Search

กิจกรรม “ลูกชาวนาซับน้ำตาพ่อแม่” คึกคัก หลายฝ่ายร่วมหนุนแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เตรียมขยายเครือข่ายผ่านโลกออนไลน์ ดึงผู้บริโภค-ผู้ค้า-เกษตรกร ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

received_1237037849672831

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน ได้มีเวทีจัดประชุมกิจกรรม “ลูกชาวนา ซับน้ำตาพ่อแม่” เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นลูกชาวนารุ่นใหม่ พร้อมเปิดตัวเฟซบุ๊กเพจเคลื่อนไหวกิจกรรมของเครือข่ายรูปแบบใหม่ ชื่อ “ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ” www.facebook.com/ลูกชาวนา-ได้เวลาช่วยพ่อ-205070099919258/?fref=ts เพื่อประสานงานเครือข่ายต่างๆ ทั้งผู้ขาย โรงสี กลุ่มขนส่ง กลุ่มเอกชนที่หนุนทุนหมุนเวียน และกลุ่มผู้ซื้อ ได้มาทำงานร่วมกันบนเครือข่ายออนไลน์ โดยมีลูกชาวนาและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกันอย่างคึกคักกว่า 200 คน

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ริเริ่มกิจกรรม กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างกลุ่มผู้สนใจจะช่วยเหลือชาวนา และกลุ่มชาวนาตลอดจนลูกหลาน ให้มาพบกันกับตัวตนจริงๆ แล้วร่วมเจรจาแผนงานกันอย่างอิสรเสรี โดยคณะเศรษฐศาสตร์ได้เชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์หลายด้านเข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้ดำเนินการรายใหม่ ที่ยังสับสน สงสัย และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นวางแผนการผลิต จัดการข้าวอย่างไรให้ได้มาร่วมรับฟังกัน แต่แล้วจะปรับใช้อย่างไรก็ได้ตามใจชอบ แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงมาก การอบรมครั้งนี้ก็จะเป็นประตูเปิดทางให้ได้เรียนรู้กัน และสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก “ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ” อีกครั้ง

ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า หลังจากการเปิดกิจกรรมวันนี้ คาดว่าเครือข่ายจะได้ติดต่อกันต่อไป ทั้งนี้อยากย้ำว่า การแก้ปัญหาเราได้แนวคิดนี้จากหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นการ “ระเบิดจากข้างใน” และอุ้มชูกันเอง คนกินกับคนปลูกช่วยกัน ทำแบบพอดีตัว และไม่ต้องมารวมศูนย์ที่เกษตรศาสตร์หรือธรรมศาสตร์ อยากให้พวกเราทำด้วยหัวใจที่พองโต

“เป้าหมายวันนี้เราเน้นว่าลูกชาวนาจะต้องทำอย่างไรก่อน ยังไม่ได้ไปถึงในแง่นโยบายแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ แต่ ณ วันนี้เราวางเป้าหมายที่การช่วยเหลือลูกชาวนา เราไม่ได้เน้นราคาที่ปลายทาง แต่เน้นที่ราคาต้นทาง เช่น ข้าวหอมมะลิจาก 9,000 บาทต่อตัน สามารถกระเถิบไปที่ 15,000 บาทต่อตัน หรือข้าวขาวขายได้ที่ 8,000 บาทต่อตัน และเชื่อว่าในระยะสั้นเราจะสามารถหยุดกระแสการรีบขายข้าวในราคาต่ำของชาวนาได้ รวมทั้งช่วยให้ราคาจากยุ้งฉางไม่ตกต่ำลงไปกว่านี้” ดร.เดชรัตน์ กล่าว

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวอยากให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ความร่วมมือ ล่าสุดเราได้รับข่าวดีจากสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์เตรียมให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดเปิดพื้นที่ขายให้ รวมทั้งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และธรรมศาสตร์ก็จะเป็นพื้นที่ขายได้ เรื่องเงินทุนหมุนเวียนก็สำคัญ ชาวนาจะทำได้ต้องมีเงินไปจับจ่ายก่อน เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศแล้วว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือนักศึกษาโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรกร

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด วิทยากรรับเชิญ ได้เล่าประสบการณ์ตรงบอกว่า ปัญหาหนึ่งคือเกษตรกรไม่มีอำนาจการต่อรอง ไม่ทราบราคาจนกว่าจะเอาข้าวไปที่โรงสี ทุกวันนี้มี 3.7 ล้านครัวเรือนที่เป็นชาวนา หากเราแก้ปัญหาชาวนาไม่ได้มันจะเป็นวิกฤต โจทย์นี้เราควรจะหาทางแก้ แม้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่มันควรจะดีขึ้น ตนเองพยายามหลายครั้งจะตีโจทย์เรื่องราคาข้าว ซึ่งแปลกมาก ข้าวเปลือกราคาถูก แต่ข้าวสารราคาแพง แต่ลึกๆ คิดว่า ที่แพงเพราะนายทุนคำนวณราคาถุง เครื่องอบ และเครื่องแยก หลายๆ อย่าง ซึ่งข้าวถุงที่ว่า ส่วนมากเป็นข้าวขาว ที่มีมาตรฐานเหมือนกันชนิดที่ว่า อัจฉริยะตรงที่เม็ดเต็ม ไม่แตกไม่หัก และไม่มีเม็ดสีอื่นปน เพราะเครื่องที่คัดเมล็ดพอตรวจเจอปุ๊บก็คัดทิ้งปั๊บ และเมื่อนำมาขายก็กลายเป็นกระแสที่มีผลต่อผู้บริโภคที่ไปผูกติดกับคุณภาพข้าวมากเกินไป จนลืมไปว่าแท้จริงคุณค่าสำคัญกว่า อย่างกรณีข้าวจักรพรรดิญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 3,400 บาท ซึ่งมีการสร้างเรื่องราวว่าปลูกมานาน โดยใคร และมีจุดเด่นอย่างไร ตรงนี้เรียกว่าการสร้างแบรนด์ของตนเองซึ่งพอติดหูผู้บริโภคแล้ว พวกเขาก็จะไม่ใส่ใจว่า ข้าวต้องมีเมล็ดสีอะไร และมีลักษณะมาตรฐานอย่างไรบ้าง

“ส่วนตัวตนไม่กังวลเรื่องคุณภาพข้าว เพราะข้าวที่เรากินทุกวันนี้เป็นคุณภาพข้าวถุง เครื่องสีข้าวที่ใช้มาตรฐานสูงมาก ขัดข้าวขาวมาก ขณะที่ข้าวจากโรงสีชุมชนจะออกเหลือง แต่หุงออกมาก็ขาวเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องหามาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่ลูกชาวนาจะสีข้าวได้ออกมาเหมือนข้าวถุงซึ่งถ้าทำได้ขนาดนั้น ค่าใช้จ่ายสูงมาก ผมมั่นใจว่าถ้าลูกชาวนาทำแบรนด์เอง ปีแรกอาจจะมีปัญหาเรื่องกรวดเรื่องมอด แต่การขายคนรู้จักขายเพื่อนในออฟฟิศถ้าทำสัก 3 ปีจะพัฒนามาตรฐานขึ้น เกิดเป็นสตอรีที่มาของข้าวจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวอีกด้วย ตอนนี้ขอเสนอว่า กลุ่มที่มาฟังร่วมกันวันนี้อยากให้พัฒนาข้าวลูกชาวนาไปจนถึงจุดที่ดีให้ได้ เช่น กรณีข้าวหอมมะลิ ที่เคยเป็นอันดับหนึ่ง เป็นระดับพรีเมี่ยม คือช่วงหนึ่งประเทศไทยค้นพบข้าวหอมมะลิก่อน ข้าวหอมนั้นมีความหอมมากๆ ที่หอมไกล ซึ่งตัวผมเองไม่ได้กินข้าวแบบนั้นนานแล้ว เพราะปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวชนะการประกวดข้าวโลก เนื่องจากสามารถทำผลผลิตต่อไร่สูง แต่ไม่มีกลิ่นหอมฟุ้งเหมือนเมื่อก่อน หรือถ้ามีจุดเด่นอื่นๆ ก็ลองค้นหาดู เผื่อจะสร้างมูลค่ามากขึ้น” นายสมบัติ กล่าว

ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่เห็นการริเริ่มแนวคิดของคณะเศรษฐศาสตร์ มก.วันนี้ และอยากจะคุยเพื่อร่วมสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนด้วย ส่วนตัวมองว่าเป็นการริเริ่มแนวคิดที่ดี แต่ว่าอยากเสนอให้ทางผู้เข้าร่วมและผู้คิดจะดำเนินการกิจกรรมต่อไป ได้มีการทำฐานข้อมูล หรือแหล่งข้อมูลไว้สักหน่อย เพื่อให้มีการพัฒนาต่อไปได้ ที่ผ่านมามีคนถามถึงกิจกรรมการเกษตรที่ลำปางเช่นกัน ต้องบอกก่อนเลยว่า ส่วนตัวไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเสพติดหรือบริโภคข้าวขาวเลย และเชื่อว่าผู้บริโภคที่จะเข้ามาซื้อก็จะมีหลายกลุ่มแตกต่างกันไป หลังจากกิจกรรมนี้แพร่ขยายไป แต่เชื่อว่า ข้าวที่เรียกว่า Brown Rice ก็ไม่ได้ตกยุคนะ อย่างล่าสุดกรณีที่ลำปางนั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้คุยกับตัวแทนผู้ซื้อของจีน ก็พบว่า ยังต้องการ Brown Rice อยู่ ตนจะนำข้อมูลไปเจรจาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและอาจจะพอมีกิจกรรมนำร่องบริโภคข้าวดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนก็ได้ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า ถ้าทุกคนพัฒนาคุณภาพได้ แม้ไม่เป๊ะเหมือนทุนใหญ่ ก็มีหนทางในการพัฒนาศักยภาพของข้าวไทยได้อยู่ดี ที่สำคัญ คือ ต้องรู้แหล่งขาย

ขณะที่นายพงษ์พัฒน์ สุขอาบใจ เกษตรกรและผู้จำหน่ายข้าวจากฟาร์มสุขอาบใจ ผู้มีประสบการณ์รวมกลุ่มกับญาติปลูกข้าวเองและจำหน่ายเอง กล่าวว่า ตนและสมาชิกกลุ่มรวมตัวกันเองจากที่นาไม่กี่ไร่แล้วขยายออกไปเป็นร้อยไร่ เพื่อปลูกข้าวขายและจัดจำหน่ายเอง ซึ่งเริ่มมาได้หลายปีแล้ว ก็พบปัญหาหลายอย่าง ราคาข้าวที่ได้ก็ใช่ว่าจะคงที่ บางช่วงก็รายได้ดี บางช่วงรายได้ตก แต่มาปีนี้นับว่าวิกฤติที่สุด และสิ่งหนึ่งจะเตือนลูกๆ ชาวนาและชาวนาผู้สนใจขายว่า อย่าลงทุนเยอะ ให้ทำตามกำลังก่อน แต่ไม่ต้องไปคิดการใหญ่ หากทำได้ดีแล้วค่อยพัฒนาขยายกิจการต่อไปและเชื่อว่า คนไทยมีความต้องการบริโภคที่หลากหลาย ถึงอย่างไรก็ต้องมีการปรับปรุงสินค้าเสมอ อย่างของตนก็มีทั้งแปลงข้าวปกติ แปลงข้าวอินทรีย์ ข้าวไรส์เบอรี่ด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้อยู่รอด

//////////////////

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →