
เสียงน้ำไหลประสานกับเสียงนกร้องในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงเกาะสะเดิ่ง กลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นเพียงส่วนหนึ่งในป่าใหญ่เนื้อที่กว่า 2 ล้าน 7 แสนไร่ แซมกับบรรยากาศผิงไฟตอนเช้าของชาวบ้าน การนอนอาบแดดของสัตว์เล็ก ใหญ่ในชุมชน เป็นเสน่ห์ในฤดูหนาวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ปรากฏขึ้นอีกครั้งในรอบ 25 ปี หลังป่าทุ่งใหญ่ฯ ได้รับการประกาศเป็นเขตมรดกทางธรรมชาติของโลก (Natural World Heritage) ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีพื้นที่ป่ารวมกันกว่า 4 ล้านไร่
ความสมบูรณ์ของป่าที่เป็นเลิศทางระบบนิเวศอันสมบูรณ์ เป็นแหล่งพันธุกรรมของสัตว์ป่าและพรรณพืชนานาชนิด ส่งเสริมให้กลายเป็นป่าที่มีการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโอ่อ่า เหมือนป่าแหล่งอื่น ที่เหนือกว่านั้น “ป่าใหญ่แห่งนี้ยังมีบ้านเล็ก” อีกมากมายที่อยู่อย่างเป็นมิตรกับมรดกของโลก ซ้ำยังเกื้อกูลกันแบบ “ป่ากับคน” อย่างลงตัว
หนึ่งในบ้านเล็กกลางป่าใหญ่ที่กล่าวถึง คือบ้านของประชากรทุกครัวเรือนในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีประชากรที่ส่วนมากเป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอกับโพล่ว) อาศัยอยู่เกือบ 4,000 คน โดยมีพื้นที่อยู่อาศัยกระจัดกระจายกันออกไปใกล้ๆ กับแหล่งต้นน้ำในเขตป่า และยังคงใช้ชีวิตตามแบบฉบับของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม เช่น การทำไร่หมุนเวียนวงรอบ 6-10 ปี ซึ่งระยะหลังการประกาศเป็นมรดกโลก ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และชาวบ้าน ดำเนินการทำข้อตกลงภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint management of Protected Areas-JoMPA ) หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ “จอมป่า” เพื่อสำรวจเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในเขตอนุรักษ์และสร้างข้อตกลงทางพื้นที่ทำกินกับพื้นที่อนุรักษ์ให้เกิดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ฝ่ายพัฒนาเอกชน และชาวบ้าน ซึ่งก่อเกิดเป็นความสำเร็จในการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า เป็นส่วนหนังของการลดความขัดแย้งทางการใช้ทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ และน้ำ
อดีตของชาวบ้านตำบลไล่โว่กับเขตป่าทุ่งใหญ่ ฯ เมื่อครั้งรัฐบาลไทยเริ่มเสนอเขตป่าให้เป็นมรดกโลกนั้น ชาวบ้านหลายคนจมอยู่กับความเจ็บปวด เพราะแรกเริ่มเดิมทีปี 2534 ปีที่ประกาศเป็นมรดกโลก เจ้าหน้าที่หลายส่วนเข้ามาเจรจากับชาวบ้านให้ย้ายออก ซึ่งเรื่องนี้ผู้เฒ่าอย่างอานนท์ เสตะพันธ์ อดีตกำนันตำบลไล่โว่อายุ 57 ปี เป็นพยานปากสำคัญยืนยันว่า รัฐหรือใครก็ไม่มีสิทธิมาไล่ชาวบ้าน
“หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเก่าอายุน่าจะ 300 กว่าปีแล้ว ลืมตามาก็เห็นลำธาร ห้วย ป่า สัตว์ป่าแล้ว มรดกโลกเป็นใคร เป็นอะไร เขาไม่เคยมาถามเราเลย ไม่มีใครมาพูดเลยว่ามันเป็นใคร ทำไมโลกจะเอาบ้านเราไปเป็นมรดก มรดกมันแปลว่าสมบัติไหม แต่ป่าทุ่งใหญ่ไม่ใช่สมบัติของเรา มันเป็นชีวิตของเรานะ เราจะฉีกร่างเรา ฉีกแม่น้ำ ฉีกป่า ฉีกไร่หมุนเวียนทิ้งทำไมกัน บ้าหรือเปล่า ถ้าย้ายเราแล้วยกห้วย ยกกระทิง ยกเสือ ยกปลา ยกต้นไม้ไปด้วยได้ เราจะไป ก็เราเป็นร่างเดียวกันเรา” ลุงอานนท์ เผยความรู้สึกขึ้นกลางเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านเจ้าหน้าที่ เขตทุ่งใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลกฯ กับเขตพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อันเป็นพื้นที่เตรียมการจะเป็นมรดกโลก หลังฝันร้ายวันนั้นได้จบลงไป
ในตำบลไล่โว่ มี 6 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านเสนพ่อง , หมู่ 2 บ้านกองม่องทะ , หมู่ 3 บ้านเกาะสะเดิ่ง , หมู่ 4 บ้านไล่โว่ , หมู่ 5 บ้านทิไล่ป้า , หมู่ 6 บ้านจะแก ซึ่งลุงอาโน เล่าเพิ่มเติมว่า เดิมทีทั้ง 6 หมู่บ้านเดินเท้าไปมาหาสู่กันตลอด และใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างเปิดเผย ต่อมาประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชาวบ้านก็เริ่มประสบปัญหากับการถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมข้อหาบุกรุกป่า ทำไร่หมุนเวียน และตัดไม้สร้างบ้าน สร้างคอกสัตว์ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระยะยาว เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจชาวบ้าน แต่เมื่อมีการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงขึ้น ประกอบกับมีโครงการจอมป่าเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาเจรจากับชาวบ้าน ซึ่งขณะนั้นคนทั้งตำบลยังถกเถียงเรื่องรอบปีของไร่หมุนเวียนอยู่ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีใครต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นทำความเข้าใจกับชาวบ้านและออกกฎสำรวจแนวป่า แนวพื้นที่ทำกิน โดยวางข้อตกลงร่วมกันกับชาวบ้าน และอนุญาตให้ชาวบ้านทั้งตำบลได้ทำไร่หมุนเวียนอย่างเป็นธรรม ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยมีรอบปี 6-10 ปี
“คนเราเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ คิดแค่ว่า จับชาวบ้านและได้ลาภ ได้ยศ ได้ถูกยกย่องเป็นวีรบุรุษของสังคมก็ทำไป ถ้าแต่ละปีคุณจะสรุปผลงานของคุณแค่จำนวนกะเหรี่ยงที่คุณจับ และจำนวนท่อนไม้ที่คุณยึด แต่สำหรับเรา คุณคืออาชญากรที่มาทำร้ายบ้านเรา บ้านซึ่งเป็นป่าที่เราใช้ แล้วเราอนุรักษ์มานานกว่าคุณ และเราเคารพป่าซึ่งเราไม่รู้ว่าเมื่อเป็นมรดกโลกแล้วจะมีคนเคารพเท่าเราไหม เราก็พิสูจน์ไม่ได้นะ แล้วจะมาย้ายเราออกทำไม แต่ตอนนี้มันดีแล้ว ฝันร้ายจบลงแล้ว ผมและชาวบ้านคนอื่นๆ อยู่ได้ ไม่ว่าป่าทุ่งใหญ่จะถูกเรียกว่าอะไร สำหรับพวกเรามันก็คือป่าต้นน้ำ ที่สำคัญและเราจะอยู่ตรงนี้อย่างมีวัฒนธรรม อย่างเคารพป่า ไม้ เขา ดิน และผมเชื่อว่าป่ารวมเข้ากับจิตวิญญาณของเรา ” ลุงอานนท์ ย้ำในความผูกพันกับป่าทุ่งใหญ่ฯ
วันนี้ป่าทุ่งใหญ่ฯ กลายเป็นต้นแบบมรดกโลก ที่กลายเป็นผืนป่าอันทรงคุณค่าและสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของไทย ซึ่งความสมบูรณ์นั้นได้สร้างความพึงพอใจให้ชาวบ้านในชุมชนกลางป่า ได้อยู่ได้ใช้อย่างพอเพียง เรื่องนี้ วีรยา โอชะกุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ (ด้านตะวันตก) ระบุว่า การประกาศเขตมรดกโลกไม่มีส่วนสำคัญใดๆ เลย เป็นเหมือนโล่รางวัลอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว การรักษาขึ้นอยู่กับความสามารถจัดการพื้นที่ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ซึ่งทุกชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ฯ มีการละเมิดกฎกันน้อยมาก 1 ปีมีราว 2 คดีเท่านั้น เป็นคดีไม่ร้ายแรง อย่างมากก็เช่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ที่ไม่ใช่ไร่หมุนเวียน โดยเงื่อนไขการรักษาป่าผืนใหญ่นี้เฉพาะแค่เขตทุ่งใหญ่ฯ ยังไม่รวมห้วยขาแข้ง เราสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านและรับฟังข้อเสนอมาโดยตลอดว่าพวกเขาต้องการพื้นที่เท่าไหร่ ข้อสรุปคือ ชาวบ้านต้องการพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรมประมาณ 2 หมื่นกว่าไร่ ไม่รวมพื้นที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่นี้ให้ปลูกพืชพรรณ อาหารได้ทุกประเภทในรูปแบบไร่หมุนเวียน วงรอบยาวสุด 10 ปี แต่พืชที่ปลูกต้องไม่ใช่ยางพารา ข้าวโพดอาหารสัตว์ ยูคาลิปตัส ฯลฯ และห้ามซื้อขายที่ดินในพื้นที่ป่า

“เราบอกพวกเขาเสมอว่า พืชเชิงเดี่ยวทำลายหน้าดิน ซึ่งกะเหรี่ยงมีความรู้เรื่องนี้ดีกว่าเรา แต่เหตุผลที่บางครอบครัวตัดสินใจทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะบางรายส่งลูกเรียนหนังสือ ต้องใช้เงินเยอะ อยากหาเงินเร็วๆ แบบนี้ก็ไม่ได้ ระยะหลังก็ประชุมกันบ่อย ชาวบ้านให้ความร่วมมือที่ดี ก็พบว่าได้ผล แล้วจากนั้นเมื่อพบใครปลูกพืชที่ทางเขตห้าม ทางผู้นำชุมชนและคนทำผิดเอง ก็ต้องลงมือรื้อถอนแปลงปลูกด้วยตนเอง นี่คือข้อตกลง เราจะไม่ถึงขั้นเจอปุ๊บ จับปั๊บ แต่เราจะอาศัยการพูดคุยกันว่าจะยอมรื้อถอนไหม ถ้าไม่ทำเจ้าหน้าที่จะทำ และถ้าทำแล้วมีปัญหา ค่อยเอากฎหมายมาวาง คนที่อาศัยในเขตทุ่งใหญ่ปลูกผลไม้ทุเรียน เงาะ ลำไย หมาก หลายอย่างนะ เขามีรายได้ตลอดทั้งปี แต่คนรุ่นใหม่เริ่มมีการศึกษาก็ออกไปทำงานมีเงินเดือน บางรายเป็นลูกจ้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของเรา เราเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ เพราะฉะนั้น มรดกโลกเป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ได้มามีอิทธิพลใดๆ เรายังใช้กฎชุมชนกันอยู่ ใช้บ่อยกว่ากฎหมายหลักของป่าไม้และอุทยานเสียอีก ซึ่งพอชาวบ้านรับได้ ทุกอย่างก็ง่ายและป่าก็ยังเป็นป่า เราเอาเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจ ดู GPSพื้นที่ก็ยังไม่พบว่าพวกเขารุกป่า” วีรยากล่าวอย่างชื่นชมชาวบ้าน
บทเรียนเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นตัวอย่างนำทางแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาให้พื้นที่กลุ่มป่า แก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวยังไม่มั่นใจกับนโยบาย หลายครั้งประชาชนในเขตอุทยานฯ จึงได้เรียกร้องต่อหลายหน่วยงานให้ยกเลิกแผนขอประกาศพื้นที่มรดกโลก
ปลุ จี้โบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อธิบายข้อกังวลว่า ที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอยู่อย่างไม่มีตัวตนในเขตอุทยานฯ และชาวบางกลอยล่าง ซึ่งถูกย้ายจากบางกลอยบนลงมา ก็ประสบความเดือดร้อนเรื่องที่ทำกินมาโดยตลอด ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่มั่นใจว่า หากเป็นมรดกโลกแล้วจะยังมีสิทธิ์ทำกินและอยู่อาศัยหรือไม่ เพราะแม้ขณะยังไม่ถูกประกาศใดๆ ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่คุกคามโดยตลอด ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ชาวบ้านที่ทำไร่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ปืนจ่อหัวแล้วเรียกตัวเข้าไปในสำนักงาน จากนั้นแจ้งข้อหาบุกรุกที่อุทยานฯ แต่ระยะหลังมีการพิสูจน์ GPS ดูในแผนที่ ปรากฏว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่แล้ว และมีการทำกินกันมานาน ซึ่งชาวบ้านต้องเข้าไปทำกินซ้ำๆ ทุกปีเพราะที่ทำกินไม่พอ
หลังจากได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านตำบลไล่โว่ ปลุระบุว่า ชาวบ้านในเขตป่าทุ่งใหญ่ฯ อยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างสันติสุขมากกว่า ขณะที่ชาวบ้านบางกลอย ยังตกลงเรื่องการจัดสรรพื้นที่ทำกินไม่ ส่วนกรณีการประกาศเขตมรดกโลกนั้น ส่วนตัวมองว่า จะประกาศหรือไม่ ปากท้องของชาวบ้านสำคัญกว่า
เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าขณะที่ทุ่งใหญ่ฯ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดการทรัพยากรป่าไม้ และบริหารที่ดิน สร้างความสมานฉันท์ระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และแม้จะถูกประกาศเป็นมรดกโลกก็ยังมีทั้งป่าที่สมบูรณ์ มีทั้งไร่หมุนเวียนที่พอยังชีพได้ สวนทางกับหลายพื้นที่รอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างมาก ตัวอย่างบ้านโป่งลึกบางกลอยเป็นดังความล้มเหลวของการบริหารจัดการอุทยานฯ ซึ่งสร้างข้อพิพาทมาแล้วหลายครั้ง ที่สะเทือนสังคมที่สุดเห็นจะเป็นกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานเผาบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบนแล้วย้ายประชากรมาอยู่บางกลอยล่างเมื่อปี 2554 ขณะที่ปัจจุบันชาวบ้านต้องอยู่อย่างอดอยาก และถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อีกฟากฝั่งชุมชนกะเหรี่ยง อาทิ อำเภอปากท่อ อำเภอบ้านคา อำเภอสวนผึ้ง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดราชบุรี ก็เช่นกัน ขณะนี้กำลังเดือดร้อนเพราะเป็นช่วงฤดูกาลเผาไร่เพื่อเตรียมปรับสภาพไร่ แต่ถูกอุทยานฯ สั่งห้าม
ราตรี บุญชูเชิด ชาวบ้านห้วยแห้ง ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง เล่าทั้งน้ำตาว่า เธอและชาวบ้านหลายพื้นที่รอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เฝ้ารอให้อุทยานฯ เร่งแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกินกว่า 2 พันไร่ โดยในส่วนของหมู่บ้านเธอนั้นมีที่ทำกินรวมกันเพียง 130 ไร่ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าไปจัดการไร่ดังกล่าวได้ เนื่องจากชาวบ้านกลัวถูกดำเนินคดี โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าหากประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว คนกะเหรี่ยงจะยังมีสิทธิ์ทำกินเหมือนป่าทุ่งใหญ่ ฯ หรือไม่
คำถามของราตรี และข้อกังวลของกระเหรี่ยงหลายชีวิตยังคงเป็นเหมือนสายลมที่ทางหน่วยงานของรัฐยังเมินเฉย แม้หลายปีที่ผ่านมามีตัวอย่างการจัดการทรัพยากรที่สมดุลหลายพื้นที่ แต่ชะตากรรมของชาวกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจานยังวนเวียนอยู่ที่เดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกะเหรี่ยงจึงได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก เรื่องประกาศไม่ยอมรับมรดกโลกแก่งกระจาน หากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายได้ ซึ่งข้อเรียกร้องถูกเขียนขึ้นในเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ ในเขตทุ่งใหญ่ฯ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื้อหาในประกาศมีรายละเอียดสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่
1. ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียนในวงรอบไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง
2. ต้องกำหนดให้พื้นที่ห้วยกระซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยไร่หมุนเวียนร่วมกัน ระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่
3. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เลือกพื้นที่อาศัยด้วยตนเอง
4. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริหารดูแลจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและไร่หมุนเวียนด้วยตนเองในรูปแบบคณะกรรมการชุมชน
5. ต้องยอมรับวิถีวัฒนธรรม สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยง
6. ในการเสนอพื้นที่กลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเพื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ต้องเป็นการเสนอร่วมกันโดยรัฐบาลไทยกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี
7. หากไม่สามารถยอมรับและดำเนินการตามข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมดได้ ชาวกะเหรี่ยงก็ไม่ยอมรับการประกาศกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของคณะกรรมการมรดกโลกและประเทศไทย
กว่า 25 ปีแล้วที่มรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ –ห้วยขาแข้ง ดำเนินไปท่ามกลางความร่วมมือของเจ้าหน้าที่เขตฯ กับชาวบ้าน และนักพัฒนาเอกชน ทว่า เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลับมีแต่ข่าวข้อกังวล เรื่องราวความขัดแย้งเกิดขึ้นต่อเนื่อง อาทิ การหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ข่าวชาวบ้านถูกดำเนินคดีข้อหาตัดไม้บ้าง บุกรุกที่บ้าง เกิดขึ้นเสมอมา โดยไม่มีท่าทีว่า ธรรมาภิบาล กฎหมาย ที่เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงใช้ตามประกาศคณะรัฐมนตรีปี 2553 เรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษกะเหรี่ยงจะถูกนำมาปรับใช้แม้แต่น้อย
————–