เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 เวลา 15.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีกิจกรรม “จากบิลลี่ ถึงชัยภูมิ ใจแผ่นดินไม่ยอมแพ้” เพื่อรำลึกถึงนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้ชาวปกาเกอะญอ บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในโอกาสครบรอบ 3 ปี การสูญหาย และครบรอบ 3 สัปดาห์ กรณีนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมทางสังคมชาวลาหู่ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
สำหรับบรรยากาศภายในงานนั้น มีการฉายหนังสารคดีเรื่อง “รอยเท้าของเรา”, นิทรรศการภาพถ่ายของ “บิลลี่” และ ”ชัยภูมิ”, การแสดงดนตรีโดยวงคีตาญชลี พร้อมกับนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่และลูก, วงคลองเตยดีจัง ฯลฯ รวมทั้งกิจกรรมเชิญผู้ร่วมงานทำ “อ่อเวะ” (ดอกลาหู่) เพื่อนำไปผูกที่บ้านผักปิ้ง บ้านเกิดของชัยภูมิฯ ในโอกาสต่อไป เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้กำลังใจชาวลาหู่ในชุมชนชองชัยภูมิ จากนั้นเป็นการกล่าวปาฐกถา “ยุติ ! กระบวนการนอกระบบยุติธรรม” โดยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
นางอังคณา กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 3 ปี การบังคับสูญหายกรณีบิลลี่ และครบ 3 สัปดาห์ การจากไปของชัยภูมินั้น ขอวิเคราะห์ตามหลักยุติธรรมในประเทศไทยเลยว่า ทั้งสองกรณีนั้นไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประเทศไทยได้จริง เพราะการติดตามคดีของทั้งสองคนนั้น กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงตลอด สิ่งสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทยที่เป็นเช่นนี้เพราะการใช้อำนาจบางอย่างที่เป็นการควบคุมหลักกฎหมาย ขาดหลักพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งถ้าไทยปราศจากความยุติธรรม สังคมนั้นจะขาดความสงบสุข
นางอังคณา กล่าวต่อว่า ความชอบธรรมในการใช้อำนาจในสิทธิมนุษยชน ในบางสังคมต้องมีการระบุจริยธรรม ระบุธรรมาภิบาลชัดเจน แต่ไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังคงมีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมอยู่ในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นหลายทศวรรษ เช่น การข่มขู่ คุกคาม การทรมาน ในสถานที่ต่าง ๆ มากมาย แต่ทุกครั้งที่มีเหยื่อเกิดขึ้น เหยื่อบางรายกลับไม่มีโอกาสต่อสู้ บางครั้งมีภาคการเมืองมาแทรก บางกรณีจึงถูกบริบทการเมืองเข้าใช้อำนาจเกินควร เช่น ใช้อำนาจในการกำจัดผู้ต้องสงสัย ถือเป็นการกระทำนอกเหนือจริยธรรม สะท้อนระบบยุติธรรมที่อ่อนแอ หลายครั้งที่มีเหยื่อแบบนี้เกิดขึ้นแต่มีฝ่ายมีอำนาจเข้ามาคุ้มกัน คุ้มครองเพิ่มเติม ทำให้เหยื่อความรุนแรงถูกตีตราว่าผิดและไม่ได้รับความชอบธรรม
นางอังคณากล่าวต่อว่า กรณี “บิลลี่” นั้น หลายครั้งที่ฝ่ายญาติ ภรรยาพยายามขอให้ตำรวจติดตามคดี แต่เราพบว่าศักยภาพของพวกเขาไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดการทำงานของตำรวจได้ เช่น ร้องขอให้สืบสวนสอบสวนนั้น แรก ๆ เลยภรรยาบิลลี่ไม่สามารถร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำงานได้ เพราะติดขัดว่าไม่ใช่ภรรยาในกฎหมาย เพราะไม่มีการจดทะเบียนสมรส ส่วนกรณี “ชัยภูมิ” นั้น หลักการแสดงข้อเท็จจริงนอกจากไม่ถูกนิติธรรมแล้ว ยังพบว่าเจ้าหน้าที่มีการสร้างวาทกรรมในการพิสูจน์ โดยระบุว่า “ชัยภูมิ” คือผู้ค้ายา ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม แต่เขาถูกยิงตายแล้ว และเจ้าหน้าที่ที่กระทำก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร กรณีนี้จะเห็นว่ามีการตรากฎหมายไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด การงดเว้นโทษเพื่อเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย เรื่องนี้รัฐต้องระลึกว่า เมื่อมีเหยื่อเกิดขึ้น รัฐต้องอำนวยให้ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายประชาชนได้มีสิทธิจะเปิดเผยความจริง ไม่ใช่สร้างความจริงขึ้นมา กรณีชัยภูมินั้น การเข้าถึงสิทธิมีความซับซ้อนมากเพราะเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ ทำให้เกิดการตีตรา เช่น ลาหู่ทั้งหมดถูกสร้างความเชื่อว่าเป็นผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
“ดิฉันผิดหวัง ที่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ไม่ผ่าน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และอยากให้สิทธินี้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เมื่อ พรบ.ยังไม่ผ่าน ในโอกาสนี้ดิฉันขอยืนข้างครอบครัวของพวกเขา และคิดว่าเราจะไม่ทิ้งเหยื่อหรือผู้เสียหายตามลำพัง เราควรเดินไปด้วยกัน” นางอังคณา กล่าว
ด้านนางสาวพิณนภา กล่าวว่า สำหรับคดีความของบิลลี่ นั้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้สอบสวนแม่ของบิลลี่เพิ่มเติม และหวังว่าจะรับเป็นคดีพิเศษโดยเร็ว ทั้งนี้ที่เจ้าหน้าที่ต้องสอบสวนข้อมูลจากแม่เพราะว่าตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่ และรู้สึกสึกเศร้าใจกับการจากไปของ “ชัยภูมิ” ยอมรับว่าตั้งแต่เขาจากไปตนเองก็หายใจไม่เต็มปอด