Search

คนตำบลบุญเรืองลงมติไม่เห็นด้วยให้รัฐบาลใช้พื้นที่ป่าชุมชนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ บรรยากาศการลงคะแนนวุ่น จนต้องระงับไป 1 หมู่ เจ้าหน้าที่เข้มพกปืนคุม ชาวบ้านเตรียมเช็คบิลผู้ใหญ่บ้านนอกใจ กสม.แนะนายกฯหากยังไม่มั่นใจผลดีมากกว่า อย่าเลือกพื้นที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์

received_1237955602914389
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ชาวบ้านตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใน 4 หมู่บ้านลงประชามติไม่ยอมให้ทางการนำพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 2,322 ไร่ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย โดยมีจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์ 751 คน ไม่เห็นชอบให้นำพื้นที่ป่าชุมชนไปใช้ 390 คะแนน เห็นชอบ 317 คะแนน บัตรเสีย 44 ใบ ทั้งนี้การลงคะแนนเริ่มตั้งแต่เวลา 8.30 น. ที่ศาลาประชาคมหมู่ 1 หมู่ 10 หมู่ 5 และหมู่ 8

received_1237955916247691

การลงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการรวบรัดเพราะไม่มีการให้ข้อมูลรอบด้านกับประชาชนในพื้นที่ โดยทางจังหวัดได้ใช้กลไกปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แม้จะมีการเสนอให้เลื่อนการลงประชามติออกไปก่อน แต่ทางการยังคงเดินหน้า ทำให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งชัดเจนโดยทางการได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองหมู่บ้านพร้อมอาวุธปืนมาคอยดูแลความเรียบร้อย

ทั้งนี้การลงประชามติที่หมู่ 1 ได้มีชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติกว่า 100 คน มายืนพูดคุยกันอยู่หน้าศาลาประชาคมซึ่งกำลังมีการลงคะแนนลับของคนในหมู่บ้าน และได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการลงคะแนนลับ ขณะเดียวกัน นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และคณะได้ร่วมสังเกตการณ์การลงคะแนนลับ พร้อมส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอชะลอการทำประชาคมทั้ง 4 หมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอจึงได้ยุติการลงคะแนนลับในหมู่ 1 เพื่อยุติปัญหาที่เริ่มชุลมุนหน้าศาลาประชาคม ขณะที่ส่วนหมู่ 5 กับ หมู่ 8 และหมู่ 10 ยังคงดำเนินการต่อไปจนถึง 12.00 น.

received_1237955076247775

หลังจากยุติการลงคะแนนลับ ชาวบ้านหมู่ 1 ได้ร่วมกันลงชื่อยื่นปลดผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ออกจากตำแหน่ง โดยได้ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือให้รักษาการนายอำเภอเชียงของ ด้วยสาเหตุความไม่พอใจผู้ใหญ่บ้านของตนลงชื่อร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหมู่อื่น ๆ และกำนัน เสนอให้จังหวัดมาทบทวนการใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของชาวบ้านส่วนใหญ่

นายประเสริฐ กาสม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.บุญเรือง กล่าวว่า การลงชื่อที่ส่งไปยังอำเภอนั้นเป็นการทำในฐานะคนของรัฐ ซึ่งทางกำนัน ต.บุญเรือง ได้เรียกประชุมผู้ใหญ่บ้าน แล้วมีหนังสือมาให้เซ็นเพื่อส่งให้อำเภอ ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่จึงเซ็น ยกเว้น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ที่ไม่ได้มาร่วมประชุม ซึ่งมีแนวทางไม่เห็นด้วย และทางหน่วยงานก็ตัดพื้นที่นสล.ที่อยู่ในความดูแลของหมู่ 2 ออก

นายบุญผาย เนตรธิยา กำนันตำบลบุญเรือง กล่าวว่า การลงชื่อในหนังสือที่ลงนามโดยผู้ใหญ่บ้านและกำนันที่ยื่นผ่านอำเภอไปยังจังหวัดนั้น เป็นเพียงการสนับสนุนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการยกที่นสล.

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านชุมชนบุญเรือง กล่าวว่า การที่ชาวบ้านหมู่ 1 ว่าไม่ยอมรับการลงประชามติในครั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านทั้งหมู่ 1 และหมู่ 10 เคยแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ยินยอมไปแล้วตั้งแต่เวทีวันที่ 27 ตุลาคม จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องให้ชาวบ้านมาออกเสียงอีก และยังเป็นการลงคะแนนลับด้วยบัตรออกเสียงที่ระบุเพียงว่ายินยอมหรือไม่ยินยอม โดยที่ไม่ได้ชี้แจงกับชาวบ้านก่อนว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ต้องใช้พื้นที่ของป่าชุมชนส่วนไหนบ้าง และมีกระบวนการจัดการผลกระทบอย่างไรบ้าง หรือมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งไม่มีคำตอบให้ชาวบ้านเลย อีกทั้งยังรีบเร่งจัดกรับฟังความคิดเห็น จึงเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งมติของ 3 หมู่บ้านที่ออกมาว่าไม่ยินยอม ก็ไม่มีการชี้แจงกับชาวบ้านว่าจะเป็นผลสรุปที่จะส่งไปให้จังหวัดและรัฐบาลหรือไม่ ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านก็เอาชุมชนไปอ้างว่าต้องการให้นำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก็ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของชาวบ้าน จึงต้องการให้ปลดผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 และไปส่งหนังสือที่อำเภอ แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ยอมรับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน

ดร.สมนึก จงมีวศิน อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีความผิดปกติหลายอย่าง โดยเฉพาะรูปแบบ ขั้นตอนของการลงคะแนน ความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน รวมไปถึงบรรยากาศในชุมชนที่ไม่เอื้อต่อการจัดการลงประชามติในครั้งนี้ โดยเฉพาะหน่วยลงคะแนนหมู่ 1 ชาวบ้านแสดงความไม่พอใจถึงขั้นล้มเวที เนื่องจากพบความไม่ชอบมาพากล จนเจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้เวทีนี้เป็นโมฆะ

“ไม่มีการติดแสดงใบรายชื่อผู้มีสิทธิ์ที่หน้าคูหา แต่ให้ชาวบ้านถือบัตรประชาชนไปรับบัตรออกเสียงได้เลย แล้วดูแค่ว่าอยู่หมู่บ้านไหน ก็จะให้ลงชื่อหรือปั้มลายนิ้วมือโดยไม่มีการบันทึกเลขบัตรประชาชน ส่วนบัตรออกเสียงก็แปลกมากเพราะไม่ระบุเลขแต่ละใบไว้ มีแค่สองช่องให้เลือกว่ายินยอมหรือไม่ยินยอมเท่านั้น และคำอธิบายใดๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อธิบายให้ชาวบ้านทราบว่าต้องกากบาทหรือกาถูกอย่างไร ทำให้ปลอมบัตรออกเสียงได้ง่ายมาก” ดร.สมนึก กล่าว

ดร.สมนึก กล่าวต่อว่า ส่วนที่หมู่ 5 และหมู่ 8 เป็นหน่วยลงคะแนนที่มีบรรยากาศตึงเครียด เพราะมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) และกำนันของตำบลบุญเรืองถือปืนลูกซองยืนดูแลความเรียบร้อย ซึ่งทำให้ไม่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นเหมือนที่หมู่ 1 แต่ได้พบปัญหาของบัตรลงคะแนนและไม่ติดแสดงรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านที่มาใช้สิทธิ์พบว่าบางคนใช้วิธีขีดกากบาท แต่บางส่วนใช้ขีดถูก และมีชาวบ้านจำนวนมากที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีการอธิบายให้ทราบขั้นตอน จึงคิดว่าประชาคมครั้งนี้เป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมและดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง และน่าจะมีบัตรเสียจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่มีการระบุว่าตจะมีการนัยรวมผลคะแนนหรือแยกนับแต่ละหมู่บ้านอย่างไร และจะนำคะแนนวันนี้ไปนับรวมกับการออกเสียงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมด้วยหรือไม่

“ผมถามว่าทำไมไม่ทำเอกสารให้พร้อม กำนันบอกว่าทั้งหมดอำเภอเป็นผู้จัดการ และชาวบ้านส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าต้องกากบาท แต่ถ้ากาเครื่องหมายถูกก็จะเป็นบัตรเสีย ส่วนเจ้าหน้าที่จากอำเภอก็บอกว่าที่ไม่มีใบแสดงรายชื่อ เพราะเวทีนี้จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนและเป็นแค่ประชาคมระดับหมู่บ้านเท่านั้น และที่สำคัญชาวบ้านที่อ่านหนังสือไม่ออกจะรู้ได้อย่างไรว่าช่องไหนคือยินยอมหรือไม่ยินยอม” ดร.สมนึก กล่าว

ขณะที่นางเตือนใจกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่อนุกรรมการฯประชุมร่วมกับจังหวัดเชียงราย เห็นว่าเป็นที่ชุ่มน้ำ และเป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติ เป็นความมั่นคงด้านอาหารของคนบุญเรือง และห้วยซ้อ และให้สิทธิชุมชนในการรักษา เข้าใจแล้วว่า จังหวัดได้เห็นชอบร่วมกันแล้วว่าไม่ใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองแล้ว ปรากฏว่าวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้ตัวแทนมาชี้แจงให้กับชาวบ้าน 4 หมู่บ้านอีก ซึ่งอนุกรรมการฯได้ตรวจสอบตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ทราบว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น จึงเห็นว่าควรชะลอการทำประชาคมไว้ก่อน และทำหนังสือเสนอทางผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว เห็นว่าชาวบ้านยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ ส่วนจะทำตามกฎหมายของกรมการปกครองท้องถิ่นนั้น เฉพาะพื้นที่หมู่บ้านที่ดูแลที่ นสล.นั้น ทางอนุกรรมการฯเห็นว่า การใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองที่กระทบถึงสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและพื้นที่วงกว้าง ควรใช้วีธีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นการมองได้รอบด้านกว่า

“ในฐาน กสม.ที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ขอเรียนท่านพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการผู้จัดหาพื้นที่ว่า ถ้ายังไม่ชัดเจนว่าใครจะมาลงทุน และลงทุนอะไร หรือผลดีเชิงบวกมากกว่าประชาชนในพื้นที่ ก็ไม่ควรเลือกพื้นที่ที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์ไปใช้”นางเตือนใจ กล่าว

ทั้งนี้ผลนับคะแนน 3 หมู่บ้าน รวมแล้วไม่เห็นด้วยมากกว่าคนเห็นด้วย โดยหมู่ 5 เห็นชอบ 131 คน ไม่เห็นชอบ 172 คน บัตรเสีย 13 ใบ หมู่ 10 เห็นชอบ 71 คน ไม่เห็นชอบ 83 คน หมู่ 8 เห็นด้วย 114 ไม่เห็นด้วย 135 บัตรเสีย 18 ใบ
////////////

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →