Search

ผู้ลี้ภัยยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย ชี้หลายพื้นที่ยังสู้รบ รอความชัดเจนเรื่องจัดสรรที่ดิน “บิ๊กป้อม”แจงไม่เร่งส่งกลับผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพ เตรียมตั้งกรรมการร่วมหารือ

IMG_20160701_185914
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าจะส่งผู้ลี้ภัยสงครามในศูนย์พักพิงตามแนวชายแดนกลับประเทศเมียนมาจำนวนกว่าแสนคน ว่า ฟังกันไปคนละเรื่อง ตนให้ข่าวไปแล้วว่าเมียนมาจะร่วมมือกับประเทศไทย แต่เขาก็ต้องดูในพื้นที่ที่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ของเขา ถ้าทำได้เรียบร้อยดี สามารถรับผู้ลี้ภัยกลับไปประกอบสัมมาอาชีพได้เขาก็จะรับไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทางเมียนมาขอเวลาในการที่จะเคลียร์พื้นที่ของเขาก่อน อันไหนที่พอส่งได้ก็จะส่ง โดยจะตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณา ตนเห็นข่าวบางฉบับเขียนว่าจะส่งกลับเป็นแสนคน เลอะเทอะ คนเขียนต้องรับผิดชอบนะ ไม่รู้เรื่องเลย อยู่ในประเทศไทยยังไม่ถึงเลย ตอนนี้ต้องให้มีคณะกรรมการดำเนินการก่อน เพิ่งหารือกัน และตนเพิ่งเดินทางกลับมา แล้วทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ก็จะได้ประสานงานต่อไป และให้เมียนมาสามารถเคลียร์พื้นที่ได้เรียบร้อยก่อนเขาก็รับกลับ

ด้านนางสาว หน่อ ต่า หล่า ซอ รองเลขาธิการ องค์กรสตรีกะเหรี่ยง KWO) กรณีพล.อ. ประวิตร ระบุว่า รัฐบาลไทยและเมียนม่าเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการส่งกลับผู้ลี้ภัยร่วมกับรัฐบาลพม่าว่า เป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้เริ่มพูดถึงประเด็นการส่งกลับผู้ลี้ภัย และเมื่อถามตัวผู้ลี้ภัยเองหลายคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับไปยังพื้นที่ตนเอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความมั่นใจอะไรเกี่ยวกับความปลอดภัยเลย ขณะนี้ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ที่ติดตามสถานการณ์ประเด็นนี้ต้องการเห็นความมั่นคงทางการเมือง และความปลอดภัยในชีวิตก่อนที่จะเริ่มกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางจริง

นางสาวหน่อ ต่า หล่า ซอ กล่าวว่าแม้ปัจจุบันภาพลักษณ์ของประเทศพม่าดูเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากมีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ แต่ยังคงเห็นบางพื้นที่ของรัฐชาติพันธุ์มีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัยนั้นทั้งกองกำลังในพื้นที่ และฝ่ายรัฐบาลพม่าเองต่างไม่กล้ารับประกันความปลอดภัย รวมถึงแนวทางสันติภาพที่รัฐบาลพม่าบอกว่าจะพัฒนาต่อนั้นยังคงไม่มีความชัดเจนใดๆ อีกเรื่องสำคัญคือ เรื่องการจัดสรรที่ดินสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะกลับไป เพราะ หวังว่ารัฐบาลพม่าจะไม่บังคับยึดเอาที่ดินของชาวบ้านดั่งเดิมในพื้นที่จัดสรร ในประเทศพม่าการบังคับยึดเอาที่โดยรัฐบาลก็เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมานาแล้ว ซึ่งหากมีปัญหาเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาระหว่างเจ้าของที่เดิมกับผู้ลี้ภัยที่กลับไปอยู่ใหม่เป็นแน่ ส่วนเร็วๆ นี้รัฐบาลไทยหรือรัฐบาลพม่าควรชี้แจงถึงแผนและขั้นตอนกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือรายละเอียดการหารือให้กับตัวผู้ลี้ภัย องค์กรทำงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องถิ่นที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัยได้ทราบอย่างละเอียดด้วย อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจร่วมกันคือ ปัญหาการเมืองภายในรัฐกะเหรี่ยงไม่ใช่แค่ปัญหาของคนกะเหรี่ยงกับรัฐบาลพม่า แต่ในรัฐกะเหรี่ยงมีกองกำลังกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม เช่น KNU, DKBA, DKBO, KNUPC และ BGF กลุ่มต่างเหล่านี้ควรมีการลงนามร่วมหรือสร้างหลักประกันบางอย่างให้กับผู้ลี้ภัย และมีส่วนร่วมในกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยด้วย

ขณะที่ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งวัย 66 ปีซึ่งเป็นครูอยู่ในค่ายผู้อพยพแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก กล่าวว่าตนเป็นผู้ลี้ภัยมานานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยหนีมาตั่งแต่ปี พ.ศ. 2527 ความเป็นจริงนั้นผู้ลี้ภัยต่างก็อยากกลับบ้านของตัวเอง เพราะความเป็นจริงรัฐบาลไทยไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับเรา เขากำหนดสถานะเพียงผู้หนีภัยการสู้รบชั่วคราว ถ้าจะมีการส่งกลับจริงๆก็ต้องการรู้ความชัดเจนเรื่องพื้นที่ส่งกลับ รวมถึงสถานะเมื่อต้องกลับไปอยู่ในประเทศเมียนม่า

“ที่ผ่านมามีโอกาสคุยกับคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง KRC ที่เคยส่งตัวแทนไปพบกับรัฐบาลพม่าก็ได้คำตอบว่ารัฐบาลอองซาน ซูจี ยังไม่มีแผนดำเนินการใดกับผู้ลี้ภัย และเรารู้ดีว่าปัญหาที่ดินเป็นเรื่องใหญ่มากในประเทศพม่า เพราะรัฐได้บังคับเอาที่ดินของชาวบ้านไป ทำให้เกิดการย้ายถิ่นภายในประเทศและเกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างประชาชนด้วยกัน ถ้ารัฐบาลไม่จัดสรรพื้นที่ให้เรากลับไปอยู่อย่างชัดเจนเป็นเรื่องยากที่ผู้ลี้ภัยอย่างเราจะกลับไปจัดการเองได้ ยกตัวอย่างเพื่อนฉันคนหนึ่งแอบออกจากค่ายเพื่อกลับไปดูที่ดินเดิมของตัวเองซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายแดน อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยหวังว่าหากกลับไปทำกินบนที่ดินเดิมได้เขาจะเป็นกลุ่มแรกที่อาสากลับ แต่การที่เราหนีมานานเกือบ 40 ปีจึงพบว่าที่ดินเดิมถูกขายเปลี่ยนมือไปหลายเจ้าแล้ว ปัจจุบันเขาตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ประเทศที่สามแล้ว ส่วนฉันยังคงอยู่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่ยังไม่ไปประเทศที่สาม และยังทำงานด้านการศึกษาต่อไป เพราะการศึกษาเป็นสิ่งเดียวที่เรามอบให้ลูกหลานได้ในขณะที่เรายังเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นแสงสว่างเดียวที่จะเปิดโลกให้กับลูกหลานเรา”ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงรายนี้ กล่าว

เขากล่าวว่า ตอนนี้การประเทศที่สามปิดรับผู้ลี้ภัยแล้ว ตัวเลือกเดียวคือ สมัครกลับประเทศต้นทาง ซึ่งมีคนที่สมัครกลับเพราะคนเหล่านี้ยังมีทรัพย์สินในประเทศต้นทาง และพวกเขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัยที่หนีมาพร้อมเรา บางส่วนก็ไม่ได้มาเพราะภัยสงคราม

“สำหรับฉันขอบอกตรงๆ ว่าไม่กล้ากลับ ถ้าสุดท้ายไม่มีตัวเลือกใดฉันคงหาทางของฉันซึ่งไม่รู้ว่าจะยังไง แต่อยากบอกว่า ภาพและความกลัวทุกอย่างมันยังฝังอยู่ในใจ ครอบครับฉันต้องหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของทหารพม่ามาแต่เด็ก ทุกครั้งที่พ่อฉันเข้าไปในเมืองต้องไปรายงานตัวที่ค่ายทหารเพราะรัฐบาลพม่ากำหนดให้หมู่บ้านเราอยู่ในพื้นที่สีดำ หรือพื้นที่กบฏ สุดท้ายหมู่บ้านถูกเผาทำลาย เราหนีมาเรื่อยๆ จนมาถึงประเทศไทย ความโหดร้าย ความกลัวทุกอย่างยังฝังใจจนทุกวันนี้ ถ้าจะมีการส่งผู้ลี้ภัยอย่างเรากลับจริงเราก็ต้องการความชัดเจนทั้งพื้นที่ สถานะของเรา และความปลดภัยในชีวิต”ผู้ลี้ภัยรายนี้กล่าว

เขายังกล่าวว่า ประเทศพม่าเป็นประเทศที่รวยมากในอดีต ได้รับเอกราชจากอังกฤษมาตั่งแต่ปี พ.ศ.2491 แต่ถูกทำลายและให้กลายเป็นประเทศยากจนลงขนาดนี้ด้วยระยะเวลากว่า 60 ปี เราจึงอยากบอกว่าเราเข้าใจรัฐบาลซูจี ที่จะแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานกว่า 60 ปี ในระยะเวลาเพียง 4 ปี บ้านใครใครก็อยากกลับทั้งนั้น ถ้ามันปลอดภัย เราอยู่ในสถานะที่ถูกรัฐกำหนดให้เป็นกลุ่มกบฏมานานถ้าเรากลับเราก็อยากรู้ว่าจะอยู่ในสถานะใด เราอยู่บ้านคนอื่นนานเราก็รู้ตัวเองว่า เจ้าบ้านก็คงเบื่อเราแล้ว
////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →