันสังคมผู้นี้กล่าวว่า ว่าการสนับสนุนทีมสังคมก้าวหน้าทางออนไลน์หรือในเพจของ สปส.ช่วยเข้าไปแสดงความคิดเห็น นี่คือสิ่งที่ใครๆก็ทำได้

“ตอนนี้ สปส.พยายามที่จะฟอกขาวว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาดีที่สุด ดีตลอด แต่ว่าสวนทางกับสิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณะที่ไม่เปิดเผยข้อมูล มีแต่ลับสุดยอดกับลับสุดยอด ผมอยากให้ผู้ประกันตนที่ติดตามข่าวไปร้องทุกข์ที่สำนักงานจังหวัดต่างๆด้วยตัวเองเลย อีกโครงการหนึ่งใน change.org ตรงนี้สามารถลงชื่อได้ ดูในเพจประกันสังคมก้าวหน้าได้ ถ้าแอคทีฟมากพอที่ก็จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้” นายษัษฐรัมย์ กล่าว

หัวหน้าทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวว่า พวกตนเข้ามากลางปี 2567 ซึ่งงบประมาณ 2568 ได้มีการทำไปแล้ว ทำให้อยู่ในช่วงกลางน้ำที่ไม่สามารถแก้ไขปรับลดได้ ทำได้เพียงตั้งข้อสังเกตหรือทำกติกาอะไรให้รัดกุมมากขึ้น 

“แต่งบประมาณปี 2569 เราได้ร่วมดูการจัดตั้งแต่ต้นน้ำ เรามีความประสงค์ที่จะตัดงบบริหารสำนักงานหรืองบ 10% ให้ได้อย่างน้อย 500 ล้านบาท ให้ได้ใช้ในสิ่งที่ถูกต้อง งบที่ฟุ้งเฟ้อไม่โปร่งใสอยู่ในนี้เป็นหลัก โดยครึ่งหนึ่งเป็นงบไอที ปัจจุบันเราใช้งบไอทีประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่มันมีงบ maintain ที่เป็นงบผูกพันระยะยาว ผมคิดว่าก็น่าจะปรับปรุงได้อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าจะเกิดการป้องปรามก็ต้องเกิดขึ้นสมัยนี้” บอร์ดประกันสังคม กล่าว
———–

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →