
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 นางสาวอรัญญา เจริญหงส์ษา ตัวแทนชุมชนมอญบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังทางการไทยประกาศการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ประชาชนมอญในชุมชนวังกะและชุมชนใกล้เคียงได้ประชุมและวางแผนร่วมกันเพื่อสวดอภิธรรมร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ณ วัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” อำเภอสังขละบุรี โดยกำหนดจะสวดให้ครบ 100 วัน เนื่องจากชาวมอญสำนึกในพระมหาธิคุณที่ในหลวงทรงเมตาและต้อนรับชาวมอญมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
นางสาวอรัญญากล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทางเครือข่ายมอญได้แจ้งข่าวสารการสวรรคตไปยังกองทัพ พรรคมอญใหม่ยังรัฐมอญ ประเทศพม่า เพื่อให้รับทราบข่าวการสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทย และได้รับแจ้งกลับมาจากกองทัพว่า ทางพลโททอมอญ ประธานพรรครัฐมอญใหม่ จะเดินทางมาร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งทางพรรคมอญเองก็ได้ลดธงครึ่งเสาร่วมไว้อาลัยเช่นกัน หลังทราบข่าว แต่เนื่องจากรัฐมอญและวัฒนธรรมมอญนั้นให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทางผู้นำพรรค จึงได้ขอเดินทางมาร่วมเป็นเจ้าภาพสวดมนต์ด้วยตนเอง และอาจจะมีโรงทานเลี้ยงอาหารประชาชนเพื่ออุทิศแด่ในหลวงด้วย
“พวกเราทราบข่าวปุ๊บก็แต่งดำ และนำพระบรมฉายาลักษณ์ออกมารวมตัวกันที่วัดเลย จากนั้นก็ประชุมกันว่า จะทำอย่างไร ได้ข้อสรุปว่าในหลวงเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่เห็นความสำคัญของการทำนุบำรุงศาสนามาก และชาวมอญเองก็ปลื้มใจในความเมตตาของท่าน โดยตอนนี้ชุมชนวังกะเองก็ได้นำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาน้อมนำปฏิบัติ เพื่อให้สามารถตามรอยพระราชดำริให้ได้ แม้ในหลวงไม่เคยมาที่บ้านวังกะก็ตาม แต่สมเด็จย่าและสมเด็จพระเทพฯ รวมทั้งพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เอง ก็เสด็จมาบ่อยๆ ซึ่งทุกพระองค์ได้กล่าวเสมอว่าในหลวงทรงเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่อย่างมากและให้กำลังใจประชาชนทุกคนให้อยู่เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” นางสาวอรัญญา กล่าว
นางสาวอรัญญา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จำนวนคนมอญในชุมชนวังกะและโดยรอบวัดหลวงพ่ออุตมะ มีประมาณ 10,000 คน ได้รับสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการเพียงแค่ 30 % เท่านั้น คนมอญหลายคนจึงไม่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อถวายความอาลัยได้ จึงต้องเน้นพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงไทย โดยหลังทราบข่าวการสวรรคต ชาวบ้านบางส่วนได้เขียนข้อความไว้อาลัยว่า “แหรสิแหฝะเอก์รัดเส่ม” แปลว่าอาลัยพระบรมศพในหลวงไทย โดยคนมอญจะเรียกในหลวงว่า “เอก์รัด ซึ่งหลังๆ คนไทยจะฟังเพี้ยนไปเป็นเอกรัช หรือ เอกราช” เอ แปลว่าสูงสุด รัด แปลว่า กษัตริย์
////////////////////////////////////////