
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 นางสาวลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2560 เห็นชอบในหลักการโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ของกรมเจ้าท่า และเสนอให้ของบประมาณประจำปีงบประมาณปี 2560 จำนวน 664,966,414 บาท ว่า มีความกังวลอย่างมากต่อโครงการนี้ เนื่องจากเคยมีบทเรียนจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีในปี 2540 ที่ภาครัฐใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท เพื่อให้เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถผ่านปากแม่น้ำปัตตานีเข้ามาจอดที่ท่าเทียบเรือได้ แต่ก็ตื้นเขินภายใน 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งมีหลักฐานจากผลการศึกษาของนักวิจัยต่างประเทศ และการเก็บข้อมูลของเครือข่ายฯ ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบต่อฐานทรัพยากรในอ่าวปัตตานี ที่โครงการขุดลอกฯ มีการคำนวนตะกอนดินที่ต้องขุดและนำไปถมใช้พื้นที่ 500 ไร่ แต่ตะกอนดินที่ขุดขึ้นมาได้จริงคือ 860 ไร่ และมีการนำตะกอนดินนั้นไปถมที่ทะเลหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งปลาดุกทะเลและหอยกะพง เท่ากับเป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรประมงสำคัญของอ่าวปัตตานีให้สูญเสียไป
นางสาวลม้าย กล่าวอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว พล.อ.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น เคยเรืยกตัวแทนชาวบ้านในเครือข่ายทรัพยากรรอบอ่าวปัตตานีไปประชุมร่วม ซึ่งกรมเจ้าท่าได้เสนอโครงการขุดลอกร่องน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเราแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีบทเรียนจากปี 2540 จึงไม่ควรทำโครงการแบบนั้นอีก และนำเสนอแนวทางใหม่ให้ขุดลอกร่องน้ำเล็กๆ ในจุดต่างๆ พอให้เรือประมงขนาดเล็กเข้ามา ซึ่งชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีได้อาสาเป็นผู้ชี้จุดร่องน้ำที่จำเป็นต้องขุด ขณะที่แม่ทัพได้สรุปในที่ประชุมว่าหากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีไม่ตอบสนองกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ก็ขอให้กรมเจ้าท่ากลับไปทบทวน ก็เท่ากับเป็นมติกลายๆ แต่หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบไปจนกระทั่งมีข่าวออกมาล่าสุด
“ควรจะมีการตั้งคำถามกับโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี เพราะชุมชนรอบอ่าวไม่มีใครรู้เรื่อง หรือทราบรายละเอียดหรือแผนผังของโครงการนี้เลย เช่น เรือพาณิชย์ที่จะเข้ามาในอ่าวปัตตานีหรือในแม่น้ำปัตตานีจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน หรือเรือประเภทใด และมีจำนวนเข้าออกมากเท่าไร เพราะสถานการณ์ของอ่าวปัตตานีทรัพยากรก็ลดน้อยลงอย่างมาก และการขุดลอกจะก่อประโยชน์ต่อพื้นที่อย่างไร และคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ และที่สำคัญอยากให้คำนึงถึงบทเรียนจากการขุดลอกในปี 2540 เพราะอ่าวปัตตานีเป็นอ่าวน้ำกร่อย มีตะกอนดินค่อนข้างมากและเป็นทะเลโคลนไม่ใช่ทะเลทราย ดังนั้นการใช้เงิน 400 ล้านในการขุดลอกครั้งนั้น ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ รวมถึงการขุดตะกอนดินขึ้นมาแล้วก็ต้องไปหาพื้นที่ทิ้งในทะเล ซึ่งทะเลแถบนี้มีแคบเพียง 5-6 พันไร่ ซึ่งก็ต้องกระทบต่อการหากินของชาวบ้าน จึงอยากให้มีเวทีขึ้นมาพูดคุย และมีการศึกษาผลกระทบให้ดีก่อน” นางสาวลม้าย กล่าว
ด้านนายมะรอนิง สาและ นักวิจัยท้องถิ่น บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนรอบอ่าวปัตตานี กล่าวว่า ทหารเคยเชิญชาวบ้านรอบอ่าวไปหารือเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งชาวบ้านได้คัดค้านแนวคิดการขุดลอกอ่าวปัตตานี เพราะจะกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเล สาหร่าย ดอนทราย และดอนหอย ที่จะต้องกระทบทั้งระบบนิเวศ ซึ่งชาวบ้านไม่ยอมและชี้แจงต่อท่านแม่ทัพภาคที่ 4 แต่หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบไป กระทั่งมีข่าวออกมาว่าจะมีการเดินหน้าโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ซึ่งเท่าที่สอบถามกับชุมชนอื่นๆ ก็ไม่มีใครทราบเรื่องมากก่อนเลยและไม่รู้ว่าจะมีการขุดลอกในรูปแบบอย่างไร
“ตอนนี้การตื้นเขินไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของอ่าวปัตตานี เพราะยังทำการประมงพื้นบ้านได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องขุดลอก ก็ควรต้องลงมาศึกษาว่าจุดไหนควรขุดหรือไม่ควรขุด ต้องมาศึกษาทำแผนที่ข้อมูลของอ่าว แต่ถ้าขุดดื้อๆ โดยไม่ได้ศึกษาร่วมกับชาวบ้านหรือสถาบันวิชาการในพื้นที่ ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงแน่นอน” นายมะรอนิง กล่าว