เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี หรือ เปอร์มาส(PerMAS) จำนวน 5 คน นำโดยนายมูฮำหมัด สาซู รองประธาน เปอร์มาส เข้ายื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติหรือ ยูเอ็น เพื่อเรียกร้องให้ยูเอ็นมีมาตรการเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อกรณีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศไทยที่มีการปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายมูฮำหมัด กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีการควบคุมตัวเยาวชนจำนวน 103 คน แต่ทางเปอร์มาสทราบข้อมูลรายชื่อและสามารถติดตามการควบคุมตัวและให้การช่วยเหลือได้เพียง 44 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้เลย จึงกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ผิดปกติกับเยาวชนที่ถูกควบคุมตัว และการปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ได้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติแบบเหมารวม โดยที่รัฐอ้างว่าเป็นการป้องกันการก่อเหตุวินาศกรรม แต่กลับเป็นการกระทำที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของหลักนิติรัฐและนิติธรรมเลย ดังนั้นจึงต้องการให้เกิดการความเป็นธรรมในเรื่องนี้
นายมูฮำหมัด กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการจับกุม ควบคุม เยาวชนชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นนั้น เสี่ยงเป็นการตัดตอน กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ที่มีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมผลักดันในหลายครั้ง จึงมองว่าการปฏิบัติแบบเหมารวมเช่นนี้จะส่งผลให้การเจรจาสันติภาพสั่นคลอน และเกรงว่าจะนำไปสู่เหตุความรุนแรงเหมือนกรณีตากใบเมื่อปี 2547 ทางเปอร์มาสจึงได้ใช้โอกาสที่กำลังจะครบรอบเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อยูเอ็น และจะพยายามสื่อสารเรื่องราวกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ให้ต่างประเทศเข้าใจอีกทางหนึ่ง แทนที่จะรับข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลไทยเพียงทางเดียว
“กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้ รัฐบาลไทยทำเพียงผลักดันเชิงนโยบายให้มีการพูดคุยสันติสุข แต่ในระดับปฏิบัติการกลับไม่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งการกระทำกับเยาวชนคนรุ่นใหม่เช่นนี้ เท่ากับคุณกำลังตัดบทบาทของเยาวชนออกไป และข้อกล่าวหาที่ตำรวจอ้างนั้น ก็ยังฟังไม่ขึ้น ตัวผมเองไม่ได้ปฏิเสธว่าเยาวชนที่ใต้ทุกคนบริสุทธิ์ แต่มันไม่มีอะไรยืนยันว่าคนที่คุณควบคุมไป คือ เขาผิด ผมว่าน่าจะลองเปิดใจแล้วคุยกันดู และจะพบว่าที่ผ่านมาเยาวชน 3 จังหวัดมีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ แต่เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นมานานและเป็นปัญหาเรื้อรัง การที่ตำรวจคอยเอาภาพเยาวชนที่ก่อความรุนแรงมาใส่ในข้อมูลเพื่อให้สังคมเชื่อ ผมว่ามันรุนแรงเกินไป และเราไม่อยากให้มีกรณีคล้ายตากใบเกิดขึ้นอีก” นายมูฮำหมัด กล่าว
//////////////////