
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นายเลื่อน ผิวผ่อง กำนันตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า แม้จะเข้าสู่หน้าแล้งที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงแห้งลงมาก แต่ยังพบว่าสวนกล้วยหอมขนาด 2,700 ไร่ของบริษัทเอกชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิง บริเวณวังดินแดง ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ยังคงสูบน้ำเข้าไปใช้ในสวนกล้วยหอมตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลว่าหากยังปล่อยให้มีการสูบน้ำเช่นนี้ จะทำให้แม่น้ำอิงแห้งและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาน้ำในการเกษตร เหมือนที่เคยมีบทเรียนในปีที่ผ่านมา ตอนนี้ชาวบ้านจึงทำได้เพียงทำฝายขนาดเล็กเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเพียงพอหรือไม่
“สวนกล้วยยังสูบน้ำอยู่ตลอด แต่ยังดีที่ 2-3 วันนี้มีฝนตกลงมาช่วยได้บ้าง จริง ๆ แล้วหลังเกิดปัญหาสวนกล้วยเมื่อปีที่แล้ว ทุกฝ่ายก็ได้ทำข้อตกลงการใช้น้ำร่วมกัน ที่หากระดับน้ำลดลงต่ำกว่าที่กำหนดก็ต้องห้ามสูบน้ำ แต่ตอนนี้ก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาติดตั้งระดับน้ำ ไม่มีการเข้ามาดูปริมาณน้ำ ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ปล่อยชาวบ้านรับมือกันตามยถากรรม” นายเลื่อน กล่าว

นายเลื่อน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของสารเคมีก็ต้องการให้หน่วยงานเข้ามาเก็บข้อมูลไปตรวจสอบ รวมไปถึงการขุดบ่อบาดาลจำนวนมากเพื่อนำน้ำมาใช้ของสวนกล้วย เพราะระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านไปร้องเรียนทุกหน่วยงานแล้ว แต่กลับไม่ได้เข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง ชาวบ้านจึงมองว่ามีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยงข้องหรือไม่ ทำให้ไม่มีการเข้ามาตรวจสอบ
นางสุทัศน์ ประเสริฐสังข์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านปางมดแดง ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ขณะนี้มีนายทุนเข้ามาซื้อที่ดินประมาณ 400 ไร่ บริเวณริมแม่น้ำอิง ฝั่งอำเภอจุน ที่เป็นรอยต่อระหว่าง 2 อำเภอ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการปลูกกล้วยหอมในแปลงเริ่มต้นประมาณ 30 ไร่ มีการต่อท่อสูบน้ำจากแม่น้ำอิง โดยเท่าที่สังเกตจากภายนอกต้นกล้วยหอมโตสมบูรณ์ดี คาดว่าน่าจะให้ผลผลิตได้ในปีนี้ และได้ยินมาว่าจะมีการขยายแปลงปลูกกล้วยหอมในปีนี้
“ตอนนี้เริ่มกังวลแล้วว่า หากทำสวนกล้วยหอมขนาดใหญ่ก็อาจจะส่งผลกระทบ ทั้งเรื่องน้ำและสารเคมีที่ใช้ แม้ชาวบ้านสวนใหญ่จะยังไม่รู้เรื่อง แต่กลุ่มผู้นำชุมชนเคยไปประชุมร่วมกับเครือข่ายลุ่มน้ำอิง ซึ่งได้เห็นผลกระทบจากการปลูกกล้วยหอมที่พญาเม็งราย และเห็นข่าวปัญหาสวนกล้วยหอมจีนในลาว เราก็ยังไม่รู้ว่ากล้วยหอมที่นำมาปลูกที่นี่ เป็นชนิดเดียวกับที่เกิดปัญหาหรือไม่ ก็อยากให้มีการตรวจสอบและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ชาวบ้านด้วย เพราะจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา” นางสุทัศน์ กล่าว
นางสุทัศน์ กล่าวว่า ทางชุมชนของเราเคยพยายามเข้าไปฝั่งตรงข้ามในพื้นที่สวนกล้วยหอม เพื่อสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านแต่ก็ไม่ได้ความร่วมมือ เพราะชาวบ้านบางส่วนก็ไปทำงานรับจ้างในสวนกล้วย อยากจะขอให้หน่วยงานเข้าตรวจสอบก็เป็นพื้นที่คนละอำเภอ แต่จริงๆ แล้วผลกระทบมาถึงเราเพราะพื้นที่ติดกัน อีกทั้งตอนนี้เริ่มมีกระแสสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่นให้ปลูกกล้วยหอมแล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนเลย โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากสวนกล้วยหอมในพื้นที่อื่นๆ
อนึ่ง เมื่อฤดูแล้ง 2559 ชาวบ้านในตำบลบ้านต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกสวนกล้วยหอมของบริษัท Hongtar International Thailand จำกัด ซึ่งเป็นของนักธุรกิจชาวจีน ที่ปลูกกล้วยหอมนับพันไร่อยู่ริมแม่น้ำอิง ในเขตอำเภอพญาเม็งราย แย่งน้ำในแม่ในอิงไปใช้ในการเกษตร จนทำให้น้ำดิบที่ใช้ทำน้ำประปาของชาวบ้านขาดแคลน นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการใช้สารเคมีเนื่องจากมีบทเรียนจากในประเทศลาวที่นักธุรกิจชาวจีนเข้าไปลงทุนทำสวนกล้วยหอมในหลายแขวงและได้ใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรงจนในที่สุดทางการลาวประกาศห้ามการทำสวนกล้วยหอม
ทั้งนี้ภายหลังจากที่ชาวบ้านอำเภอพญาเม็งรายออกมาโวยวาย ซึ่งต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาระบุว่า การทำสวนเกษตรในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลว่าได้มีการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ แต่ต่อมาสวนกล้วยหอมดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนพญาเม็งราย จำกัด โดยทางผู้ประกอบการอ้างว่ามีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และได้ดำเนินกิจการปลูกกล้วยหอมเหมือนเดิม และล่าสุดยังคงสูบน้ำจากแม่น้ำอิงไปใช้เหมือนปีที่ผ่านมา
—————–
/////////////