เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2559 นางสุวัน แววพลอยงาม ประธานชุมชนวัดแคนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เปิดเผยว่า ชุมชนป้อมมหากาฬใกล้กับชุมชนนางเลิ้งกำลังเดือดร้อนหนักเนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะสร้างสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว สร้างทัศนียภาพกลางเมืองหลวง โดยไม่มีการประชุมรับฟังความเห็นใดๆ จากชุมชน และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะใช้อำนาจพิเศษเพื่อให้ชาวบ้านชุมชนป้องมหากาฬ ได้ย้ายออกภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากสำนักงานกองจัดการสิทธิ สำนักงานโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร เคยส่งหนังสือถึงชุมชนป้อมมหากาฬให้รื้อถอนและย้ายสิ่งปลูกสร้างมาแล้วตั้งแต่ปี 2556 แต่แล้วเรื่องก็เงียบไป กระทั่งล่าสุดชาวบ้านได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการใช้กฎหมายเข้ารื้อชุมชนอีกครั้ง โดยจะเริ่มปฏิบัติการในเดือนเมษายนี้
นางสุวัน กล่าวต่อว่า ข่าวการไล่รื้อดังกล่าวทำให้ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬเกิดความกังวลและตั้งเครือข่ายร่วมกับชุมชนนางเลิ้งเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ในการต่อต้านการพัฒนาผังเมืองของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนเก่าแก่ มีรากเหง้าวัฒนธรรมที่ยาวนานและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรม เช่น รำละครชาตรีโบราณคล้ายกับชุมชนนางเลิ้ง และชาวบ้านมีวัดเก่าแก่มากมายที่เติบโตมาจากการรวมตัวของคนกรุงเทพดั้งเดิม ชาวบ้านจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ซึ่งทางชุมชนนางเลิ้งเองพร้อมจะร่วมเคลื่อนไหว และประชุมรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนป้อมมหากาฬภายใน 1-2 วันนี้เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยอาจจะร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอความช่วยเหลือเบื้องต้น
“คืออะไรที่เป็นสลัม รัฐบาลจะมองว่ามันรกตาหรือเปล่า อันนี้เราก็ไม่เข้าใจ แต่ส่วนตัวชาวบ้านเขาไม่ได้ลำบาก ชีวิตยากจนข้นแค้นขนาดนั้น เว้นแต่คนมีปัญหาเรื่องบัตรประชาชน ขาดสิทธิเข้าถึง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหานโยบายของการดูแลประชาชน ไม่ใช่ปัญหาเกิดเพราะสลัม สลัมบางแห่งมีความเอื้อเฟื้อและมีวัฒนธรรมที่ยาวนานกว่าแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งด้วยซ้ำ สลัมมีเสน่ห์เหลือเยอะกว่าที่คิด ทำไมรัฐจะไล่ที่อย่างเดียวแล้วเอาเงินค่าเวนคืนที่ดินมาให้ โดยไม่ฟังชาวบ้าน เรื่องนี้คนป้อมมหากาฬเคยต่อต้านและออกแถลงการณ์มาแล้ว รวมทั้งเคยเสนอให้พัฒนาผังเมืองแบบอนุรักษ์ชุมชนเก่าไว้ด้วยแต่ไม่ได้ผล อยู่ๆมายุคนี้ จะทุบชุมชนทิ้งแล้วสร้างสวนสาธารณะ ใครจะรับได้บ้าง” นางสุวัน กล่าว
อนึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้เผยแพร่ ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬว่า เป็นชุมชนบริเวณชานเมืองพระนคร ชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ริมกำแพงชั้นในของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ป้อมสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้สร้างขึ้น ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงสร้างพระนครและพระบรมมหาราชวัง ป้อมมหากาฬนั้นเป็นป้อมหนึ่งที่ประจำพระนครด้านตะวันออก ต่อมาในปีพ.ศ. 2492 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อจากนั้นก็มีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง
ในอดีตบริเวณชานเมืองกำแพงเคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามลำคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ ส่วนบริเวณภายนอกของแนวป้อมมหากาฬ คือ ที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพาร มีการปลูกสร้างอาคาร เป็นแนวยาวตลอด ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่อาศัยอยู่เดิมได้โยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ทิ้งสิ่งปลูกสร้างไว้ให้ผู้อื่นเช่า ขณะเดียวกันก็มีอาคารบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นที่มาของชุมชนป้อมมหากาฬ นับเป็นชุมชนที่มีกลุ่มคนที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมามากกว่า 50 ปี โดยมีการผสมผสานเข้ากับผู้คนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกบ้านเรือนเก่าที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้
//////////////////////////////////