
———-
The Newspaper (TNP)
สรุปความโดย บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
————
การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะเปิดแผลระบบการจัดการแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์แล้ว มาตรการตัดวงจรการแพร่กระจายของไวรัสอาจทำให้ประเทศประสบปัญหาแรงงานในบ้าน (domestic worker) ที่ตัดสินใจประเทศบ้านเกิด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานหญิงจากฟิลิปปินส์
Jaya Anil Kumar ผู้จัดการองค์กรมนุษยธรรมด้านเศรษฐกิจการย้ายถิ่น (Humanitarian Organization for Migration Economics-HOME) หรือโฮม เปิดเผยว่าขณะนี้มีแรงงานหญิงฟิลิปปินส์จำนวนมากตัดสินใจกลับบ้าน เพราะไม่สามารถทนรับแรงเสียดทานจากนายจ้างในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงงานที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้ กรณีล่าสุดคือหญิงสาววัย 30 ปีทนไม่ได้ เพราะนายจ้างสบถด้วยคำภาษาอังกฤษใส่ และกดดันเธอทำงานให้เสร็จจนกว่าจะได้กินข้าวกลางวัน ซึ่งก็เลยเวลาไปพอสมควร เธอจึงโทรหาสายด่วนขอความช่วยเหลือเพื่อให้องค์กรมารับมาเธอออกจากบ้าน และตอนนี้เธออยู่ในความดูแลขององค์กรหนึ่งระหว่างจัดการส่งเธอกลับฟิลิปปินส์
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับรายงานของสมาคมแรงงานในบ้านเพื่อสนับสนุนและฝึกทักษะ (Foreign Domestic Worker Association for Social Support and Training: Fast) ที่ระบุว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างและแรงงานเพิ่มขึ้นมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 และมีแรงงานที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านนายจ้างเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึง 29 เมษายน ที่ผ่านมา ไม่รวมกับจำนวนที่โทรหาสายด่วนให้ความเหลือ (Helpline) เพื่อระบายปัญหาที่เกิดขึ้น และบอกว่าต้องการออกจากบ้านที่ทำงานอยู่ จึงทำให้ที่พักชั่วคราวเพื่อช่วยกรณีคนงานเหล่านี้ต้องรับคนจำนวนมากขึ้นในขณะนี้
สถานทูตฟิลิปปินส์ในสิงคโปร์เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ให้ที่พักพิงชั่วคราวกับแรงงานที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 50 คน ซึ่งก็มีข้อห่วงใยว่าจะต้องจำกัดจำนวนคนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยในช่วงการระบาดที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม
สื่อ The Newspaper รายงานเพิ่มเติมว่าปัญหาเบื้องต้นในแรงงานกลุ่มนี้ คือนายจ้างพูดจาไม่เหมาะสม บวกกับปริมาณงานที่มาก มีเวลาพักน้อย และไม่ได้รับค่าชดเชยจากที่ต้องทำงานในวันหยุด เช่นเดียวกับอีกหน่วยงานคือศูนย์ลูกจ้างในบ้าน (Centre for Domestic Employees: CDE) ที่เปิดเผยว่าแรงงานเหล่านี้มีความเครียดและเหนื่อย แต่ก็ไม่ค่อยกล้าพูดกับนายจ้างตรงๆ
แรงงานหญิงฟิลิปปินส์รายหนึ่งเล่าประสบการณ์กับผู้สื่อข่าวที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าบ้านนายจ้างซึ่งเป็นแฟลตสวัสดิการของรัฐ หลังจากที่เขายอมให้เธอออกไปข้างนอกในวันหยุด แต่สุดท้ายนายจ้างกลับกลัวว่าเธอจะเอาไวรัสเข้ามาแพร่ในบ้าน และบอกให้เธอไปพักกับเพื่อนหรือญาติก่อนสัก 20 วัน แล้วค่อยโทรมาหาว่าสามารถกลับเข้าบ้านนายจ้างได้หรือไม่
“ฉันช็อกมาก ฉันทำงานกับเขามา 5 ปีแล้ว อยู่ดีๆ ก็ต้องมานั่งคิดว่าจะไปนอนที่ไหน ฉันต้องไปนอนที่โรงแรมราคาถูกอยู่ 2 วัน แต่ก็หลับได้ไม่ดี เพราะยังรู้สึกว่าตัวเองหลงทาง”
นั่นทำให้เธอต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรโฮม (HOME) และสุดท้ายนายจ้างคนนั้นก็ปฏิเสธไม่ต้องการให้เธอกลับไปทำงานแล้ว เธอจึงต้องหานายจ้างใหม่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงกำลังคน (Ministry of Manpower) ออกมายืนยันจะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการตรวจสอบกับนายจ้างว่ามีการละเมิดสัญญาเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงานหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่ากรณีที่แรงงานถูกนายจ้างไล่ออกเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
หากนายจ้างทำผิดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิงคโปร์มีกฎหมายที่ว่าด้วยการจ้างงานแรงงานต่างชาติกำกับอยู่ โดยเฉพาะหากนายจ้างไม่สามารถหาที่พักให้แรงงานอยู่ได้อย่างเหมาะสม นายจ้างต้องถูกปรับสูงสุด 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในช่วงของการระบาดและควบคุมไวรัสโคโรนา ทางกระทรวงกำลังคนเปิดเผยว่ามีคำถามและข้อสงสัยจากแรงงานในบ้านเหล่านี้เข้ามาทางกระทรวงค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายปัญหาไม่ได้ขยายใหญ่โต ทั้งสองฝ่ายตกลงในเงื่อนไขด้วยดี จำนวนกรณีที่แรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาตก็ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่หาเที่ยวบินกลับบ้านลำบาก จึงทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องพยายามหาข้อตกลงเพื่อยุติปัญหาและยังทำงานร่วมกันต่อไป
———–
ที่มา: https://bit.ly/2TmHlRy
หมายเหตุ-บทความชิ้นนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับ the Department of Southeast Asia Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย