Search

อนุกก.กสม.ทำหนังสือด่วนถึงผวจ.เชียงราย ขอให้ชะลอลงมติประชาคมหมู่บ้านกรณีขอพื้นที่ป่าบุญเรืองไปใช้ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ นักวิชาการชี้ผิดกระบวนการ แนะควรเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจก่อน

received_10210112292139732

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธาน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อขอให้ชะลอการทำประชาคมหมู่บ้านในตำบลบุญเรือง อำเภอเชียง จังหวัดเชียงราย ภายหลังเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา นายอำเภอเชียงของซึ่งได้รับมอบหมายจากจังหวัดให้ทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อนำพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง 2,300 ไร่ไปใช้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามทางอำเภอแจ้งว่าในวันที่ 31 ตุลาคมจะมีการจัดประชุมประชาคมอีกครั้งโดยจะมีการลงมติด้วยบัตรลงคะแนนเพื่อชี้ขาดว่าจะมอบพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรืองให้เป็นเขตเศรษฐกิจหรือไม่

received_10210112302739997

ในหนังสือถึงผู้ว่าราชการฯระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้รับการร้องเรียนและทำการตรวจสอบกรณีกลุ่มราษฏรในพื้นที่บ้านบุญเรืองร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเนื่องจากหน่วยงานรัฐต้องการต้องการนำพื้นที่ป่าชุมชนไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 โดยที่ประชุมเห็นว่าการเลือกพื้นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ไม่ได้พิจารณาถึงศักยภาพ จุดเด่นในการพัฒนาโดยรวมของจังหวัด

ในหนังสือระบุว่า อนุกรรมการฯ มีความกังวลต่อการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมและการทำประชาคมหมู่บ้านที่จะถูกจัดขึ้นอาจนำไปสู่การขยายข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างราษฎรในชุมชนด้วยกันเองเนื่องจากกรณีดังกล่าวมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯเห็นว่า 1.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนควรสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 โดยเบื้องต้นควรมีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ

2.การทำประชาคมหมู่บ้านและการลงมติจะต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย 3.พื้นที่พิพาทเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้านและเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ได้รับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์

“เพื่อให้การดำเนินการของจังหวัดเชียงรายสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน จังหวัดเชียงรายควรพิจารณาชะลอการทำประชาคมหมู่บ้านตามที่กลุ่มผู้ร้องเรียนได้ยื่นคัดค้านไว้ออกไปก่อน และควรดำเนินการชี้แจง เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจแก่ชุมชน ประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนการลงมติประชาคมหมู่บ้าน” ในหนังสือ ระบุ

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า การจัดประชาคมเพื่อขอฉันทมติจากชาวบ้านบุญเรืองในห้วงเวลานี้ ถือเป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกกาลเทศะ เนื่องจากชุมชนกำลังร่วมกันทำงานบุญถวายเป็นพระราชกุศลต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชาวบ้านจึงไม่มีความพร้อมในการเข้าร่วมในเวที รวมไปถึงการไม่อนุญาตให้ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นนอกจากหมู่ 5 และ หมู่ 8 รวมทั้งผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านเข้าในที่ประชุม ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง ก็ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังมีลูกหลานของชาวบ้านที่ย้ายทะเบียนบ้านไปทำงานต่างจังหวัด แต่ก็ยังถือว่าเป็นคนในชุมชน ที่สุดท้ายต้องกลับมาใช้ชีวิตและตายที่บ้าน ป่าชุมชนบ้านบุญเรืองจึงถือเป็นมรดก ที่พวกเขาต้องกลับไปใช้ประโยชน์ในอนาคต

ดร.สมนึก กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการฉันทมติใหม่ โดยต้องเริ่มจากการให้ความรู้แก่ชาวบ้านก่อนว่าจะเอาพื้นที่ไปทำอะไร เพราะตอนนี้ชาวบ้านรู้เพียงอย่างเดียวว่าจะนำพื้นที่ไปทำอุตสาหกรรม จึงต้องคัดค้านไว้ก่อน แต่หากสุดท้ายต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษจริง ก็ต้องชี้แจงว่าเหตุใดจึงเลือกพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง เพราะอาจมีพื้นที่อื่นที่มีคุณค่าต่ำกว่าพื้นที่นี้ แล้วทำไมจึงไม่เลือกพื้นที่อื่นเหล่านั้น เพราะป่าผืนนี้ชุมชนช่วยกันดูแลมากว่า 200 ปี อีกทั้งปัจจุบันมีตัวอย่างการพึ่งตนเองจากหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกำลังเป็นกระแสของสังคมภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนมีการผลักดัน พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะมีกระบวนการเลือกพื้นที่อย่างเหมาะสม ซึ่งควรเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่ที่ไม่ได้มีคุณค่าการใช้ประโยชน์จากชุมชน

“คุณไปเอาป่าของชุมชนมาแล้วมันก็จะไม่มีอีก แล้วจะบอกว่าเอาป่าแลกป่าก็เป็นไปไม่ได้ ทำไมไม่เอาพื้นที่อื่นในจังหวัดเชียงราย หรือถ้าบอกว่ามีพื้นที่เดียวที่เหมาะทำอุตสาหกรรม มีอะไรที่เป็นตัวชี้วัดหรือรายงานที่บอกว่าเหมาะสม และชาวบ้านมีตัวเลขเศรษฐกิจชุมชนอยู่แล้ว เรื่องคุณค่าทางจิตใจ คุณค่าของการอนุรักษ์ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ผมคิดว่าเอาเอาเรื่องเหล่านี้มาคุยกันน่าจะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าที่รัฐจะมาแย่งพื้นที่ด้วยการทำฉันทมติแบบนี้ กระบวนการแบบนี้จึงไม่ชอบด้วยกาลเทศะและหลักกฎหมาย แล้วหากจัดการรับฟังแล้วชาวบ้านคัดค้านอีก แล้วจะมีการจัดเวทีครั้งที่ 3 อีกหรือไม่” ดร.สมนึก กล่าว

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านชุมชนตำบลบุญเรือง กล่าวว่า ตนมองว่าการจัดประชาคมครั้งนี้ไม่เหมาะสมอย่างมาก เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายออกคำสั่งจัดประชุมวันที่ 25 กว่าชาวบ้านจะทราบเรื่องก็เย็นวันที่ 26 ตุลาคมแล้ว ส่วนผู้ใหญ่บ้านที่เรียกประชุมก็ไม่ได้บอกชาวบ้านว่า จะเป็นเวทีประชาคมขอใช้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง แต่กลับแจ้งต่อลูกบ้านว่าเป็นการประชุมให้ความรู้ด้านการเกษตร จึงทำให้ชาวบ้านไม่มีความพร้อมในการตัดสินใจ แต่เมื่อถึงการประชุมทุกคนจึงทราบว่าเป็นการลงมติ ซึ่งชาวบ้านก็ยกมือไม่เห็นด้วยเกือบทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ไม่ยอมรับเสียงคัดค้านของชาวบ้าน

“อยากให้เขามองว่าเวทีประชาคมจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ทั้งสองด้าน ทั้งแง่การพัฒนาและสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ในการทำประชาคมก็ไม่มีชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันแต่ก็เป็นกลุ่มคนที่แอบนำเรื่องกลับไปให้จังหวัด ขอกลับทบทวนใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองนี้อีก โดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการปรึกษากันภายในชุมชนหรือไม่ผ่านประชาคมภายในก่อน จึงเป็นการใช้อำนาจแอบแฝง ทั้งที่หน่วยงานรัฐและชาวบ้านเคยเห็นร่วมกันว่าจะไม่ใช้พื้นที่นี้แล้ว” นายพิชเญศพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เพราะความเร่งรีบรวบรัด สิ่งที่ปรากฎขึ้นในการประชุมชาวบ้านเพื่อขอมติใช้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 และไม่สามารถลงมติได้ แต่รัฐยังดื้อดึงที่จะทำประชามติต่อในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 กรณีที่ทำให้เกิดปัญหาในที่ประชุมระหว่างลงประชามติที่สำคัญคือการพยายามให้ข้อมูลด้านเดียวของตัวแทนภาครัฐทั้งเนื้อหาไม่ชัดเจนที่จะอธิบายให้พี่น้องชาวบ้านเห็นผลดีผลเสียในสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อใช้พิจารณา เวลาที่ใช้ดำเนินการกับเรื่องสำคัญมากขนาดนี้กลับใช้เวลาสั้นๆในการดำเนินการ

“เรื่องพื้นที่เพื่อใช้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นกรณีที่สำคัญเพราะเป็นการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการพัฒนา(อุตสาหกรรม)และพื้นที่ที่จะนำไปใช้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ เกี่ยวพันถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านสัมพันธ์ถึงระบบนิเวศทั้งหมดของลุ่มน้ำอิง ดังนั้นชาวบ้านต้องมีข้อมูลทุกด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้ที่ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับชาวบ้านทั้งผลดีผลเสีย กลับอธิบายให้กับชาวบ้านแต่ในเรื่องเศรษฐกิจเช่นเงินทองจะไหลมาเทมาเข้าหมู่บ้าน ลูกหลานจะมีงานทำ ป่าจะไม่ถูกทำลาย แต่เมื่อมีผู้สงสัยถามกลับตอบไม่ชัดเจนหรือตอบไม่ได้” นายนิวัฒน์ ระบุ

นายนิวัฒน์ ระบุ กรณีลูกหลานมีงานทำนั้น เป็นวาทกรรมที่ใช้มาตลอดกับการให้ความหวังกับชุมชนในความเป็นจริงในเรื่องแรงงานนั้น การส่งเสริมหรือยกเว้นเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีเรื่องการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทำงานในเขตพัฒนาได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่พูดให้ชาวบ้านได้รับรู้ ชาวบ้านบางคนยังหลงคิดว่าลูกหลานจะมีงานทำไม่รู้ว่าแรงงานต่างชาติที่ค่าแรงงานถูกจะเข้ามา แต่ที่สำคัญกรณีในที่ประชุมไม่สามารถลงมติได้เพราะ การรับรู้ของพี่น้องชาวบ้านจากกรณีตัวอย่างพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านสื่อต่างๆว่ามีปัญหามากมายที่เกิดขึ้น ทั้งด้านมลพิษ ด้านสังคม อาชญากรรม

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ บรรยากาศหลังการประชุมมีความแตกแยกเกิดขึ้นในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งฝ่ายผู้นำที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เรื่องราวอาจบานปลายมากขึ้น หากภาครัฐยังไม่ยั้บยั้งหรือชะลอการทำประชามติเอาไว้ก่อน บรรยากาศบ้านเมืองเป็นอย่างนี้หากประชาชนทะเลาะกันจนเลือดตกยางออก มันจะยิ่งไปกันใหญ่” นายนิวัฒน์ ระบุ

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →