Search

เสียงของแรงงานนอกระบบ กับระบบสุขภาพสุดเหลื่อมล้ำ

เสื้อกักประจำกลุ่มของ “อ๊อด สำเภาแก้ว” วัย 55 ปี คือ สัญลักษณ์เดียวที่แสดงว่า เขามีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือที่เรียกกันว่าวินมอเตอร์ไซต์ แต่ไม่มีใครรู้ว่า เงื่อนไข ข้อจำกัด สิทธิ อะไรบ้างที่ “อ๊อด” ต้องเจอมาตลอดเวลา15 ปี ของการประกอบอาชีพนี้ ในเขตพื้นที่อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

ในปี 2558 “อ๊อด” ร่วมกับ “โครงการลด ละ เลิกบุหรี่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของกลุ่มอาชีพอิสระ” กระทั่งวันนี้เริ่มสูบน้อยลงและบางวันไม่สูบเลย เขาหวังอย่างยิ่งว่าจะลดโรค และสร้างสุขภาพที่ดีขึ้น

เขาเริ่มรู้สึกดีกับชีวิตประจำวันที่ปลอดบุหรี่และมีความสุขกับการประกอบอาชีพสุจริตนี้อย่างมาก เขาจึงมักหาเวลาว่างไปตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย แต่โดยส่วนมากคนขับขี่มักไม่มีวันหยุด เขาจึงต้องพบเจอกับมลภาวะในเมืองใหญ่ไม่เว้นแต่ละวัน บางวันจึงเกิดอาการภูมิแพ้ หอบ และเหนื่อยง่าย กระทั่งอาการผื่นคันตามผิวหนังมีให้เห็นบ้างเป็นระยะๆ และต้องเข้าไปพบหมอเพื่อตรวจรักษา แต่เพราะระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องแบกรับภาระผู้ป่วยนอกจำนวนหลายพัน หลายหมื่นราย ทำให้เขาต้องเสียเวลาไปเป็นวันๆ เพื่อเข้าคิวรอรับบริการ และถึงแม้เขาจะรับบริการภายใต้สิทธิบริการสุขภาพตามหลักประกันสังคม มาตรา 40 แต่ก็ยังไม่เท่าเทียมอาชีพอื่นทีเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ดี เพราะในระหว่างเจ็บป่วยนั้นอาชีพรับจ้างอย่างเขาต้องหยุดงานและไม่มีเงินค่าชดเชยรายได้

“หยุดทำงาน1 อาทิตย์ ผมก็ต้องจ่ายกับจ่ายครับ ไม่ได้อะไรคืนมา” อ๊อดสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตแรงงานนอกระบบอย่างเขา

ชายวัย 55 ปีผู้นี้พยายามเก็บเล็กผสมน้อย หารายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2,000-3,000 บาท และก็ยังแบ่งเวลามาเพื่อขับเคลื่อนสิทธิของแรงงานนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยล่าสุดในงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 ว่า การสร้างหลักประกันและลดความเหลื่อมล้ำถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งสสส.,กระทรวงแรงงาน และตัวแทนแรงงาน จากกรุงเทพมหานครและอีก 15 จังหวัด ได้ลงนามร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานกลุ่มดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า หากการขับเคลื่อนสำเร็จ “อ๊อด”และแรงงานอีกหลายล้านคนจะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมคนทำงานทั่วไปในระบบบริษัทและองค์กร

“ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิรักษาพยาบาลเท่านั้นนะ แต่เรื่องพื้นที่บริการ ความมั่นคง ความปลอดภัย และอิสระการทำงาน ของวินมอเตอร์ไซต์นั้นควรดีขึ้นด้วย ควรมีหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งมาดูแล โดยเฉพาะเรื่องมาเฟียที่รีดเก็บเงินค่าจอดรถตามชุมชนต่าง เพราะนั่น คือ หายนะสำคัญที่ทำให้คนขับรถวิน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน เนื่องจากต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปจ่ายค่าที่ และควรเปิดพื้นที่รับจ้างทั่วทุกพื้นที่เทียบเท่าแทกซี่ รวมทั้ง แต่ละพื้นที่ควรปลอดพนัน ปลอดเหล้าด้วย และสุดท้าย คือ ต้องมีกิจกรรมอบรมพิเศษเช่น สอนภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มความสามารถให้กลุ่มอาชีพเรา จะเก็บเงินบ้างก็ได้แต่ให้เราได้รับประโยชน์ที่เหมาะสม” อ๊อด แสดงความคิดเห็น

ขณะที่นางสีแพร มั่นคงดี อายุ 49 ปี อาชีพนักร้องและนักเต้น (หางเครื่อง) จากวงมรกต มิวสิค จ.เพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วอดีตเธอเคยเป็นพนักงานของรัฐ แต่ลาออกมานานแล้ว และตามกระแสสังคมเชื่อกันว่าอายุระดับเธอนั้น ถ้าเป็นคนบ้านนอกก็ทำนา ทำไร่ ทำสวน ไป ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็ยังไม่เกษียณอายุ ยังคงทำงานต่อ แต่เธอเองตัดสินใจมาทำอาชีพนักร้อง นักเต้นในวงดนตรีชาวบ้าน เพียงเพราะมองว่าลูกเรียนจบแล้ว ไม่อยากดิ้นรนไปทำงานแล้ว เพราะมีวันหยุดอย่างจำกัดถึงแม้งานในระบบจะมาพร้อมสวัสดิการแต่ยังไม่ท้าทายเท่างานแบบนี้ เพราะนอกจากรับจ้างอาชีพเสริมแล้ว มีเวลาว่างยังไปเป็นอาสาสมัครตรวจคัดกรองสุขภาพช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในชุมชนด้วย เหตุผลส่วนตัวคืออยากใช้ชีวิตเต็มที่และแบ่งเวลามาทำหลายๆ อย่าง เพราะส่วนตัวชอบการเดินทาง แต่พอมีเวลาว่างไม่อยากอยู่เฉยๆ จึงมาสมัครเป็นนักร้องตั้งแต่อายุ 39 ปี

“ตอนนี้ที่บ้านพี่ทำสวนน้อยหน่าด้วย แต่ไม่เยอะ พออยู่ได้ ส่วนอาชีพนักร้องพี่มีค่าแรงราวเดือนละ 10,000 ซึ่งพอจะช่วยให้เราได้มีโอกาสเพิ่มทักษะตนเองในอาชีพที่หลากหลาย ปัญหาที่พี่เจอ คือ บางทีเรื่องความปลอดภัยของรถ บางครั้งเรากลับดึกเสี่ยงอุบัติเหตุเราอยากให้มีประกันราคาเบาๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงตรงนี้ อะไรก็ได้ที่ราคาเบาๆ สอดรับกับค่าแรงเรา หรืออาจจะมีศูนย์บริการเช็คสภาพรถตามจุด หรือ ศูนย์คุ้มครองอะไรย่อยๆออกมาก็ได้ค่ะให้เราวางใจมากกว่านี้ เพราะบางทีแรงงานนอกระบบไม่ใช่คนหนุ่มสาวนะ เป็นคนวัยแก่แล้ว เขาไม่มีอะไรมั่นคงมาก เบี้ยสูงอายุได้มา หมดไป แต่ถ้าทำงานเขายังมีรายได้ ไม่เป็นภาระประเทศเท่าไหร่ เมื่อเราเสียภาษีแล้ว เราก็อยากได้อะไรดีๆ กลับมาบ้าง อีกเรื่องคือมีเงินปันผลเพื่อฌาปนกิจศพบ้าง เวลาเราตาย เท่านั้นจริงๆ” นางสีแพร แสดงความคิดเห็น

ส่วนจินนี่ (นามสมมติ) ซึ่งมีอาชีพพริตตี้ ณ โชว์รูมรถยนต์แห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าต่างๆ จากจังหวัดสกลนคร ด้วยรายได้ที่สูงลิ่วเดือนละ 30,000-40,000 บาท คือ ราคาที่เธอเลือกอาชีพนี้ ตลอดเวลาที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เธอคิดเสมอว่าวันหนึ่งหากเจ็บป่วย หรือ เกิดอุบัติเหตุ เธอก็คงต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาตัวแพงลิ่ว แม้ว่าปัจจุบันเธอจ่ายเงินค่าประกันจากบริษัทเอกชนมาก 2-3 บริษัทก็ตาม แต่เธอยังมองว่า “เอกชน” ไม่ได้มีสิ่งใดมายืนยันความเป็นองค์กรได้ดีเท่าองค์กรของรัฐ เธอมองว่า อาชีพบริการไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริการ เด็กเสริฟ หรือแม้แต่พริตตี้เองถึงเป็นอาชีพที่หลายๆ คนไม่ยอมรับ แต่ถามว่า ประเทศนี้ สังคมนี้ยังต้องการอยู่ไหม ก็ยังต้องการ องค์กรธุรกิจที่จ้างเธอเองยังคงต้องการให้พวกเธอทำงานด้านนี้อยู่ แต่ถามว่าทำไมบริการสาธารณสุขจึงไม่เปิดกว้างให้เธอร่วมจ่ายแล้วให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะบางครั้งใช้สิทธิประกันเอกชนก็แพงมาก และผู้ป่วยนอกใช้สิทธิลำบาก อย่างทำฟันเป็นต้น ประกันเอกชนครอบคลุมแทบไม่ได้เลย ต้องนอนโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งถ้าวันใดหาเงินไม่ทันประกันก็ขาด

เธอบอกว่าขณะนี้กำลังจะตัดสินใจใช้ประกันตนมาตรา 40 แต่กำลังเปรียบเทียบความคุ้มค่าอยู่ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ตนจ่ายเงินร่วมกับองค์กรชุมชนเพื่อขอรับสิทธิฌาปนกิจศพ ตามหมู่บ้าน แต่ได้ยินข่าวว่าโกงกันบ่อย ก็กังวลพอสมควร จึงอยากให้รัฐบาลเปิดกว้างสำหรับแรงงานนอกระบบบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ รวมทั้งสิทธิด้านอื่น เช่น การคุกคามทางเพศ

“หนูก็อยากจะมีอาชีพ มีเงินเดือน มีออฟฟิศทำงานเหมือนคนอื่น แต่ว่าอาชีพนี้ทำให้หนูได้ดูแลพ่อแม่บ่อยกว่าพนักงานประจำ หนูมีสิทธิกลับบ้านนอกที่จังหวัดสกลนครบ่อย บางครั้งเราแค่ร้องขอลูกค้าเข้ามาถ่ายรูปเรา แล้วขอให้เขาหยุดลวนลามเรา ยังยาก แล้วถ้าเราถูกลวนลาม บางทีเราไปแจ้งความไม่ได้ เพราะเขาคิดว่า อาชีพหนู หนูเลือกเอง โดนลวนลามก็ช่าง หรือนายจ้างบางแห่งก็ต้องมาพูดกับเราว่าให้ยอมๆ ไป เล็กๆน้อยๆ แต่เราขายรถไง เรามาเต้นให้รถคุณ ไม่ได้มาเปิดกระจกให้ใครมาแตะต้องตัว เราก็ฟ้องไม่ได้นะ ถ้าเราพลาดตรงนี้ เราต้องปกป้องตัวเองให้ดี หนูไม่ได้รังเกียจอาชีพตัวเองหรอก เข้าใจเสมอ แต่เป็นพริตตี้ไม่ได้แปลว่าใครจะทำอะไรกับเราก็ได้ กฎหมาย หรือข้อตกลงเหล่านี้ เราน่าจะได้รับการคุ้มครองบ้าง” เจนนี่ กล่าว

ขณะที่นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กทม. แกนนำแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 หรือการประกันตนเองของสำนักงานประกันสังคมประมาณ 2 ล้านคนจาก 21 ล้านคน ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะเรื่องความสะดวกในการไปจ่ายเงินสมทบ เพราะส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบจะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร อาจจะไม่ค่อยสะดวกเดินทางไปส่งเงินสมทบ ดังนั้นอยากขอให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาการจัดตั้งหน่วยบริการระดับชุมชนด้วยโดยให้ภาคประชาชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า ควรจะมีการพัฒนาขยายสิทธิประโยชน์มาตรา 40 ตามกกหมายประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนในมาตรา อื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มากขึ้น นอกจากนี้ยังอยากเห็นการผลักดัน แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 2560-2564 ให้เกิดการบูรณาการและมีแผนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยการจัดตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบในจังหวัดต่างๆเพื่อให้เกิดศูนย์ประสานงานในการผลบักดันคุ้มครองแรงงานนอกระบบในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →