สื่อพม่ารายงานว่า วานนี้ (17 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา สภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ (UNFC) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 9 กลุ่ม ที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิงแห่งชาติ ได้เดินทางไปพบหารือกับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐที่กรุงย่างกุ้ง โดยฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ใช้เวลาหารือกันนาน 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว แต่หัวข้อการหารือเกี่ยวกับการประชุมใหญ่สัญญาป๋างโหลง “ศตวรรษที่ 21” และสงครามที่เกิดขึ้นในรัฐชาติพันธุ์
มีรายงานว่า นายเอ็น บั่น ละ ประธาน UNFC รวมทั้งผู้นำระดับสูงจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยา (KNPP) พรรครัฐมอญใหม่ (MNSP) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA-เหนือ) รวมทั้งสิ้น 13 คน ได้พบหารือกับนางซูจีและคณะ โดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ได้เรียกร้องให้นางซูจี ช่วยเจรจากับผู้นำกองทัพพม่าให้ยุติสงครามที่เกิดขึ้นทางเหนือของรัฐฉานในขณะนี้
“ผู้นำ UNFC ยังเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับการยุติสงครามในเขตพื้นที่ชาติพันธุ์ เพราะเป็นก้าวสำคัญสู่กระบวนการสันติภาพ การสู้รบในภาคพื้นดิน ในเวลาเดียวกัน มีการหารือบนโต๊ะเจรจา ทำให้เป็นเรื่องที่ยากที่เราจะทำให้เกิดสันติภาพได้สำเร็จ” ขุนโอเร เลขาธิการของ UNFC กล่าว และเพิ่มเติมว่า ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำกองทัพพม่ามีการพูดคุยกันอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงความร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้นจึงเชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายน่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหาสงครามที่เกิดขณะนี้ได้ ส่วนนางซูจีนั้นได้บอกกับทางกลุ่มชาติพันธุ์ว่า จะพยายามทำให้เกิดสันติภาพในประเทศและก่อตั้งสหพันธรัฐให้เห็นเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การพบหารือกันเมื่อวานนี้ นับเป็นครั้งแรกของการหารือระหว่าง UNFC และรัฐบาล NLD โดยหลังการหารือ ทางรัฐบาล NLD ได้ออกแถลงการณ์สั้น ๆ ว่า การหารือเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ขณะที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดประชุมใหญ่สัญญาป๋างโหลงศตวรรษที่ 21 นั้น แม้ทางรัฐบาล NLD ระบุต้องการให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า จะมีกลุ่มไหนเข้าร่วมบ้าง ซึ่งคาดว่าอาจไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มเข้าร่วมก็เป็นได้ ซึ่งทางรัฐบาล NLD จะจัดประชุมใหญ่ดังกล่าวประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้
อีกด้านหนึ่ง ทางกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ลงนามหยุดยิงแล้วกับกลุ่มที่ยังไม่ลงนามหยุดยิง จะหารือกันรอบนอกระหว่างวันที่ 26 – 29 กรกฎาคมนี้ ก่อนหน้าประชุมใหญ่ป๋างโหลงศตวรรษทื่ 21 ที่เมืองมาจายัง เขตควบคุมของกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA ใกล้กับชายแดนจีน
ที่มา เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ Tai Freedom/Myanmar Times
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ