Search

เครือข่ายประชาชนด้านน้ำรวมตัวจี้รัฐทบทวนแผนจัดการน้ำมูลค่าแสนล้าน แนะให้ดูศักยภาพแต่ละลุ่มน้ำเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการประชุมเครือข่ายประชาชนจากลุ่มน้ำต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 50 คน อาทิ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบูรณาการ นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหารือสถานการณ์น้ำ และโครงการต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชน

ภายหลังการประชุมทั้งหมดได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า กว่า 60 ปีของการจัดการน้ำของประเทศไทย ควรมีการทบทวนแนวทางการจัดการทั้งระบบ สถานการณ์น้ำท่วมและแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีชี้ชัดแล้วว่า โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ สิ่งที่พวกเราอยากเสนอต่อสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐคือ การเดินหน้าโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เสนองบประมาณในการจัดการทรัพยากรน้ำมากถึงแสนล้านบาท มากกว่า 100 โครงการ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณอย่างมหาศาล

ในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐต้องคิดค้นการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศแบบใหม่ ต้องดูต้นทุนศักยภาพน้ำภายในลุ่มน้ำที่แท้จริง ยกตัวอย่าง โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำทั้งโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และโครงการผันน้ำสาละวิน-ยวม-ภูมิพล คือตัวชี้วัดที่ชัดเจนด้านความล้มเหลวของการบริหารทรัพยากรน้ำภายในลุ่มน้ำของประเทศไทย การจัดสรรน้ำต้องมุ่งตอบสนองภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ใช่การจัดหาน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีการเสนอให้ใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์และการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ตอบสนองการพัฒนา

ในแถลงการณ์ ระบุอีกว่า ประชาชนเครือข่ายแม่น้ำประเทศไทยมีข้อเสนอ ดังนี้

  1. การบริหารจัดการน้ำของรัฐต้องทบทวนศักยภาพและการจัดการน้ำต้นทุนภายในลุ่มน้ำให้ชัดเจน ต้องคิดหาแนวทางการจัดการหาน้ำแบบใหม่ ที่คำนึงระบบนิเวศและการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง นโยบายการจัดการน้ำของไทย ควรให้ความสำคัญของการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่รองรับน้ำทางธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ได้ทำหน้าที่สำคัญทางระบบนิเวศ แผนการจัดการยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ควรจะต้องยึดโยงการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและต้องย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ยึดตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องเคารพสิทธิของชุมชน พวกเราไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่โครงการอนุรักษ์ในการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ
  2. ขอให้ยกเลิกโครงการแก่งเสือเต้นและโครงการยมบน-ล่าง และให้มีมติ คณะรัฐมนตรีรองรับให้ใช้แนวทาง “สะเอียบโมเดล” การจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็กกระจายทั่วทั่งลุ่มน้ำยม และให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งทั้ง 14 แนวทางตามที่ชาวบ้านเสนอ เช่น การรักษาป่า การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เป็นต้น
  3. ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่แจ่ม ให้ คณะรัฐมนตรีโดยมีมติรับรองการยกเลิกโครงการ
  4. โครงการเขื่อนศรีสองรัก ต้องมีการดำเนินการตั้งคณะกรรมศึกษาและทบทวนแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำเลยตลอดทั้งสายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนตลอดทั้งลำน้ำในด้านมิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมและวัฒนธรรม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน นักวิชาการ และภาคประชาชน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษา จะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อที่จะนำเสนอแนวทางการจัดการและพัฒนาแม่น้ำเลยได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ และวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการฯ จัดการน้ำขนาดใหญ่ ข้อเสนอเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดังกล่าว เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามก่อนการดำเนินโครงการฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58
  5. ให้ทบทวนการพัฒนาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล
  6. ยกเลิกการใช้เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
  7. ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันน้ำสาละวิน-ยวม เขื่อนภูมิพล เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
  8. ยกเลิกโครงการเขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช และเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร
  9. ยกเลิกโครงการเขื่อนคลองชมพู จ.พิษณุโลก

อนึ่ง ที่ประชุมมีความเห็นว่าเครือข่ายต่างๆ ควรร่วมพลังโดยตั้งองค์กรด้านแม่น้ำ ภายใต้ชื่อ “ เครือข่ายแม่น้ำประเทศไทย” โดยมีสมาชิกจากเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องแม่น้ำและผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศมากกว่า 16 องค์กร อาทิ คณะกรรมการสี่หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กลุ่มฮักแม่น้ำเลย สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า (ลุ่มน้ำแจ่มตอนบน) เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมพู จ.พิษณุโลก กลุ่มอนุรักษ์คลองวังหีบและคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ร้อยเอ็ด-ยโสธร กลุ่มอนุรักษ์ลำเซบาย จ.ยโสธร และกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู
////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →