Search

เสียงที่ไม่ได้ยิน เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงกับกระบวนการ “ปรึกษาหารือล่วงหน้า”

bkkpost

เกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมเห็นแม่น้ำโขงอ่อนแรงลงมาก ลูกๆ ที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติสองฝั่งน้ำแทบไม่เคยรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำสายสำคัญของอุษาคเนย์สายนี้ แผนพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุน เราเห็นรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยมิหวาดหวั่นที่จะคบรัฐบาลระบอบสังคมนิยมเมื่อผลประโยชน์ลงตัว ส่วนประชาชนนั้นคงจะถูกทิ้งไว้ด้านนอก

มานวาน เขื่อนแห่งแรกที่สร้างปิดกั้นแม่น้ำโขงอย่างเงียบๆ ในมณฑลยูนนาน เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๙ ชาวบ้านริมฝั่งโขงที่เชียงรายต่างรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจากสายน้ำที่ขึ้น-ลงอย่างผิดปกติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ความผันผวนที่เกิดขึ้นหลังมีเขื่อนกั้นแม่น้ำส่งผลให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำโขงภาคเหนือของไทย หลายปีผ่านไปเรื่องที่ได้ยินจากริมโขงต่างเป็นเสียงเดียวกันว่าปริมาณปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขงลดลง พร้อมกับการลดจำนวนลงของชาวประมง

เขื่อนต้าเฉาชาน เสี่ยววาน ฯลฯ ทยอยสร้างตามเป้าหมายตามแผนการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด ๘ โครงการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนา เมื่อจีน พม่า ลาว ไทย มีความเห็นว่าแม่น้ำโขงมีศักยภาพเป็นเส้นทางน้ำสู่จีน หากจะเพิ่มขนาดของเรือให้ระวางบรรทุกได้ถึง 500 ตัน ตามเส้นทางจากท่าเรือซือเหมา เชียงรุ้ง มาถึงสามเหลี่ยมทองคำ ถึงหลวงพระบาง โดยต้องระเบิดแก่ง ขุดลอกสันดอนกว่าร้อยแห่ง เพราะเห็นเป็นอุปสรรคของการเดินเรือพาณิชย์

ในห้วงเวลาไม่ถึงสิบปี ภาพความงดงาม ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยบนสายน้ำโขงเริ่มหายไป สาหร่ายในแม่น้ำโขงไม่สามารถเจริญเติบได้เพราะน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ดินชายฝั่งโขงพังทลายพื้นที่เพราะปลูกน้อยลง พื้นที่ที่หลงเหลืออยู่ถ้าจะปลูกก็ต้องเสี่ยงกับการขึ้นลงของน้ำที่ถูกควบคุมจากเขื่อน ไม่มีอีกแล้วเรือหาปลาพลุกพล่านกลางสายน้ำ

ปลายปี2543 ชาวบ้านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมตัวกันทักท้วงถึงการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา และเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือขนาดใหญ่โดยให้เหตุผลว่า เกาะแก่ง เกาะแก่งคืองานปฎิมากรรมธรรมชาติ คือระบบนิเวศที่สำคัญต่อพรรณพืชพันธุ์สัตว์ และสร้างสมดุลแก่แม่น้ำโขงทั้งในช่วงน้ำแล้งและน้ำหลาก

ถือเป็นข้อเรียกร้องสำคัญครั้งของชาวบ้านต่อรัฐบาลไทยและจีน ให้ทบทวนแผนพัฒนาแม่น้ำโขงให้เห็นความสำคัญของนิเวศวัฒนธรรม และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กว่าสามปีกับความเคลื่อนไหวในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลไทยบทวนนโยบาย จนนำไปสู่การการยุติฃแผนการระเบิดเแก่งคอนผีหลง ชายแดนไทยลาว แต่นั่นก็เกิดหลังมีการระเบิกแก่งไปแล้ว 19 แห่ง ระหว่างชายแดน จีน-พม่า-ลาว เหนือสามเหลี่ยมทองคำ

เกือบ 2 ทศวรรษจนปัจจุบัน เขื่อนกั้นแม่น้ำตอนบนพื้นที่ประเทศจีนเสร็จสิ้นไปแล้ว 6 แห่ง ส่วนทางลุ่มน้ำตอนล่างแผนสร้างเขื่อนอีก 11 แห่ง กับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 1 แห่ง เขื่อนไซยะบุรีกำลังก่อสร้างแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านและข้อกังวลต้อผลกระทบข้ามพรมแดน และสัญญารับซื้อไฟฟ้าก็ยังยังเป็นคดีระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดของไทย และมีข้อมูลระบุว่าการก่อสร้างจะปิดแม่น้ำโขงได้ภายในปีหน้า

สิ่งที่ลูกน้ำโขงกังวลมาตลอด คือการตัดสินใจสร้างเขื่อนกั้น “แม่” ของพวกเราหลายสิบล้านคน มีเพียงข้ออ้างคำว่าพัฒนา สนับสนุนการลงทุนใหญ่ๆ ระดับแสนล้านของบริษัทยักษ์ใหญ่ มีการสนับสนุนจากธนาคารใหญ่ๆ แต่เสียงของชุมชนที่พึ่งพาสายน้ำกลับไม่เคยได้รับฟัง

เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนที่ 2 ที่จะสร้างในพื้นที่ลาวใต้ ซึ่งกำลังเข้ากระบวนการ “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.3538 ก็ดูเหมือนจะเดินตามรอยเดิม นั่นคือ “ตัดสินใจแล้ว ค่อยมารับฟัง”

มันก็เป็นแค่พิธีกรรม เป็นแค่ตรายางประทับอนุมัติโครงการ เท่านั้นเอง

สิ่งที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงเรียกร้องมาตลอด คือการรับฟังอย่างโปร่งใส มีการแปลข้อมูลโครงการเพื่อให้ชาวบ้านอ่านล่วงหน้า ประกาศการจัดเวทีอย่างกว้างขวางเพื่อให้สาธารณะรับรู้ และที่สำคัญ การปรึกษาหาหรือนี้ ต้องเป็นฐานในการตัดสินใจ ประกอบกับข้อมูลที่สมบูรณ์ เพื่อเลือกว่าจะสร้างเขื่อนหรือหาทางเลือกอื่น

แต่น่าสนใจ เวทีในประเทศไทยที่เริ่มจัดในจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม และจะจัดต่อไปที่เชียงราย หนองคาย และเลย กลับถูกเรียกว่า การให้ข้อมูลโครงการ ไม่ใช่การปรึกษาหารือแต่อย่างใด

หรือประชาชนไม่ต้องได้รับการ “ปรึกษาหารือ” ?

โดยสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
(ตีพิมพ์ฉบับภาษอังกฤษ ในบางกอกโพสต์ 11 ธันวาคม 2557)

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →