โดย วิศรุต แสนคำ นักศึกษาปริญญาโทสาขาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นรี วัย 14 ปี ลุกขึ้นจากฟูกของเธอโดยไม่ต้องอาศัยนาฬิกาปลุกตอนเช้าเหมือนใครหลายคน เวลา 6 โมงเช้าในทุก ๆ วันคือเวลาเดิมที่เธอตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น และเสียงเดินย่ำเท้าของเพื่อนข้างห้องคือ สัญญาณเตือนว่าเธอต้องตื่น เพื่อไปรอเข้าคิวอาบน้ำในยามเช้ากระตุ้นความรู้สึกในการใช้ชีวิตต่อไป
นรีเป็นหญิงสาวแรกรุ่น ตาดวงกลมสีน้ำตาลอ่อน ผมลอนสลวยเป็นเกลียวยาวประบ่า เธอนุ่งกระโจมอกด้วยผ้าซิ่นลายดอกไม้ยาวถึงเข่า แล้วค่อย ๆ เอื้อมมือหยิบ หมวกเซฟตี้ (หมวกคนงานก่อสร้าง) สีเหลือง บรรจงตักน้ำจากถังพลาสติกสีน้ำเงินราดลงผิวสีแทนของเธอ พลางหยอกล้อเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ปะปนไปกับเหล่าชายหนุ่มกล้ามงามที่อาบน้ำอยู่ใกล้ ๆ ในชุดผ้าข้าวม้า ล้วนอาจทำให้สาวแรกรุ่นเหนียมอาย ท่ามกลางลานอาบน้ำเปิดโล่ง ใต้ท้องฟ้าของกรุงเทพ ที่ห้อมล้อมด้วยกำแพงสังกะสีและโอบล้อมจากตึกใบหยกและ ตึกสูงมากมายนับสิบกลางเมืองใหญ่
ในห้องขนาด 2×2 ตารางเมตรที่ถูกพยุงด้วยโครงไม้จากต้นยูคา และล้อมด้วยแผ่นสังกะสีเลื่อมระยับ นรีและแม่กับน้องชายม้วนเก็บที่นอนแผ่นหนาเตอะ ปัดฝุ่น และช่วยกันลงมือทำอาหาร อาศัยเตาไฟฟ้าที่พึ่งซื้อต่อมาจากหัวหน้า จากนั้นแลกเปลี่ยนพูดคุยกันพลางตัก “บอบอ” หรือข้าวต้มใส่กะหล่ำที่ถูกซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่เข้าปาก หวังสร้างกำลังวังชาในช่วงเช้าของวัน
เสร็จจากอาหารมื้อเช้า หญิงสาวตาสีน้ำตาลสวมชุดประจำที่ดูคล้ายจะเป็นชุดนอน แต่แทนที่จะมุ่งหน้าเข้าโรงเรียน เธอกลับเดินจูงมือกับแม่ไปยังโครงสร้างตึกเจ็ดชั้น ที่เธอและครอบครัวเดินทางข้ามพรมแดนมาเพื่อความหวังถึงงอนาคตที่ดีกว่า
ขณะที่สาวน้อยกำลังก่อสร้างตึกใหญ่กลางเมืองหลวงระหว่างวัน “ตุย” น้องชายของเธอ ได้ใช้เวลาตลอดวันสนุกสนานไปกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน เขาสมมุติเอาว่าที่บริเวณลานอาบน้ำกลางคือบ่อน้ำขนาดใหญ่ กระโดดจากแผ่นไม้แผ่นหนึ่งไปอีกแผ่น โดยที่ไม่ให้ตกลงไปโดนกองขวดพลาสติกที่เขาอุปมาว่าเป็นจระเข้ บางครั้งเขาก็ชักชวนเพื่อน ๆ เดินออกมาหาขวดพลาสติกใสในถังขยะหลากสี เพื่อเก็บสะสมเอาไปแลกเป็นเงินช่วงท้ายเดือน
ชีวิตของนรีเป็น 1 ใน 137,564 ชีวิตที่อาศัยและทำงานไซต์ก่อก่อสร้าง ตามตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจผู้สร้างในกรุงเทพฯซึ่งเรามักเรียกว่า “แคมป์คนงาน” ที่นายจ้างจัดให้ เพื่อจะได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งสำหรับนายจ้างเองและตัวนรีเอง อย่างไรก็ตามหากถามถึงความเป็นอยู่และความพึ่งพอใจ เกือบทั้งหมดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่อยู่และห้องพักนั้นแคบเกินไป
ทว่าเธอกลับยิ้มเมื่อถูกถามว่าอยู่สบายดีไหม เธอยืนยันว่า “อยู่ที่นี่ได้เพราะได้อยู่กับแม่ อยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไรที่เคยทำก็มีแต่ปลูกข้าว แต่ช่วงหลังจากแล้งกันเหลือมาก เกินกว่าจะปลูกพืช ผัก แม่เลยพานรีและน้องมาอยู่ที่กรุงเทพ”
สาวรุ่นย้อนคำพูดของแม่ถึงเป้าหมายและเวลาของการทำอาชีพก่อสร้างในกรุงเทพฯ ว่าสัก 2 ปีแล้วจะกลับไปอยู่บ้านที่กัมพูชาเช่นเดิม แต่อนาคตไม่แน่นอนนัก เพราะแม่เธอยังทิ้งท้ายด้วยว่าหากเงินหมดคราหน้าก็อาจจะได้กลับมาสร้างกรุงเทพฯ อีกครั้ง
นรีเองเพิ่งย้ายตามแม่มาอยู่เมืองหลวงของประเทศไทยได้เพียงแค่สามเดือน หากนับดูแล้วหนทางกลับบ้านคงยังอีกไกล
“หนูอยู่ได้เพราะมีฝันและอยู่อย่างสบายใจได้เพราะแม่ พี่ ๆน้อง ๆ ความเป็นอยู่จึงไม่ต่างจากบ้านเกิดก็ตรงห้องน้อยใช้สำหรับพักผ่อนเอนกาย กิน อยู่ ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรที่เป็นทรัพย์สมบัติถาวร อย่างน้อยก็ได้อยู่กับแม่ และมีคนเขมรอยู่เยอะ คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ เหมือนกับอยู่บ้านที่เขมร” นรีย้ำถึงความสบายใจที่ไดอยู่ใกล้แม่และพี่น้องชาวเขมร
หากไม่เพราะคุณภาพชีวิตที่ต้องหาเช้ากินค่ำ และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเศรษฐกิจระดับใหญ่ในประเทศบ้านเกิด พวกเธอคงไม่ต้องแบกเสื่อ หอบหมอน ห่อผ้าเดินทางมาแสวงหาสภาพเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ก็ย่อมอยากมีบ้านเป็นของตนเองทั้งสิ้น แม้จะมีภารกิจต้องโยกย้ายเป็นครั้งคราวก็ตาม
ในขณะที่เมืองไทยเอง สถานการณ์ไล่รื้อและยึดคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้วก็รุนแรงไม่แตกต่างจากเขมร ซึ่งนรีเองก็รู้สึกอนาถใจไม่แพ้กัน เพราะไม่รู้ว่าอนาคตของชาวบ้านที่ถูกไล่ที่ รื้อถอนบ้านอันเป็นสมบัติและปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง จากนี้ชีวิตจะกลายเป็นเช่นไร จะเร่รอนหางานทำและอยู่แบบเพิงพักคล้ายแรงงานเขมรเช่นเดียวกับเธอหรือไม่
ทุกวันนี้นรีและครอบครัว รวมถึงพี่น้องชาวเขมรของเธอต่างต้องหาเช้ากินค่ำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสังคมทั้งในไทยและกัมพูชา ในโอกาสวันที่อยู่อาศัยโลกที่จะมาถึงในปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม ผู้เขียนเองได้แต่หวังว่ารัฐบาลที่ไหนควรจะมองเห็นคุณค่าของชาวบ้านชนชั้นแรงงาน และคนยากคนจนบ้าง
.
————————-
หมายเหตุ-ในวันที่ 3 ตุลาคม 2559 เวลา 08.00 น.ชาวบ้านในนามของเครือข่ายสลัม 4 ภาคและองค์กรพันธมิตร ได้นัดรวมตัวกันเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก โดยจะเดินทางไปทวงถามข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเพื่อให้สนับสนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน