สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชวนลูกชาวนาร่วมกิจกรรมขายตรงแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ดร.เดชรัตน์เตรียมอบรม-ใช้สถาบันการศึกษาเป็นฐาน รณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้รับความสนใจคึกคัก

rice
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งริเริ่มกิจกรรม “ลูกชาวนา ซับน้ำตาพ่อแม่” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรณรงค์แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำให้กับครอบครัวชาวนา เปิดเผยว่า หลังจากเริ่มรณรงค์กิจกรรมดังกล่าวมา 2-3 วัน ปรากฏว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากสนใจอยากจะซื้อข้าวโดยตรงจากลูกชาวนา ขณะนี้เครือข่ายเยาวชนชาวนาเองก็มีการติดต่อสอบถามถึงกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า ตนและภาคีจึงเตรียมจัดอบรมอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม เวลา 13.00 น.-16.00 น. อาคาร 5 (หรืออาคารปฏิบัติการ) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อแนะนำแนวทางการในการซื้อ-ขายข้าวที่ได้ราคาเหมาะสมแก่ลูกชาวนา โดยอาศัยแนวคิดว่า “ลูกชาวนา ซับน้ำตาพ่อแม่” เน้นให้ลูกชาวนามาเป็นผู้ค้าคนกลางและสามารถติดต่อนำข้าวสารมาจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภค โดยไม่ผ่านกลไกตลาดกลาง และนโยบายของรัฐบาล

ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยออกมาทำกิจกรรมเช่นนี้ นับเป็นการสานต่อแนวระราชดำรัสของในหลวงที่มีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแด่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2511 ที่มีใจความตอนหนึ่งว่า “การเพิ่มผลผลิตที่ถูกต้อง จึงมิใช่การใช้วิชาการทางการเกษตรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่หากต้องเป็นการใช้วิชาการทางการเกษตรประกอบวิชาการด้านอื่นช่วยให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์ตอบแทนรายงานความคิดและทุนของเขาที่ได้ใช้ในการผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” ซึ่งแนวคิดนี้น่าจะพออธิบายความได้ว่า ทำไมสถานศึกษาต้องช่วยสนับสนุนเกษตรกร

rice2

ดร.เดชรัตน์ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อตนเห็นข่าวสารของชาวนาในเครือข่ายออนไลน์ที่หลายคนมีการโพสต์ และเผยแพร่ข้อมูลว่าข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำอย่างมาก โดยราคาข้าวหอมมะลิเมื่อหักความชื้นแล้วเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6 บาท เท่านั้น ถือว่ามีราคาตกต่ำมากที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา เทียบกับเมื่อก่อนแล้วพบว่าราคาแตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง คือ เมื่อก่อนช่วงที่ราคาดีพอรับได้ จะเห็นได้ว่าชาวนาหลายกลุ่มก็ยังขาดทุนอยู่ ณ ตอนนั้นราคาข้าวหักค่าความชื้น 25 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท แต่มาปัจจุบันเหลือแค่ 6,000 บาท ทุนทำนายังไม่ได้ กำไรไม่ต้องกล่าวถึง ตนจึงได้คิดค้นแผนนี้ขึ้นมา โดยอาศัยกลไกทางสังคมที่ชาวนากำลังวิกฤตไปจัดการเศรษฐกิจแบบครัวเรือน ไม่ใช่เอาเศรษฐกิจมากำหนดสถานการณ์สังคม ซึ่งกรณีนี้หากทำสำเร็จ ใครจะต่อยอดก็แล้วแต่ เช่น เป็นพนักงานบริษัทธรรมดา แต่อยากช่วยชาวนาก็อาจจะไปรับข้าวสารมาขายตรงให้กับผู้บริโภคที่รู้จักกันก็ได้ ส่วนตัวไม่ได้คิดกิจกรรมนี้เพื่อมาสร้างยี่ห้อว่า “ข้าวสาร ข้าวเปลือกจากลูกชาวนา” แต่เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่ใครก็ทำได้

“ผมเริ่มจากลูกชาวนาเพราะมองว่า หากเขาเติบโตมากับสังคมชาวนา แล้วเขามีความรู้ ความสามารถ ก็ย่อมพัฒนาการตลาดเองได้ คนไทยมองข้าวเป็นสินค้าทั่วไปที่ซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ลืมไปว่า ระบบควบคุมข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสำคัญ ส่วนมากกำไรไปตกอยู่กับทุนใหญ่ ขณะที่สินค้าอื่นมีการขายออนไลน์กันเยอะแยะ ผมเพียงแค่คิดเล่นๆ ว่า ทำไมจะแพ็คข้าวขายเองไม่ได้ อีกอย่างลูกชาวนา คุณมีผู้ผลิตอยู่ใกล้คุณมากๆ ถ้ามีคนสั่งซื้อจะข้าวอะไรก็ตาม คุณลองไปขอซื้อข้าวเปลือกแล้วมาสีตามออร์เดอร์ดูก็ได้ หรือถ้าคุณใกล้โรงสีคุณจะจัดการผลิตอย่างไรก็ตามแต่ เพียงแค่คุณต้องส่งข้าวจากพ่อแม่คุณ จากคนรอบตัวให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านตัวแทนจำหน่ายคนอื่น คือพูดง่ายๆ ลดคนกลางให้น้อยที่สุด การซื้อขายก็จะมีแค่ชาวนา คนนำขาย ซึ่งอาจจะเป็นลูกชาวนาในที่นี้และคนซื้อ ผมว่าราคาที่ผมคำนวณไว้ว่าขายแบบนี้ ยังไงก็ได้แตะหมื่นกว่าบาทต่อตันแน่นอน อย่างที่เรารู้กันเสมอ ของแพงสมัยนี้ไม่ได้แพงจากภาคการผลิต แต่แพงเพราะพ่อค้าคนกลาง เพราะกลไกตลาด เพราะปัจจัยอื่น ซึ่งส่วนมากกลุ่มที่มุ่งเอากำไรก็จะไปกดขี่ผู้ผลิตให้ขายถูกลง มุกพวกนี้จะทำลายความมั่นคงของเกษตรกร ดังนั้นผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราก็สร้างความเข้มแข็งของเศรฐกิจสังคมให้มีเสถียรภาพ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ทดลองดูก่อน” ดร.เดชรัตน์ กล่าว

​อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้กิจกรรมเพิ่งเริ่มต้น ตนและผู้สนใจทราบดีว่าข้อจำกัดคนเยอะ แต่สักพักต้องมีการพัฒนาแนวทางช่วยเหลือชาวนาต่อไป แล้วค่อยปรับเรื่องการวางแผนกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภค เพราะว่าตอนนี้ผู้บริโภคติดต่อมาเยอะกว่าลูกชาวนา อีกอย่างต้องคิดแผนรองรับความเสี่ยงสำหรับลูกชาวนาที่ทำหน้าที่คนกลางด้วย เพราะเขาต้องซื้อ ต้องลงทุนอีกขั้น ซึ่งตนจะแนะนำไปในวันที่ 30 ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตามในการดำเนินกิจกรรมนี้ตนไม่ได้หวังว่าจะมีกลุ่มก้อนอะไรชัดเจน หรือเป็นแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมเหมือนที่หลายเครือข่ายทำ แต่หวังเพียงแค่ถ้าไปได้ดี ขายได้ตามเป้าของชาวนาแต่ละคน ทุกคนพอใจในราคาซื้อขาย ก็หวังว่า แนวคิดนี้อาจจะถูกนำไปปรับใช้กับชาวสวน ชาวประมง หรือเกษตรกรคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญวิกฤติราคาพืชผลตกต่ำเกินไป

​อนึ่ง กิจกรรมดังกล่าว มีการเผยแพร่ความคืบหน้าผ่านเฟซบุ๊กส่วนบุคคลของ ดร.เดชรัตน์ และอยู่ในช่วงระหว่างการประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครกลุ่มธุรกิจโรงสีให้ช่วยรับสีข้าวในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งของลูกชาวนา โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเปิดพื้นที่ให้นิสิตและนักศึกษาขายข้าวของพ่อแม่ได้ในสถานศึกษาอีกทั้งยังมีทุนหมุนเวียนบางส่วนช่วยเหลือด้วย และขณะนี้มีหลายหน่วยงาน ติดต่อเข้ามาเรื่องสนับสนุนพื้นที่ให้ลูกชาวนาไปขายข้าวช่วยพ่อแม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีการเปิด เฟซบุ๊กเพจโดยตรงเพื่อติดตามข้อมูลโครงการต่อไป

On Key

Related Posts

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →

กสทช.ขู่เพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการทำผิดส่งสัญญาณโทรศัพท์ข้ามแดนไปยังแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย-เผยกำลังตรวจสอบเข้มทำไมหันเสาออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณRead More →