Search

“ชาวหนองกินเพล”จี้กรมที่ดิน เร่งเพิกถอนโฉนดฯที่ถูกโกง โดยนายทุน โอดศาลพิพากษาเสร็จกว่าครึ่งปียังไม่คืบหน้า

นางหนูเดือน แก้วบัวขาว  ที่อยู่ระหว่างอธิบายหลักเขตที่ดินในแปลงที่เกิดข้อพิพาทกับนายทุน (แฟ้มภาพ)
นางหนูเดือน แก้วบัวขาว ที่อยู่ระหว่างอธิบายหลักเขตที่ดินในแปลงที่เกิดข้อพิพาทกับนายทุน (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 นางหนูเดือน แก้วบัวขาว ชาวตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อร้องเรียนให้เร่งรัดสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ออกโดยไม่ชอบธรรมและไม่สุจริตของนายทุนอดีตนักการเมืองรายหนึ่ง หลังจากศาลปกครองได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าที่ดินของตนกว่า 22 ไร่นั้นเป็นที่ดินบรรพบุรุษของสามี คือ นายวิทยา แก้วบัวขาว ซึ่งติดคุกนานข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเองอันเนื่องจากความไม่ชอบธรรมของกฎหมายในยุคเก่า ซึ่งคำสั่งศาลมีขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2558

แปลงที่ดินของนายทุนใหญ่ ตำบลหนองกินเพล ที่เริ่มประกาศขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง
แปลงที่ดินของนายทุนใหญ่ ตำบลหนองกินเพล ที่เริ่มประกาศขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง

โดยที่ผ่านมาตนได้ติดตามร้องเรียนกับหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งยื่นเอกสารต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่เรื่องก็ยังเงียบและสำนักงานที่ดินยังได้เรียกร้องขอดูเอกสารและเรียกเพิ่มหลักฐานซ้ำๆ หลายครั้ง ทำให้การดำเนินการตามคำสั่งศาลไม่เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามคาดว่า อีก 3 เดือนถ้ายังไม่มีผลการเพิกถอนอย่างเป็นทางการ อาจเป็นไปได้ว่าตนและครอบครัวจะต้องฟ้องศาลกรณีการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของหน่วยงานราชการ

นางหนูเดือนกล่าวต่อว่า ที่ดินจำนวน 22 ไร่ของครอบครัวตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาชาวหนองกินเพลเท่านั้น ยังมีชาวบ้านถูกนายทุนรายเดียวกันฟ้องร้องข้อหาบุกรุกที่ดินตั้งแต่ปี 2540 อีกมากมายรวมกว่า 10,000 ไร่ โดยอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งชาวบ้านบางส่วนก็ชนะคดีและได้รับโฉนดที่ดินที่ถูกต้องกลับคืนมา ส่วนกรณีของตนนั้นยื่นฟ้องศาลเมื่อปี 2549 โดยยื่นฟ้องทั้งหมด 80 ไร่ มีผู้ถูกฟ้องเป็นสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมนั้น ศาลพิจารณาให้ดำเนินตามขั้นตอนออกโฉนดตามเอกสาร และหลักฐานที่ปรากฏก่อนในเนื้อที่ 22 ไร่ ส่วนที่เหลือทยอยพิสูจน์ต่อไป

อนึ่ง ที่มาของปัญหาที่ดินหนองกินเพลเนื่องจากการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชาวบ้านนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน โดยมีผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งเข้าไปหาเสียงในหมู่บ้านและบอกว่า หากได้รับเลือกตั้งจะช่วยให้ที่ดินของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นแค่ที่ดินจับจองและเสียภาษีดอกหญ้าเป็นโฉนดได้ ต่อมาเมื่อผู้สมัครส.ส.คนนั้นได้รับเลือกตั้ง ได้ให้ชาวบ้านมาร่วมลงชื่อ แต่ในเวลาต่อมากลับกลายเป็นว่า การลงชื่อดังกล่าวเป็นการขายที่ดินให้กับส.ส.คนนั้น และได้มีการออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดนับหมื่นไร่ในชื่อของส.ส.และครอบครัว ก่อนที่จะมีการนำเอกสารสิทธิ์นี้ไปฟอกผ่านสถาบันการเงิน ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าไม่เคยได้ขายที่ดินให้กับส.ส.คนดังกล่าว อย่างกรณีของนายวิทยา แก้วบัวขาว สามีของนางหนูเดือน ซึ่งได้รับที่ดินมรดกมาจากพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก แต่ต่อมาเมื่อนายวิทยาขุดบ่อและทำกินในที่ดินผืนดังกล่าว กลับถูกนายทุนแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องศาลในเวลาต่อมา จนกระทั่งนายวิทยาต้องติดคุกอยู่นานกว่า 1 ปี ขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยต่างก็แพ้คดี

ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านหนองกินเพลได้กลายเป็นกรณีศึกษา ซึ่งม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้ร่วมกันทำวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินราษฏรยากจน (อ่านรายละเอียดใน https://transbordernews.in.th/home/?p=4814)

ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า การออกโฉนดทับที่ที่คนอื่นถือครองมีเยอะมากโดยเฉพาะคนจนซึ่งมักพ่ายแพ้คดีในศาล ขณะเดียวกันเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ที่ดินไม่ได้มีการตรวจรังวัดหรือทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เมื่อออกโฉนดศาลก็มักตัดสินตามโฉนดกลายเป็นธรรมเนียมของศาลยุติธรรมไทย ดั้งนั้นจึงต้องมีศาลปกครอง เพราะทั้งสองศาลมีการพิจารณาคดีแตกต่างกัน โดยศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับโฉนดมาก และวิธีการพิจารณากันใช้ระบบกล่าวหา แต่ศาลปกครองดำเนินการหลายส่วน เช่น การไต่สวน ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีหนองกินเพลนี้จะเป็นกรณีศึกษาและเป็นตัวอย่างที่ดี
///////////////////////////////

On Key

Related Posts

จี้รัฐทำแผนรับมือน้ำท่วมเชียงรายหลังพบเหมืองทองต้นน้ำกก นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว แนะรัฐเจรจากับพม่า-กองกำลังชาติพันธุ์-เร่งตรวจสารปนเปื้อนและเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 นายสืบสกุล กิจนุกร อาจาRead More →

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →