โครงการเขตเศรษฐกิจทวายมีอาณาเขตกว้างถึง 250 ตารางกิโลเมตร ต้องอพยพหมู่บ้าน 21 แห่ง 3,977 ครัวเรือน ประชากร 32,272 คน ออกจากที่อยู่อศัย เรือกสวนไร่นาและแหล่งประมงชายฝั่งทะเลอันดามันไปอยู่ที่อื่น
บางส่วนถูกจัดให้อยู่ในบ้านจัดสรรโครงการ บางส่วนต้องไปตายเอาดายหน้า อยู่กันแบบไร้ที่ทำกิน ไร้วิถีชีวิตดั้งเดิม และไร้อนาคต
สรุปเช่นนี้ได้หลังจากร่วมกับ ทีมสื่อมวลชนไปหา “ความจริงอีกด้าน” ที่บริษัท อิตัลไทยลีเวลลอปเม้นท์ หรือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเผยแพร่ในประเทศ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 เราเริ่มต้นที่หมู่บ้านปีดะ หมู่บ้านชาวประมงที่ติดท่าเรือน้ำลึกทวาย อายุราว 100 ปี ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสายเล็ก 2 สายไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีลงสู่ทะเลอันดามัน มีประชากร 150 ครัวเรือน ราว 700 คน มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรชายฝั่งเป็ฯหลัก ผู้ชาวลากอวน ลงลอบจับกุ้ง ปู ปลา ผู้หญิงเก็บหอย ปู ตามชายหาด
รอบๆ ที่ดินมีสวนมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ หมาก มะขาม ฯลฯ พวกเขานำผลิตผลที่ได้ไปขายในเมืองมองมะกัน ช่วงดีสุดมีรายได้เฉลี่ย 700,000 จั๊ตต่อเดือน (20,000 บาท/เดือน) ยิ่งช่วงไหนจับลอบสเตอร์ได้มาก รายได้ต่อครัวเรือนจะสูงยิ่งขึ้น
เมื่อดูตามเอกสาร ปีดะอยู่นอกแนวเขตอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านกลับได้รับแจ้งว่าจะถูกเวนคืนที่ดิน ทำให้ชาวบ้านสับสน ถึงแม้ไม่ต้องย้ายจากที่นี่ แต่ผลการสร้างท่าเรือขนาดเล็กชั่วคราวไว้ขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จะทำให้แนวปะการังซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของลอบสเตอร์ได้รับผลกระทบไปด้วย
ชาวปีดะมีทักษะทางประมงชายฝั่งอย่างเดียว ถ้าต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ วิถีชีวิตพังทลายแน่นอน
เต็งไฮ แกนนำหมู่บ้านอายุ 60 ปี ยืนนยัยกับคณะสื่อมวลชนไทยว่า พวกเขาจะไม่ย้าย ไม่เอาค่าชดเชย (ถ้าจะให้) เว้นแต่จะช่วยพัฒนา เราขอน้ำ ไฟ และโรงเรียนให้เด็กก็พอ
บอกลาชาวปีดะแล้ว เราเดินทางไปท่าเรือขนาดเล็กไว้ขนถ่านวัสดุก่อสร้าง ต่อด้วยบริเวณก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกซึ่งอยู่ระหว่างปรับพื้นที่
บริเวณนี้มีหมู่บ้านประมงชื่อ “ชาคาม” เดิมทีมีทั้งหมด 34 ครัวเรือน แต่วันนี้เหลือ 5-6 หลังตั้งอยู่อย่างไม่เกรงกลัวรถแทรกเตอร์กวาดลงทะเล
ชาวชาคามบอกว่า ทางการไม่ให้ค่าชดเชย อ้างว่านี่เป็นที่สลัม ทั้งๆ ที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ พร้อมชี้ให้ดูบ่อน้ำ จุดที่บ่งชี้ว่าที่นี่เป็นชุมชนเก่า ไม่ใช่สลัมชั่วคราว
ที่ผ่านมา ทางการส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ย้ายออกแล้ว 3 ครั้ง ถ้าไม่ไปจะแจ้งความดำเนินคดี แต่วกเขายืนยันไม่ไปไหนจนกว่าจะด้ค่าชดเชยและจัดหาที่อยู่ให้
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีความตื่นตัวมาก หลังทราบว่าสื่อไทยเข้ามาเก็บข้อมูล ในเวลาไม่ที่นาทีก็ระดมพลนำคณะเข้าไปดูพื้นที่โครงการ ระหว่างทางพบคนงานระเบิดหินบนเขาเพื่อวางเสาไฟฟ้าแรงสูง รถดัมพ์ยักษ์ขนหินไปถมที่นาชาวบ้าน ผ่านกลุ่มบ้านจัดสรรกว่า 100 หลัง ซึ่งอิตัลไทยสร้างรองรับผู้ยอมโยกย้าย
กระทั่งคณะเข้ามาถึงหมู่บ้านบาวา ชาวบ้านนับสิบรอเราอยู่เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ตัวแทนฝากถึงอิตัลไทยให้ส่งคนจากส่วนกลางมาเจรจาดีกว่าส่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพราะที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มแต่ละช่วงพูดไม่ตรงกัน ช่วงอิตัลไทยบริหารเจ้าเดียว เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายินดีจ่ายค่าชดเชย แต่หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเข้าร่วมเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เจ้าหน้าที่กลุ่มใหม่กลับบอกว่าจะไม่ชดเชย
ล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน เจ้าหน้าที่โครงการมาขอคำตอบ หัวหน้าหมู่บ้านแจ้วไปว่าชาวบ้านกว่า 300 หลังคาเรือนต้องได้ค่าชดเชยก่อยถึงจะย้ายออกจากพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า บริษัทซื้อที่ดินจากรัฐบาลแล้ว จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้
สับสนเสียจน หลวงพ่ออูเคลามะ เจ้าอาวาสประจำวัดหมู่บ้านต้องออกมาย้ำว่า “คนเสียบ้าน เสียที่นา เสียต้นไม้ พวกเขาก็ต้องการค่าชดเชย”
คำพูด สีหน้า และแววตาของท่านเต็มไปด้วยความคาดหวังจากคณะสื่อมวลชนไทยว่า จะช่วยทวงถามรัฐบาลไทยถึงความเป็นธรรม และสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ตามอัตภาพ
ในฐานะ “เจ้าของแผ่นดิน” ไม่ใช่คนนอก
เราหวังเช่นกันว่า จะนำความจริงไปเปิดเผยให้คนไทยรับรู้ว่า คนกลุ่มหนึ่งข้ามพรมแดนไปข่มเหงรังแกเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
=============================
ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน 11 มิถุนายน 2556