เมื่อวันที่8 มีนาคม 2559 นางธัญนันท์ พงษา และนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ตัวแทนกลุ่มต่อต้านเหมืองทองพิจิตร พร้อมเครือข่ายประมาณ 30 คน เดินทางมายังอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กลาง กรุงเทพฯ จากนั้นเดินทางไปยื่นหนังสือและเข้าประชุมร่วมกับนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
นางธัญนันท์ กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้เป็นการแอบเดินทางมายัง กรุงเทพฯ โดยไม่ได้ประสานหน่วยงานไว้ล่วงหน้า เพราะเกรงว่าจะถูกทหารสั่งห้ามเหมือนครั้งก่อน โดยชาวบ้านยังมีความหวังว่าเรื่องราวที่ร้องเรียนนั้นจะได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ชาวบ้านรอบๆเหมืองทองซึ่งต้องการจะอพยพจากพื้นที่เพื่อให้ปลอดภัยจากสารพิษนั้น แทบไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย ครั้นพอชาวบ้านจะเดินทางมาพบรัฐบาลก็กลับส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
ด้านนางสาวสื่อกัญญา กล่าวว่า เครือข่ายใช้เวลาในการประชุมนาน โดยเจรจากับอธิบดี กพร.และปลัด รวมทั้งสำเนาหนังสือเพื่อฝากถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยว่า ชาวบ้านหลายคนเจ็บปวดและได้รับผลกระทบจากเหมืองทองมานาน ดังนั้นกรณีที่บริษัทประกอบกิจการต้องการขอต่อใบอนุญาตซึ่งจะหมดอายุวันที่ 13พฤษภาคมนี้ กพร.จึงไม่ควรอนุมัติ เพราะที่ผ่านมาข้อบังคับของกระทรวงที่เคยระบุว่าต้องช่วยเหลือชาวบ้านก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงสักครั้ง
นางสาวสื่อกัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับการพบอธิบดี กพร.ในวันนี้ ทางอธิบดีไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ ต่อกรณีการเข้าพบ แต่ระบุชัดว่าหาก กพร.เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมมีอีกฝ่ายไม่พอใจ โดยส่วนตัวจึงมองว่าการประชุมย่อมไม่เป็นผลดีต่อประชาชน ดังนั้นตนและเครือข่ายจะรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลแพ่งจังหวัดพิจิตรในวันที่ 29 มีนาคม 2559 นี้ หลังจากที่ตัวแทนภาคประชาชนได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งเมื่อครั้งที่นายสุรพงษ์ เชียงทอง เป็นอธิบดี และหวังว่าศาลจะตัดสินคดีอย่างเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่ง กพร.ควรรับผิดชอบชีวิตชาวบ้าน โดยเมื่อปี2558 ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องอดีตอธิบดีในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่
อนึ่ง เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนมีใจความระบุว่า 1. ขอคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม 2. ขอให้ตรวจสอบการขยายโรงประกอบโลหะกรรมก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตและความเห็นชอบรายงาน EHIA ว่า เป็นการกระทำโดยมิชอบและละเมิดกฎหมาย ซึ่งการประกอบโลหะกรรมที่ผ่านมาสร้างผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหลายประการแล้ว บางพื้นที่ประชาชนมีสารพิษสะสมจนป่วยขั้นรุนแรง และมีโลหะหนักเกินมาตรฐาน จนแสดงอาการของโรคออกมา ด้วยเหตุผลข้างต้นบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงไม่ควรได้รับใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป
————