Search

ประชุมเอ็นจีโอเหนือคึกคัก วิพากษ์นโยบายรัฐหลายประเด็นหลงทาง “ครูตี๋” ปลุกชาวบ้านถืออำนาจสู้รัฐบาล-ทุน ที่ปรึกษาเกษตรกรภาคเหนือชี้รัฐโยนหินถามทางให้ต่างชาติเช่าที่ดินภาคตะวันออก 99 ปี ชาวบ้าน 8 จังหวัดน้ำโขงออกแถลงการณ์ด่วนค้านเรือจีนเข้าสำรวจ


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายขบวนประชาสังคมภาคเหนือ โดยมีแกนนำเครือข่ายต่าง ๆ ในภาคเหนือกว่า 100 คน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและนักพัฒนา มาร่วมกันอย่างคึกคัก อาทิ นายบรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเองชน (กป.อพช.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุริชัย หวันแก้วและนายประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ในช่วงเช้าได้มีเสวนาโต๊ะกลมสรุปวิเคราะห์สถานการณ์การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประเด็น โดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวถึงสถานการณ์น้ำและเขื่อนว่า ปัญหาน้ำเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะการแบ่งสันปันส่วนน้ำ ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขชัดเจน หากมองในภาพใหญ่ทั้งระดับประเทศและระดับโลก เช่น กรณีการสร้างเขื่อน ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องที่ใช้เขื่อนจัดการน้ำได้ แต่ในปัจจุบันถูกต้องหรือไม่ ยังเป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดการแก้ปัญหาคือต้องเกิดจากคนท้องถิ่นหรือคนที่ใช้ทรัพยากรนั้น เพราะเขารู้ว่าทรัพยากรนั้นมีคุณค่า และในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลง จะใช้ทรัพยากรนั้นอย่างไร เช่น น้ำ ซึ่งเราต่อสู้กันมาตลอด แต่ทุกวันนี้อำนาจการตัดสินยังอยู่ในมือรัฐและทุน

นายนิวัฒน์กล่าวว่า คนที่จะสู้ได้คือต้องมีอำนาจอยู่ในมือด้วย ที่ผ่านมาชาวบ้านแพ้ตลอดเพราะไม่มีอำนาจอยู่ในมือดังนั้นจึงต้องมีอำนาจเพื่อใช้ในการต่อรอง ที่ผ่านมาคนบ้านเรา บางครั้งมองว่าอำนาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ พอมีอำนาจมาถึงก็ทำตาม ดังนั้นเราต้องสร้างสำนึกใหม่เรื่องอำนาจขึ้นมา โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ต้องให้ชาวบ้านคิดและร่วมกำหนด และคนบ้านเรามักลืมรากเหง้า นิเวศน์ และวัฒนธรรมเก่าๆ ซึ่งเมื่อไม่รู้เรื่องเหล่านี้ก็ไปข้างหน้าไม่ได้ ทำให้อำนาจหายไปกับความไม่รู้ เราต้องรู้อำนาจและสิทธิของตนเอง ดังนั้นจึงต้องฟื้นฟูเรื่องเหล่านี้ให้รู้จักดินน้ำป่าและการอยู่ร่วมกัน ที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้เลย แต่สู้กันอย่างเดียว

“เราต้องสร้างองค์ความรู้ให้ชาวบ้าน เราต้องฟื้นฟูชาวบ้านให้รู้ตัวว่าเขาเป็นใคร พัฒนาเครือข่ายไปสู่สถาบัน เพื่อให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะได้ไม่ย่ำอยู่กับที่ เราต้องสร้างบ้านเราในการบริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่าง”นายนิวัฒน์ กล่าว

นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องป่าไม้และที่ดินว่า ที่หนักสุดคือนโยบายการทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 ที่ให้จับกุมชาวบ้านที่อยู่ในป่าโดยออกคำสั่งฉบับต่างๆ โดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำทัพลงพื้นที่ และมีแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ โดยมีกอ.รมน.เข้ามามีบทบาท และแผนแม่บทนี้ไม่ใช่ของคณะรัฐมนตรีแต่เป็นของคสช. โดยสาระสำคัญต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ครบ 40 เปอร์เซ็นหรือเพิ่ม ปีละ 2.6 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยปี 2558 เริ่มปฎิบัติการ แต่ไม่ได้ตามเป้าเพราะไปที่ไหนก็ถูกต่อต้าน จึงเปลี่ยนยุทธการใหม่เป็นการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น เน้นภาคเหนือตอนบน 13 จังหวัดจึงเข้าทางชนชั้นกลาง

“ปัญหาสำคัญของการทวงผืนป่าคือไม่มีความเป็นธรรม คนจังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน รักษาป่าอยู่ไว้ได้มาก แต่กลับเป็นพื้นที่เป้าหมายที่สำคัญในการทวงผืนป่ามาก เพราะเป็นป่าต้นน้ำปิงวังยมน่าน เมื่อทวงไม่ได้ เขาก็ใช้วิธีปิดประตูตีแมวโดยประกาศเขตอุทยานฯทับ”นายประยงค์กล่าว และรัฐบาลพยายามแก้กฏหมายอุทยานฯโดยมาตรา 29 ให้อำนาจอธิบดีอนุญาตให้เอกชนเข้าไปใช้สอยป่าได้ และชุมชนในเขตป่าจะอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ และมีกำหนดเวลาซึ่งจะมีผลกระทบต่อปกาเกอะญอมากเพราะหลังจากนั้นสถานภาพที่ดินจะเป็นอย่างไร

นายประยงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยรัฐใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพิกถอนดินสาธารณะประโยชน์ ป่าสงวน ให้เป็นที่ดินของราชพัสดุ โดยให้กรมธนารักษ์เอาไปดูแลและให้ออกเป็นเอกสารสิทธิ ซึ่งที่ดินบริเวณดังกล่าวมีประชาชนอยู่ด้วย ในขณะที่รัฐบาลกำลังทวงคืนผืนป่าเพิ่ม แต่ก็ทำลายป่าไปด้วย ที่น่าสนใจคือในร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ระบุว่าให้นายทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปีถือว่าโยนก้อนหินถามทางที่ภาคตะวันออกก่อนเพราะมีการคัดค้านชัดเจน ซึ่งมีคนตั้งข้อสังเกตว่ากฏหมายนี้เริ่มออกสมัยรัฐบาลทักษิณซึ่งมีคนออกมาคัดค้านกันมากมายว่าขายชาติ แต่มารัฐบาลชุดนี้คนกลุ่มนี้กลับมองว่าเป็นการช่วยชาติ ทั้งๆที่เป็นการเขียนโดยคนกลุ่มเดียวกัน

วันเดียวกันเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสำรวจ-ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ของบริษัท CCCC ประเทศจีน โดยระบุว่าจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 โดยล่าสุดกรมเจ้าท่า ได้มีจดหมายถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่าบริษัทจีน CCCC Second Habor Consultants จะเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในวันนี้ (19 เมษายน 2560) โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนิน 2 เดือน ทำให้
เครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับมติครม. ดังกล่าว และถือเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรงที่รัฐไทย ยินยอมให้ดำเนินโครงการที่จะสร้างความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรง และขอเรียกร้องดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการสำรวจครั้งนี้ ห้ามมิให้บริษัทเอกชนจีน เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ในแผ่นดินไทย อันเป็นพื้นที่อ่อนไหว ทั้งในทางระบบนิเวศธรรมชาติ และในทางความมั่นคงระหว่างประเทศ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ ประเด็นสำคัญระหว่างประเทศนี้ กำลังถูกดำเนินการโดยบริษัทเอกชนที่รับจ้าง และหน่วยงานรัฐไทยระดับกรมเท่านั้น 2. ขอให้มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการระเบิดแก่ง แม่น้ำโขงในระยะที่ 1 และการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน-สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเปรียบเทียบกับการค้าขายกับจีนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และหาทางออกในการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน
///////////////////////////

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →