เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 นายสนิท แซ่ซั่ว ชาวเลชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ชาวเลในชุมชนหาดราไวย์ถูกชายฉกรรจ์นับร้อยคนรุมทำร้ายร่างกาย เนื่องจากกรณีพิพาทที่ดินหาดราไวย์นั้น ขณะนี้ชาวบ้านยังไม่ทราบความคืบหน้าคดีความเลย ไม่รับรู้ว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนอยู่ในขั้นตอนใด แต่ล่าสุดนายทุนได้ยอมเคลื่อนย้ายหินขนาดใหญ่ที่เอามาปิดทางสาธารณะขยับออกไปห่างทางเดินราว 2 เมตร แต่ไม่ได้รื้อถอนหินออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ทางจังหวัดยังจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำรังวัดอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านหาดราไวย์ยังคงผลัดกันนอนเฝ้าพื้นที่ทางสาธารณะอยู่ทุกคืน เพราะยังหวังว่าจะสามารถปกป้องชุมชนราไวย์ได้
“ผมเห็นเรื่องมันเงียบหายไปนานมาก ผมเองไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร แต่เราไม่อยากอยู่อย่างระแวง เราควรได้รับความเป็นธรรมบ้าง ตอนนี้ปัญหาน้ำไฟ ในชุมชนก็แย่ มาเจอวิกฤติปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมอีก เราก็ไปต่อยากนะ เพราะเรื่องที่เราร้องเรียนไปแล้วรัฐบาล แต่ยังนิ่งเฉยอยู่” นายสนิท กล่าว
นายสนิท กล่าวต่อว่า ถ้าในเร็วๆ นี้ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาล ทั้งในเรื่องข้อพิพาทที่ดินและเรื่องที่ชาวเลถูกทำร้าย ชาวเลจากราไวย์อาจจะเคลื่อนขบวนอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องรัฐบาลตามข้อเรียกร้องเดิม คือ 1.ขอให้รองนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยการยกระดับคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล และให้มีอำนาจดำเนินการแก้ไขปัญหา ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี 2 .เร่งสั่งการให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบภายใน 1 เดือน ตามที่คณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรวบรวมหลักฐานและส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ซึ่งออกมาทับชุมชนชาวเลบ้านราไวย์จำนวน 19 ไร่ 3.มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ ในพื้นที่พิพาทกับบริษัท บารอน เวอร์เทรด จำกัด จำนวน 33 ไร่ ที่ออกทับทางเดินสาธารณะ บาไลยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ของชาวเลพื้นที่ชายหาด บ่อน้ำโบราณของชาวเล และคลองหลาโอน
นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า กรณีหาดราไวย์ขณะนี้ทางคณะกรรมการแก้ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชน อยู่ระหว่างสรุปรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องศาลยุติธรรมให้คุ้มครองพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีนายทุนปิดทางเข้าออกอยู่ แต่กรณีการแก้ปัญหาที่ดินระยะยาวนั้น ในเมื่อหน่วยงานทางจังหวัดมีข้อเสนอให้รัฐจัดซื้อที่ดินเพื่อให้ชาวเลได้อยู่อาศัย คิดว่าหากทำได้จริงต้องทำสัญญากับเอกชนให้ดีว่า เมื่อมีการซื้อที่ดินกันมาแล้วต้องประกาศที่ดินในชุมชนราไวย์เป็นทรัพย์สินส่วนรวมของชาวเล โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากจะซื้อต้องซื้อทั้งส่วนของบริษัท บารอน ฯ และส่วนเอกชนอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ชาวเลมีความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณ
นางปรีดา กล่าวต่อว่า ควรมีการจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ ไม่ให้เบียดเบียนชุมชนเก่าแก่ เหนืออื่นใดต้องมีการเปิดโอกาสให้ชาวเลได้มีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยวในทุกด้าน เพราะชาวเลอยู่มาก่อน ซึ่งหากทำได้นโยบายเรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเล ก็มีโอกาสเป็นจริงขึ้นมา ทั้งที่ในอดีตนั้นการประกาศดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีใช้ไม่ได้จริง
“ไม่รู้ว่าความคิดนี้จะไปได้ดีไหม ถ้าตั้งชุมชนราไวย์เป็นต้นแบบการพัฒนาท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยวสมัยใหม่กับชุมชน เพื่อให้ชาวเลได้มีที่ยืนในสังคมบ้าง อย่างน้อยก็ไม่ถูกเอาเปรียบจากชนชั้นอื่น ๆ ถ้าจัดการลงตัวเช่นนี้ก็จะมีความมั่นคงทั้งชุมชน ชาวเลก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” นางปรีดา กล่าว
———