Search

ประเพณีลอยเรือ ‘ปาจั๊ก’ วันพบปะเครือญาติชาวเล

10277896_510156192447270_4514101463319740842_n

“อย่างเดียวที่คนแก่อูรักลาโว้ยทิ้งไว้ฟรี และไม่ต้องเดินทางไปดูไกลๆ คือ ประเพณีเรานี่แหละ” สำเนียงทองแดงของอูรักลาโว้ยหญิงวัยชรารายหนึ่งกล่าวขณะเดินขบวนแห่ในประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย ณ ชุมชนโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งกำหนดจัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี เดือน 6 และเดือน 11 (พฤษภาคม และตุลาคม) ตามชุมชนที่ชาวเลอาศัยอยู่ เช่น  สังกาอู้ เกาะพีพี หาดราไวย์ ฯลฯ

 

ปีนี้คณะสื่อมวลชนไทยได้ร่วมขบวนแห่ “เรือปาจั๊ก” เป็นเรือจำลองสร้างจากไม้ระกำพร้อมการประดับด้วยดอกไม้และวัสดุหลากสีกับอูรักลาโว้ยหลายร้อยคน ส่วนมากอายุข้ามหลักสี่กันหมดแล้วทั้งหญิง-ชายต่างร้อง เล่น เต้นรำกันริมถนนอวดประเพณีความเชื่อสู่สายตาผู้มาเยือนอย่างงดงาม

 

“เด็กๆ ที่นี่ไม่มีใครเอาแล้ว ลอยเรือโบราณ มันไม่ทันสมัยละมั้ง บางปีเราต้องเรียกญาติๆ จากเกาะพีพี พังงา เรียกลูกหลานจากภูเก็ตมาร่วมด้วย ถ้าชุมชนไหนคนน้อยมาก เราในโต๊ะบาหลิวก็ไปเยี่ยมพวกเขา ไปร่วมลอยเรือกับเขา ช่วยๆ กันไป” ป้าเด็น พลขับซาเล้งร่างอวบกล่าวสั้นๆ

 

เสียงสะท้อนจากลุง-ป้าอูรักลาโว้ยเกี่ยวกับประเพณีลอยเรือบอกชัดเจนว่า กำลังเข้าใกล้เส้นทางที่ถูกลืมทุกระยะ แต่สำหรับ โต๊ะหมอ “อังมะดีเอ็น” หรือ ครูพิธีกรรมประจำชุมชนโต๊ะบาหลิว วัย 70 ปี ระบุว่า ประเพณีลอยเรือชาวเลฯ ยังคงศักดิ์สิทธิ์เสมอไม่ว่าจะสมัยจะเปลี่ยนไปทางใด และยังเชื่อว่าบรรพบุรุษยังคงแผ่ความคุ้มครองไปยังลูกหลานเสมอ ไม่ว่าจะยุคสมัยใด

10374939_510156159113940_3800107770612903590_n

“การลอยเรือเป็นความเชื่อโบราณ ถึงปัจจุบันเราทำเพื่อสะเดาะเคราะห์แก่คนในชุมชน และทำนายสถานการณ์ดิน ฟ้า อากาศ ตลอดจนขอวิญญาณบรรพบุรุษให้ช่วยคุ้มครองทุกคน ซึ่งลูกหลานต้องมีการกินเลี้ยงผีผู้เฒ่า ประมาณ 2 วัน เป็นการตอบแทนก่อนการลอยเรือจำลองออกไป โดยเชื่อว่าเรือจะบรรทุกความชั่วร้ายไปทิ้งในทะเล” โต๊ะหมอเล่า

 

จากการสอบถามผู้รู้ในชุมชนโต๊ะบาหลิวหลายราย ย้อนเรื่องราวว่า การลอยเรือปัจจุบันนั้น หลายพื้นที่เน้นการจัดงานรื่นเริง เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงความมีเสน่ห์แก่ก่อนการแห่ขบวนเรือและลอยเรือ คือ การพิธีขอดาโต๊ะ เป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษว่าจะมีการจัดงานลอยเรือ ต้องใช้อาหารประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ไก่ เทียนขี้ผึ้ง ข้าวตอก เหล้าขาว หมาก พลู ขนมเจ็ดสี

 

จากนั้น โต๊ะหมอ ซึ่งเป็นหัวหน้าพิธีกรรมจะทำพิธีเทียน ศึกษาสถานการณ์สัตว์ทะเล ซึ่งผลทำนายปีนี้ระบุว่ายังพอมีอยู่บ้างแต่จำนวนไม่มาก ซึ่งชาวบ้านก็น้อมรับคำทำนายและยังคงศรัทธาต่อพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดิม และพร้อมจะดำรงชีวิตด้วยความนอบน้อมต่อบรรพบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าคำทำนายจะออกมาอย่างไรก็ตาม

 

สิ้นการสนทนากับชาวบ้านช่วงเย็นย่ำของวัน ขบวนแห่เรือเดินทางมาถึงศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว พร้อมแห่ขบวนวน 3 รอบ ก่อนจะนำเรือปาจั๊กมาตั้งไว้ที่ริมทะเลพร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมสะเดาะเคราะห์ โดยการตัดเล็บ ตัดผม นำอาหารและปัจจัยอื่นๆ มาลงไว้ในเรือ ผ่านการทำพิธีของโต๊ะหมอวัยชราคนเดิม ทำพิธีกรรมด้วยความสงบ และศรัทธา ก่อนจะหันไปตั้งพิธีกรรมเปิดวงรำมะนาเพื่อเตรียมความบันเทิงตอดทั้งคืน

1506522_510156172447272_1877172603134132417_n

“ป้ามิดะ” เป็น 1 ใน 7 คนที่นับว่ามีฝีมือการตีรำมะนาได้อย่างเชี่ยวชาญ ป้ามิดะบอกว่า การแสดงในค่ำคืนหลังขบวนแห่เรือมาถึงชุมชน คือ การแสดงส่งท้ายให้บรรพบุรุษได้ร่วมรับความบันเทิงเต็มที่ ดังนั้น รำมะนาจะบรรเลงตลอดคืน ซึ่งบางชุมชนมีมือตีรำมะนามาสลับกันเล่น สลับกันร้องรำ แต่ปีนี้คนน้อยก็ต้องเล่นตลอดทั้งคืน

 

ว่าด้วยเรื่องยุคสมัยของสังคมนั้น วัฒนธรรมบางอย่างเป็นตัวเชื่อมจากรุ่นสู่รุ่น แต่สำหรับประเพณีลอยเรือของชุมชนโต๊ะบาหลิว ดูเหมือนวัยหนุ่มสาวเข้าร่วมพิธีกรรมน้อยมาก ทำให้คนรุ่นเก่ากังวลว่าวัฒนธรรมอาจสูญหายไป กระนั้นคนเฒ่าคนแก่ก็ยังไม่มีใครยอมลดละความพยายาม สังเกตจากสมาชิกวงรำมะนาที่ล้วนเป็นผู้สูงวัยแล้ว ยังดูมีความกระปรี้กระเปร่าไม่น้อย

 

หลังจากความบันเทิงแบบรำวงและการแสดงรำมะนาดำเนินไปตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น.ช่วงพิธีกรรมสุดท้ายของการลอย “เรือปาจั๊ก” ก็มาถึง เสียงเพลงและความรื่นเริงยุติลง โต๊ะหมอโบกมือเรียกสมาชิกชุมชน และแขกในงานเข้ามายังเรือฯ ที่ถูกตั้งไว้ริมทะเล เพื่อให้สมาชิกได้นำข้าวตอกและร่วมพิธีสะเดาะห์เคราะห์ โต๊ะหมอก้มกราบลำเรือจำลอง หัวและหน้าแทบจะแนบกับทรายยามอรุณรุ่ง ชาวบ้านต่างยืนทอดสายตาตามเรือลำเล็กไปทางทะเล ที่ค่อยๆ ไกลออกไปจากชุมชนพร้อมกับแสงเทียนเริ่มหรี่ลงไปตามระยะทาง ก่อนเรือยนต์จะสตาร์ทเครื่องแล้วหายไปกับความมืด

 

“ไปแล้ว ส่งบรรพบุรุษและลอยเคราะห์กรรมไปกับทะเลแล้ว” สมาชิกรายหนึ่งในชุมชนหันมาพูดกับผู้มาเยือน ก่อนจะเชิญชวนมาทำพิธีอีกครั้งในเดือน 11 ซึ่งนับว่าเป็นพิธีกรรมที่ชาวเลอูรักลาโว้ยรอคอย เพื่ออย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาการรอคอยการพบปะของเครือญาติที่จากกันไกลแล้วกลับมาพบกันอีกครั้งในงานลอยเรือฯ.

 

ไทยโพสต์ 18 พ.ค.57

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →