เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 นางสาวจันทร โพธิ์จันทร์ ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เปิดเผยว่า วันนี้ตัวแทนชาวบ้านจัดระเบียบ ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ประมาณ 10 คน เดินทางไปที่เวที “กสม.พบประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ณ โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ดำเนินการตัดโค่นต้นยางพาราจำนวน 4 แปลง เสียหายประมาณ 93 ไร่ ของชาวบ้านจัดระเบียบ ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่มีการอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาล ในคดีฟ้องบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงภูพาน-กระเฌอ ที่คดีถึงที่สุด
ตัวแทนชาวบ้านกล่าวต่อว่า การปฏิบัติการตัดโค่นต้นยางของชาวบ้านถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากคำสั่งศาลที่อ้างถึง ระบุเพียงให้จำเลยและบริวารออกนอกพื้นที่เท่านั้น การตัดโค่นต้นยางจึงเป็นการดำเนินการนอกเหนือคำสั่งของศาล ซึ่งชาวบ้านได้พยายามชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ แต่กลับไม่มีการยอมรับฟัง ทั้งยังมีการข่มขู่ชาวบ้านด้วย ทำให้ต้องเดินทางมาร้องเรียนในวันนี้
ตัวแทนชาวบ้านกล่าวอีกว่า ในอดีตชาวบ้านอาศัยทำกินบนผืนดินแถบนี้มานานแล้ว จนรัฐเข้ามาจัดสรรที่ดินทำกินใหม่และให้มีการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภทบ.5 กระทั่งปี 2555 กรมป่าไม้เข้ามาตรวจสอบสิทธิ์ ให้ชาวบ้านไปยืนยันการครอบครองที่ดินทำกิน และมีการจับพิกัดจีพีเอส เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ให้แก่ชาวบ้าน โดยมีชาวบ้าน 34 รายไปยืนยันสิทธิ์ในตอนนั้น แต่หลังจากนั้น 1 เดือน กลับมีหมายเรียกจากตำรวจให้ไปพบ และมีการแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนฯ ต่อชาวบ้านทั้ง 34 ราย หรือ 34 คดี
ตัวแทนชาวบ้านกล่าวต่อว่า กระทั่งรัฐบาลนี้ออกนโยบายทวงคืนผืนป่า จึงมีการเร่งรัดคดีที่ฟ้องชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านที่ยากจนอยู่แล้วต้องลำบากหาเงินไปสู้คดีในชั้นศาล และไม่กล้าเข้าไปทำกินในที่ดินที่กำลังถูกฟ้องคดี ชาวบ้านบางรายทนลำบากหาเงินไปขึ้นศาลไม่ไหว ต้องจำใจยอมรับสารภาพ ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินออกเสร็จสิ้นทั้งหมด แบ่งเป็น รอลงอาญา 19 ราย ถูกจำคุก 5 ราย ยกฟ้อง 4 ราย อยู่ชั้นศาลอุทธรณ์ 6 ราย
“มีหนึ่งครอบครัวลูกชาย ลูกสะใภ้ติดคุก ย่ากับยายจึงเครียดจนช็อคเสียชีวิต อีกรายเมียเครียดที่ผัวต้องติดคุก ถึงกับช็อคต้องกินยารักษาอาการทางจิตตลอด อีกหลายครอบครัวต้องอยู่ในสภาวะซึมเศร้า เกิดการอย่าร้าง ครอบครัวแตกสลาย” นางสาวจันทร กล่าว
ด้านนายสมชัย ทองดินนอก อายุ 62 ปี ตัวแทนชาวบ้านจัดระเบียบ กล่าวว่า 34 ครอบครัวที่ถูกฟ้อง มีที่ทำกินครอบครัวละแปลงเท่านั้น เมื่อไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ดินตัวเองได้ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปทำอะไร หลายคนต้องกู้เงินหมู่บ้านหรือกองทุนแม่บ้านมาใช้จ่ายกันก่อน แล้วออกไปหางานข้างนอกหรืออาศัยลูกหลานที่ไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ส่งเงินกลับมา ที่ดินผืนนี้ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่นานกว่า 70 ปีแล้ว แต่สมัยนั้นยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ จนเจ้าหน้าที่บอกให้เราไปยืนยันการครอบครองที่ดินแล้วจะออกเอกสารสิทธิ์ให้ แต่กลับต้องมาถูกฟ้องติดคุก
ทั้งนี้ในเวที “กสม.พบประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีตัวแทนชาวบ้านที่เดือนร้อนหลายกลุ่มเข้าร่วมเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอีสาน โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบจากการโครงการพัฒนาของรัฐ อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายเมื่อมีการถ่ายภาพหมู่และชาวบ้านเตรียมยกป้ายสะท้อนความรู้สึกต่างๆ เหล่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อยู่ในเวทีตอนนั้น ต่างพากันเดินออกเพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านยกป้าย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกสม.อย่างมาก