เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 นายบัญชา หาดทรายทอง ชาวเลหาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า วันนี้ชาวบ้านชุมชนหาดราไวย์ เริ่มมีการผลัดเวรกันเพื่อเฝ้าพื้นที่ชุมชนหาดราไวย์ หลังจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในพื้นที่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พร้อมตัวแทนตัวแทนบริษัทบารอน เวิลด์เทรด จำกัด ผู้ถือครองเอกสารสิทธิบนที่ดิน 33 ไร่เศษ เตรียมนำคนงานเข้าก่อสร้างกำแพงปิดเขตพื้นที่โฉนด และเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อชาวเลในข้อหาขัดขวางการก่อสร้าง ภายหลังชุมชนชาวเลพยายามรวมตัวกันเพื่อปกป้องชุมชน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่มาของการได้เอกสารสิทธิ์ที่ชุมชนหาดราไวย์ เพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ชาวเลกลายเป็นดั่งจำเลยในคดีที่ดินหลายแปลง รวมทั้งแปลงของที่บริษัทบารอนฯ อ้างการครอบครองด้วย ซึ่งที่ผ่านมาชาวเลได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณีการถูกรุมทำร้ายโดยชายฉกรรจ์กว่า100 คน เมื่อปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งบางคนยอมรับเมื่อสถานการณ์ไม่ดีเช่นนี้ชาวเลเริ่มหวาดระแวงมากขึ้น แต่ก็พร้อมจะสู้ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะชนะหรือไม่
นายบัญชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เครือข่ายชาวเลจะประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวันและตัดสินใจอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากคดีความที่ชาวเลหลายคนแจ้งความกรณีทำร้ายร่างกายก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก นอกจากกรณีความเคลื่อนไหวในที่ดินบารอนแล้ว ชาวเลในชุมชนหาดราไวย์อีก 4 คนที่ถูกเอกชนฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินหาดราไวย์ ซึ่งอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่กว่า 19 ไร่ ที่ทางจังหวัดภูเก็ตเสนอให้รัฐมีการซื้อที่ดินเพื่อมอบให้ชาวเลอาศัยอยู่นั้นก็เดือดร้อนมาก ชาวเลเองเริ่มมีความหวังน้อยลงต่อการได้คืนของที่ดินบรรพบุรุษ ซึ่งขณะนี้ข้อพิพาทของที่ดินบานปลายกว่าเก่าหลายเท่าเพราะความขัดแย้งกรณีที่ดินและความรุนแรงในช่วง 1-2 เดือนนี้ อย่างไรก็ตามกรณีชาวเลที่ถูกฟ้องร้องในบางแปลงของที่ดิน 19 ไร่อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อส่งมอบให้ศาลพิจารณาและเข้ารับฟังการไต่สวนของศาลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยศาลได้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 18 และ25 เมษายน 2559
ด้านพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงและที่อยู่อาศัยชองชาติพันธุ์ชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีข้อเสนอของจังหวัดที่เสนอให้มีการซื้อที่ดินเอกชนนั้น ไม่ใช่ทางออกเพราะการซื้อขายที่ดินในพื้นที่ที่ถูกตรวจสอบไม่ใช่การยอมรับความจริง แต่เป็นการตัดปัญหาระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ที่ดินบางแปลงในเนื้อที่19ไร่ ที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ว่ายังพบความผิดปกติในการออกเอกสารสิทธิ์ด้วย บางแปลงชี้ชัดว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบธรรมแล้ว แต่กระบวนการเพิกถอนยังไม่เสร็จ ดังนั้นเรื่องข้อพิพาทที่ดินควรจะดำเนินต่อไปตามกระบวนการ แต่กรณีชาวเลถูกทำร้าย ถูกคุกคามก็ควรจะเร่งหาตัวคนทำผิดและเยียวยาชาวบ้าน
————