เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2559 เวลา 10.30 น. ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ จำนวน 80 คน เดินทางเขัายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา และหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ เพื่อเรียกร้องให้กำหนดแนวทางการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรหรือคนจน โดยมีนายจตุพร เณรนุ่ม ตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ
จากนั้นเวลา 13.00 น. เดินทางต่อไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยมี นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยต้องการให้รัฐบาลเรียกประชุมกรรมการพีมูฟในเดือนสิงหาคมนี้ และเสนอให้มีการยกชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นชุมชนนำร่องการแก้ปัญหาที่ดินแทนการไล่รื้อชุมชน
ทั้งนี้ หนังสือระบุโดยสรุปว่า การบังคับขับไล่เกษตรกรหรือคนจนออกจากที่ดิน แล้วเริ่มต้นการจัดสรรที่ดินจากสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เป็นวิธีการที่ย่้อยแย้งในตัวเอง และเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ทำลายเป้าหมาย สุดท้ายแล้วเกษตรกรหรือคนจนก็ไม่อาจเข้าถึงที่ดิน โดยขอชี้แจงว่า ชุมชนคลองไทรพัฒนาไม่มีเจตนาครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. และมีการทำประโยชน์โดยปลูกพืชผสมผสานไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว และใช้แนวทางจัดการที่ดินแบบมีส่วนร่วมและห้ามซื้อขายที่ดิน โดย สกต.เคยยื่นหนังสือของเช่าและขอใช้ประโยชน์จาก ส.ป.ก. มาโดยตลอดในปี 2558 แต่ไม่เคยได้รับพิจารณาโดยไม่เป็นธรรม ขณะที่ปัจจุบัน ส.ป.ก.ได้นำเสนอที่ดินแปลงที่ตั้งุมชนคลองไทรให้คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน และคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินจังหงวัดสุราษฏร์ธานี ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ผ่านความเห็นชอบแล้ว จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กรุณาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
สำหรับข้อเรียกร้อง ระบุว่า 1.ขอให้มีประกาศของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศฯ ฉบับที่ 12/2559 ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันหรือยกเว้นมิให้เกษตรกรหรือคนจน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาก่อนที่จะมีการประกาศใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 36/2559 มิให้ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนจากประกาศและคำสั่งดังกล่าว
หนังสือระบุว่า 2. ขอให้นำเอา คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ข้อ 2.1 “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้” มาใช้กำกับการดำเนินการใดๆ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ด้วย 3.ขอให้ยอมรับว่าพื้นที่ใดๆ ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ได้มีการนำเสนอ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นพื้นที่ ที่อยู่ในกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว
หนังสือระบุต่อว่า 4.หลักเกณฑ์การจัดที่ดินต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ที่มีชุมชนอยู่อาศัยมาก่อน การใช้คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 กรณีที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปให้กับสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบริหารจัดการให้กับสมาชิกได้ใช้ทำการเกษตร โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าครอบครัวละ 11 ไร่ (รวมที่อยู่อาศัย) ภายใต้หลักสิทธิร่วมของชุมชนหรือสถาบันเกษตรกร [สามารถอ้างอิงได้ตาม มาตรา 30 (3) พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2519 และ พ.ศ.2532 ]
หนังสือระบุว่า 5. เนื่องจากกรณีความเดือดร้อนของเกษตรกร หรือคนยากจน อันเนื่องจากการบังคับใช้ คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ซึ่งในความเป็นจริงที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2552 ได้มีการนำเสนอข้อมูลของชุมชนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลปัจจุบัน นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีความคืบหน้า ที่ผ่านมาไปดำเนินการต่อไปด้วย เช่น มติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ชุมชนต่างๆ รวม 35 ชุมชน ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดทำโฉนดชุมชนต่อไปได้ และชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องดังกล่าวด้วย
6. ขอให้รัฐบาลหรือหัวหน้า คสช. และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรุณาดำเนินการบังคับใช้คำสั่ง ที่ 36/2559และประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 12 /2559 โดยจำแนกแยกแยะระหว่างนายทุนกับเกษตรกรและคนจนเพื่อมิให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรและคนจน ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559
ด้านนายสุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ให้สัมภาษณ์การยื่นหนังสือว่า วันนี้ชาวบ้านต้องการชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนคลองไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินจากการบังคับใช้คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 โดยเบี้องต้นได้ข้อสรุปที่เป็นผลดีต่อชาวบ้านว่า จะไม่มีการไล่รื้อชุมชนคลองไทรพัฒนาในตอนนี้ โดยจะมีการเร่งนำข้อเรียกร้องของชาวบ้านเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในวันพรุ่งนี้ และกระทรวงเกษตรฯ จะส่งตัวแทนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อชาวบ้าน
นายสุรพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของชาวบ้านขณะนี้กำลังติดตามการดำเนินการของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จังหวัดสุราษร์ฎธานี ที่จะมีการใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.36/2559 เตรียมผลักดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ซึ่ง ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการประชุมเรื่องดังกล่าวในวันเดียวกันนี้ โดยระหว่างนี้ชาวบ้านจะเร่งส่งหนังสือชี้แจงถึง ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฏร์ธานีภายใน 15 วัน
///////