สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

บันทึกการปฏิวัติกะเหรี่ยง ค.ศ.1947-2008 ตอนที่ (2) การร้องขอเขตปกครองรัฐกะเหรี่ยง

note2

กองทัพอังกฤษสามารถยึดภาคพะโค ตอนกลางของพม่าได้จากการโจมตีครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งภาคกลางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี ลงไปถึงภาคตะนาวศรีนั้นมีประชาชนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งของกะเหรี่ยงได้ก่อตั้งสมาคมกะเหรี่ยง หรือ Karen National Association (KNA) ขึ้นในปี ค.ศ. 1881 เพื่อโอกาสทางการเมืองและเป็นตัวแทนประชาชนกะเหรี่ยงเข้าไปนั่งในรัฐสภากลาง

หลังจากที่กองทัพอังกฤษโจมตีประเทศพม่าครั้งที่ 3 ยึดเมืองทางเหนือได้ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 1885 และประกาศให้ประเทศพม่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปีถัดมา ซึ่งขณะนั้นคนกะเหรี่ยงจำนวนมากเริ่มเข้ารับราชการภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เซอร์ ซานซีโพ (ที่มาภาพ http://gutenberg.net.au/ebooks08/0800051h.html)
เซอร์ ซานซีโพ
(ที่มาภาพ http://gutenberg.net.au/ebooks08/0800051h.html)

ช่วงปี ค.ศ. 1927 หลังจากที่ประเทศพม่าตกเป็นของอังกฤษอย่างเต็มตัว เซอร์ ซานซีโพ (Sir San C. Po) หนึ่งในคนกะเหรี่ยงทีรับราชการภายใต้การปกครองอังกฤษได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “ประเทศพม่ากับชาวกะเหรี่ยง (Burma and the Karens)” โดยหนังสือเล่มนี้มีใจความสำคัญตอนหนึ่งเหมือนเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอังกฤษว่า “ขอให้มีการประกาศรับรองภาคตะนาวศรีเป็นเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยง” ต่อมาในปี ค.ศ. 1928 เซอร์ ซานซีโพ ทำเรื่องร้องขอการประกาศเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยงอีกครั้งกับรัฐบาลอังกฤษ แต่เรื่องนี้ทางอังกฤษไม่มีการพูดคุย และการดำเนินการอะไรเลย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1937 ประเทศพม่าถูกแยกออกเป็นหนึ่งประเทศ โดยไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียอีกต่อไปแต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษ

ภายหลังการประกาศให้พม่าเป็นหนึ่งประเทศ ช่วงปี ค.ศ. 1939 เกิดประแสความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและประชาชนอังกฤษขึ้นทั่วประเทศพม่า มีการจัดประชุมใหญ่ของหลายฝ่ายเพื่อเรียงร้องให้รัฐบาลอังกฤษคืนเสรีภาพในการปกครองให้กับประเทศ กระทั่งนายกรัฐมนตรี อู ซอ เข้าพบรัฐบาลอังกฤษเพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงปี ค.ศ. 1941 และในวันที่ 8 ธันวาคนของปีนี้เอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายวงเข้าสู่ประเทศพม่า โดยทหารพม่ากลุ่ม Burmese Independence Army (BIA) เป็นกลุ่มที่นำทัพทหารญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศเพื่อให้ญี่ปุ่นช่วยรบกับกองทัพอังกฤษ

ในปี ค.ศ. 1942 ทหารพม่ากลุ่ม BIA เคลื่อนทัพเข้าสู่พื้นที่ วิกตอเรีย พอยท์ (Victoria Point) และเมืองย่างกุ้ง ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษต้องหนีขึ้นไปยังเมืองมัณฑะเลย์และหนีต่อไปยังประเทศอินเดีย การถอยทัพของอังกฤษครั้งนี้มีทหารกะเหรี่ยง สังกัดกองทัพอังกฤษ 2,000 นายติดตามเข้าไปยังประเทศอินเดียด้วย

จากเหตุการณ์ที่มีทหารกะเหรี่ยงติดตามกองทัพอังกฤษครั้งนั้นทำให้ทหารพม่ากลุ่ม BIA ประกาศว่าประชาชนกะเหรี่ยงเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอังกฤษ และจะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับกองทำอังกฤษ ทหารพม่ากลุ่ม BIA จึงบุกไปยังหมู่บ้านต่างๆ ของกะเหรี่ยงจับตัวผู้นำหลายคนสังหาร และปล้นทำลายหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ถูกโจมตีโดยทหารพม่ากลุ่ม BIA ได้แก่ หมู่บ้านแถบปากน้ำอิระวดีทั้งหมด, เมืองปะเตง, เมืองมยอ มยะ, เมืองฮอ กะติ, เมืองมอ รวมถึงชุมชนฝั่งตะวันออกด้วย ได้แก่ เมืองผาปูน, เมืองส่วยจีน, และเมืองตะโถ่ง ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทางปากน้ำอิระวดี มาน รวย ทู จ่า จัดตั้งระดมประชาชนกะเหรี่ยงรบกับทหารพม่ากลุ่ม BIA

นายพล อองซาน ครั้งเดินทางไปลงนามกับรัฐบาลอังกฤษ (ภาพโดย Getty Images ที่มาภาพ http://www.oxfordburmaalliance.org/independence--general-aung-san.html)
นายพล อองซาน ครั้งเดินทางไปลงนามกับรัฐบาลอังกฤษ (ภาพโดย Getty Images ที่มาภาพ http://www.oxfordburmaalliance.org/independence–general-aung-san.html)

ต่อมาในปี ค.ศ. 1943 คนกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้่ง Central United Karen Association เพื่อประสานความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น ปกป้องสิทธิต่างๆ ของประชาชนกะเหรี่ยง และประสานความเข้าใจกับฝ่ายพม่า มาน โซบุ คือหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของกะเหรี่ยงที่พยายามสร้างความสามัคคีระหว่างกะเหรี่ยงกับพม่าขณะนั้น ส่วนฝ่ายทหารกะเหรี่ยง 2,000 นายที่ติดตามกองทัพอังกฤษเข้าไปในอินเดีย ปรากกฏในบันทึกข้อตกลงฉบับหนึ่งว่า พวกเขาทำหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลอังกฤษให้มีการพิจารณาจัดตั้งเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยงสำหรับประชาชนกะเหรี่ยงในประเทศพม่า

ช่วงปี ค.ศ. 1945 ประชาชนกะเหรี่ยงในประเทศพม่ามีความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิตนเองหลายอย่างโดยมีเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การจัดประชุมใหญ่ และหารือกันของประชาชนกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม การประชุมครั้งนี้มีมติให้จัดตั้งกลุ่มการเมืองสำหรับประชาชนกะเหรี่ยงภายใต้ชื่อ The Karen Central Organization (KCO) ต่อมามีการเรียกร้องต่อรัฐบาลอังกฤษอีกครั้งให้พิจารณาประกาศภาคตะนาวศรีเป็นเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยง และตัดสินใจส่งตัวแทนกะเหรี่ยงไปเจรจาที่ประเทศอังกฤษ โดยขอให้มีการกำหนดพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำซิตาง (Sittang River) ทั้งหมดเป็นรัฐกะเหรี่ยง

ในปี ค.ศ. 1946 มีการจัดประชุมสภาคองแกรสกะเหรี่ยงขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง โดยแก้ไขข้อเรียกร้องเดิมบางส่วนของประชาชนกะเหรี่ยง ซึ่งมีการร้องขอต่อผู้ว่าการภาคตะนาวศรี และผู้ว่าการภาคอิระวดี ให้กำหนดทั่งสองภาคนี้เป็นรัฐกะเหรี่ยง และในปีนั้นคณะผู้แทนกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งในนาม (Good will Mission) ได้รับการอนุญาตให้เดินทางไปปราศรัยต่อรัฐบาล และประชาชนอังกฤษ ที่ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิพลเมืองกะเหรี่ยง ซึ่งคณะดังกล่าวประกอบด้วย ซอ ซิทตะนี ลูนี, ซอ โพจี่ และซอ ส่าเด่ เดินทางไปยังอังกฤษในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 ในการเดินทางไปครั้งนั้นมี ซอ บะอูจี ติดตามไปเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือ พวกเขาได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลอังกฤษ (Her Majesty’s Government in the United Kingdom – HMG) และประชาชนชาวอังกฤษ เพื่อรับรองสถานะของรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงท่าเรือน้ำลึกหนึ่งแห่งด้วย

แต่ต่อมาในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1947 นายพล อองซาน ได้เดินทางไปลงนามหนังสือข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งข้อตกลงฉบับนั้นไม่มีการระบุเกี่ยวกับรัฐกะเหรี่ยง และสิทธิพลเมืองกะเหรี่ยงเลย ทำให้ประชาชนกะเหรี่ยงไม่ยอมรับในข้อตกลังฉบับนั้น.

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →