Search

อาเซียนบ้านนอก[asean baannog] – กิโลเมตร 0 – ทวาย

หมู่บ้านชาคัม
หมู่บ้านชาคัม

ทะเลอันดามันฟากฝั่งทวายงดงามสดใสอยู่ใต้ตะวัน คลื่นแล่นริ้วพลิ้วเข้าหาชายหาดอย่างรื่นเริง ชายฝั่งสงัดเงียบเรียบโล่งไกลสุดตา ด้วยว่ายังไม่มีร้านอาหารและที่พักบริการนักท่องเที่ยวกีดขวางสายตา มีเพียงร้านค้าเล็กๆของชาวบ้านตั้งอยู่บนศาลาที่พักริมถนน

 

เหลือบสายตาลงแลพื้นล่างก่อนย่างเท้าขึ้นศาลา เห็นพื้นกระเบื้องพังเค้เก้ด้วยฐานไม่แข็งแรง เพื่อนร่วมทางพึมพัมว่าแค่นี้ก็ไม่ได้มาตรฐานเสียแล้ว

 

โน่น ถัดจากชายหาดขึ้นไปรถแมคโครกำลังทำงานของมันอย่างขันแข็ง ว่ากันว่าบริเวณชายฝั่งแห่งนี้เคยเต็มไปด้วยป่าสันทราย แต่เวลานี้มันเรียบโล่งเป็นพื้นดินแดง คล้ายบาดแผลที่ถูกเฉือนเป็นรอยใหญ่ รอยนั้นกว้างไกลไปจนเกินสายตาจะหยั่งถึงจุดสิ้นสุด

 

ไม่ไกลจากศาลาที่พักคนเดินทาง แลเห็นธงประจำประเทศบนเสาสูงกับหลักกิโลเมตรศูนย์ แสดงจุดเริ่มต้นเมืองทวาย ประเทศเมียนมาร์ เชื่อมต่อกับถนนที่จะทอดไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี อีกไม่นานเมื่อถนนสายนี้เสร็จเรียบร้อยพร้อมเปิดใช้ หลักกิโลเมตรศูนย์คงกลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

 

เป็นครั้งแรกที่ฉันมีโอกาสมาถึงทวาย หลังจากได้ยินชื่อและฝันอยากสัมผัสมาเนิ่นนาน ทวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นชื่อที่อยู่ในรายการสถานที่อันใฝ่ฝันจะไปให้ถึง ทวายเป็นเมืองหลักของรัฐตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ประเทศเมียนมาร์ ใกล้ชิดเขตแดนจังหวัดกาญจนบุรีของไทย

 

มาถึงทวายเป็นครั้งแรกก็ได้รับรู้เรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

อันมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 เมื่อรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ต้องการพัฒนาอ่าวทวายให้เป็นประตูการค้า เชื่อมต่อประเทศไทยผ่านพม่าไปยังจีน อินเดีย บังคลาเทศ โดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อบเม้นต์ จำกัด มหาชน ได้รับสิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโครงการ

 

จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อไปจังหวัดกาญจนบุรี
จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อไปจังหวัดกาญจนบุรี

พื้นที่เขตเศรษฐกิจทั้งหมดที่กำหนดไว้มีถึง 250 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 156,250 ไร่ ขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดราว 10 เท่า ได้ยินแล้วหนาวไปถึงขั้วหัวใจ

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษอันกว้างขวางใหญ่โตของโครงการทวาย หลักๆจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกถึง 3 แห่ง ท่าเรือแรกเพื่อขนส่งของเหลวพวกน้ำมันและก๊าซ แห่งที่สองเป็นท่าเรือสินค้า และท่าเรือแห่งที่สามเพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟไปมณฑลยูนนาน ประเทศจีน

 

โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจรอบท่าเรือ จะมีเขตอุตสากรรมหนักเช่นโรงงานเหล็กต้นน้ำ โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมไปถึงอุตสาหกรรมขนาดเบา อย่างพวกสิ่งทอ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นอาทิ

 

ที่ยกมานี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่ฉันได้มาจากเอกสารขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีรายละเอียดอีกมากมายเกี่ยวกับโครงการทวายใหญ่ยักษ์นี้ ก็ด้วยความมหาศาลของมันนี่แหละตลอดทางที่ได้รับฟังคำบอกเล่าจากชาวทวาย จึงระงมไปด้วยเสียงที่ไม่แน่ใจในในอนาคต ด้วยภาพหลอนจากมาบตาพุดที่พวกเขาได้รับรู้มา

 

นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งบอกว่า เป็นความจริงที่ว่าโครงการนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่คนส่วนใหญ่ในทวายคิดถึงผลกระทบด้านลบมากกว่า เพราะตั้งแต่เริ่มโครงการมาชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูล มีแต่พวกนักลงทุนที่รู้ข้อมูลก็เข้ามากว้านซื้อที่ดิน ดังนั้นหัวใจของปัญหาคือไม่มีการให้ข้อมูลแท้จริงแก่ชาวบ้าน เขายังบอกอย่างมีอารมณ์อีกว่าชาวพม่าถูกกดให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหารมานาน หนำซ้ำรัฐบาลไทยยังเข้ามาซ้ำเติมตอนชาวพม่ายังอ่อนแอ โดยเข้ามาเซ็นสัญญาโครงการทวายก่อนการเลือกตั้งฟังถึงตอนนี้ชาวไทยอย่างเราๆรู้สึกระกำหัวอกขึ้นมาทันที

 

ปัญหาที่ดินก็กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าเป็นห่วง ตัวแทนเกษตรกรคนหนึ่งบอกว่าเขาเป็นห่วงชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ คนที่ทำสวนทำนามาทั้งชีวิตเมื่อต้องสูญเสียที่ดิน พวกเขาจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร

 

ผู้หญิงกระเหรี่ยงอีกคนพูดถึงปัญหาการสูญเสียที่ดินในกลุ่มชนชาติของเธอ ว่าสมัยก่อนอยู่ในเขตปกครองของเคเอ็นยูไม่มีใครเข้ามายุ่ง แต่พอตัดถนนและเปิดด่านคนภายนอกก็เข้าถึงที่ดินได้ง่าย พวกนายทุนเข้ามาติดต่อซื้อที่ดินจากรัฐบาลกลางโดยตรง เพราะชาวกระเหรี่ยงไม่มีโฉนดที่ดิน นักธุรกิจไทยและพม่าจึงเข้ามาฉกเอาทรัพย์สินของชุมชนไปโดยง่าย

 

เสียงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนน้อยที่ได้รับฟังมาจากชาวเมืองทวายที่กังวลกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองตัวเอง ครั้นลงไปยังพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เสียงที่รันทดกับอนาคตของตัวเองดูเหมือนจะยิ่งดังมากขึ้น

 

ไม่ไกลห่างจากหลักกิโลเมตรศูนย์เป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆชื่อหมู่บ้านชาคัม มีอยู่ 34 หลังคาเรือน ไม่มีใบเอกสารสิทธิในที่ดิน หลักฐานที่แสดงว่าพวกเขาตั้งชุมชนอยู่กันมานานมีเพียงบ่อน้ำเก่าแก่กับศาลพระภูมิเจ้าที่เท่านั้น จึงเป็นหมู่บ้านที่ทางการแจ้งให้อพยพจากพื้นที่โดยไม่ได้ค่าชดเชยแม้แต่น้อย ทางการเข้ามาแจ้งให้โยกย้ายถึง 3 ครั้งแล้ว บอกว่าถ้าไม่ย้ายจะถูกแจ้งจับ แต่ชาวบ้านยืนยันว่าจะไม่ย้ายไปไหน ถ้าจะถูกจับก็ยอม

 

 

ฉันยืนนิ่งตรงหลักกิโลเมตรศูนย์ มองตรงไปยังถนนดินแดงที่ดิ่งไปยังจังหวัดกาญจนบุรี จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อพี่น้องอาเซียน ณ แห่งหนนี้ ดูทีจะเต็มไปด้วยร่องรอยหม่นหมองของชาวบ้าน ที่คงจะถูกกลบฝังไปในวันหนึ่ง

 ไม่ต่างรอยทรายที่คลื่นกลืนหาย….

 

===============================

โดย จิตติมา ผลเสวก

 

 

On Key

Related Posts

ชาวนาลุ่มน้ำกกนับแสนไร่หวั่นแช่สารพิษระหว่างดำนา สภาเกษตรกรเชียงรายจี้รัฐชี้แจงด่วน เผยทุกข์ซ้ำหลังจากราคาข้าวตก ผวจ.เชียงรายเผยตรวจคุณภาพน้ำ-ตะกอนดินได้ไม่ต่อเนื่องเหตุข้อจำกัดด้านห้องปฎิบัติการ

นายวรวัฒน์ เดชวงค์ยา สาธารณสุขอำเภอแม่อาย เชียงใหมRead More →

ฟื้นประเพณี “ตบประทราย”กลางลำน้ำโขงหลังขาดหายไปนับสิบปี ชาวบ้านหวังร่วมกันอนุรักษ์นก หลังรังถูกน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจีนท่วม

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ชาวบ้านโคกสารท่าและเครืRead More →