สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ระดมทุนช่วยเหลือชาวบ้านหนีภัยสู้รบริมสาละวินคึกคัก ศิลปิน-ดาราร่วมรณรงค์ ผู้กำกับ-พระเอกละครดัง “เก็บแผ่นดิน”เห็นใจชาวบ้านพลัดถิ่น หลายฝ่ายจี้รัฐบาลไทยเปิดช่องทางช่วยเหลือ-เชื่อวิธีสกัดกั้นทำลายภาพพจน์ประเทศ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง มนุษยธรรมริมฝั่งสาละวิน โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการสถาบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จ.แม่ฮ่องสอน  น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์และสื่อสาร (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล รายการเถื่อนแทรเวล และดำเนินรายการโดย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters 

นอกจากนี้ยังมีการระดมทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู มาหลบพักพิงอยู่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งประเทศไทยซึ่งขณะนี้ตกอยู่ในสภาพยากลำบากมาก โดยมีศิลปินทั้งดารา-นักร้อง-นักแสดง-กวีซีไรท์มาร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยทีมงานละครเรื่องเก็บแผ่นดินของบริษัทเป่าจินจงได้ร่วมกันเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันบริจาค นอกจากนี้ยังมีบทกวีจากหนังสือ “มิใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย จากเจ้าพระยาถึงสาละวิน” โดยสำนักพิมพ์ผจญภัย ที่จัดทำขึ้นเพื่อนำรายได้ช่วยหลือชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบ ซึ่งรินคม มีสมสืบ อายุ 12 ขวบ ลูกชายศักดิ์สิริ มีสมสืบ ได้ขายภาพเขียนหาทุนช่วยเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่กำลังเดือดร้อนในป่าสาละวิน ขณะที่ศักดิ์สิริได้บริจาคภาพเขียน 3 ภาพเพื่อนำไปประมูลนำรายได้ร่วมสมทบทุน

นายสันติพงษ์ กล่าวว่า ล่าสุดชาวบ้านที่หนีภัยต้องกระจายตัวตามป่าเขาเพราะถ้ากระจุกตัวจะกลายเป็นเป้า ปัญหาคือการเข้าไปช่วยเหลือยากมากเพราะแนวทางที่ชัดเจนและถูกต้องยังไม่มี ที่ผ่านมาต้องอาศัยวิธีการสารพัดทุกรูปแบบ ทั้งๆ ที่สิ่งที่นำเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น อาหาร ยารักษาโรค เต็นท์ เสื่อ ทั้งนี้คนที่หลบหนีเข้าประเทศไทยซึ่งในรอบเดือนถูกผลักดันกลับอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งเราพยายามพูดคุยกับทหารว่าอย่าเพิ่งส่งเขากลับได้หรือไม่ เพราะการประเมินสถานการณ์ต้องทำกันวันต่อวันและความปลอดภัยเป็นเรื่องจำเป็นสูงสุด เราจึงวิงวอนว่าอย่าผลักเขากลับไปเรื่องมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

“ปกติคนในลุ่มน้ำสาละวินนับหมื่นคน ปัจจัยการดำรงชีพเอามาจากฝั่งไทย ตั้งแต่โควิด 1 ปีที่ผ่านมาพวกเขาแทบไม่มีข้าวสารกิน พอมาตอนนี้ไม่มีทั้งเงินและไม่มีที่ซื้อข้าวสาร ที่ผ่านมาเราได้รับข้าวของบริจาคจำนวนมาก ทั้งข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงตุ๊กตาเด็กๆ เพื่อให้เขาหายเครียด แต่ยังไม่สามารถเอาเข้าไปให้ได้” นายสันติพงษ์ กล่าว

นายสันติพงษ์กล่าวว่า สังคมไทยเข้าใจเรื่องผู้หนีภัยพอสมควรเห็นได้จากของบริจาค แต่ที่เป็นปัญหาคือเราห่วงเรื่องอนาคตมากเกิดไปเพราะมีบทเรียนที่ไม่ดีนัก กลัวว่าต้องเป็นภาระอีก 30-40 ปี แต่ในระยะสั้นเราปฏิเสธไม่ได้เลยเรื่องมนุษยธรรม รู้สึกชื่นชมภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้ซึ่งเป็นการกู้หน้าให้รัฐบาล และรัฐบาลต้องเปิดช่องทางช่วยเหลือตอนนี้เป็นอุปสรรคคือเรื่องเส้นทางซึ่งไม่ค่อยมีปัญหานักเพราะชุมชนช่วยเหลือกันได้ แต่ถ้าเปิดเส้นทางชัดเจนก็ทำให้การช่วยเหลือสะดวกขึ้น แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเปิดใจ 

“เรื่องเร่งด่วนคือเรื่องอาหาร เพราะข้าวของที่ส่งเข้าไปครั้งใหญ่สุดคือเมื่อ 16 เมษายน เข้าใจว่าตอนนี้หมดแล้ว หลังจากนั้นยังไม่มีส่งข้าวของบริจาคชุดใหญ่เข้าไปได้อีกเลย บางหมู่บ้านฝั่งไทยไม่สามารถทนเห็นเพื่อนตายไปต่อหน้าต่อตาได้ เขาเก็บข้าวสารบ้านละ 1-2 ถังนำไปช่วยเหลือ ผมถึงเสนอว่ากลไกท้องถิ่นมีความสำคัญมาก ต้องทำงานเป็นชุมชนคู่ขนานร่วมกันไปต้องขอบคุณน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันเยอะมาก อยากฝากถึงภาครัฐให้รีบเปิดเส้นทางเพราะจะได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ ผมเองก็ไม่อยากให้ใครมาตำหนิประเทศไทย” นายสันติพงษ์ กล่าว

น.ส.เพียรพร กล่าวว่าชุมชนชาวบ้านสาละวินอาศัยอยู่บริเวณนี้มานานโดยมีแม่น้ำสาละวินกั้นกลางจนกระทั่งกลายเป็นพรมแดนรัฐไทย-พม่า ทำให้เกิดความยากลำบาก เมื่อเกิดการโจมตีที่เด่ปูโหน่ ทำให้ชาวบ้านอพยพข้ามมา ซึ่งประชาชนทั้ง 2 ฝั่งต่างอยากช่วยเหลือกัน แต่ทำไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงกลัวว่าชาวบ้านที่หนีมาหลบภัยเหล่านี้จะไม่กลับ จริงๆแล้วชาวบ้านในผืนป่า ที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานสันติภาพสาละวิน Salween Peace Park ที่ได้รับรางวัลจาก UNDP ไม่ใช่คนยากจน มีความมั่งคั่งในทรัพยากร แต่ขอหนีภัยสงครามเป็นการชั่วคราว และรอวันกลับบ้าน ดังนั้นระหว่างนี้ที่เขารอความช่วยเหลือ ก็ควรช่วยเขาเพราะไม่ได้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงเลย หากเราปิดกั้นจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศชาติเสียหายมากกว่า ที่สำคัญคือไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐเลยแต่ประชาชนช่วยประชาชน

“มีหลายชุมชนที่รับของบริจาคมามากมาย ควรได้รับการสนับสนุนให้นำไปช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน ไม่ใช่ถูกสกัดกั้น ตอนนี้เป็นฤดูฝนที่ชาวบ้านควรได้ปลูกข้าว ได้เริ่มทำไร่หมุนเวียน หากไม่ได้ทำไร่ข้าวปีหน้าเขาจะไม่มีข้าวกิน แต่เบื้องต้นเราหวังว่าจะมีการเปิดความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด” น.ส.เพียรพร กล่าว

น.ส.เพียรพร กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้เลยคือการส่งความช่วยเหลือไปถึงผู้หนีภัย โดยรัฐต้องเปิดเส้นทางให้ประชาชนเข้าไปช่วยเหลือ แต่ต้นทางของปัญหาที่ประชาชนหนีภัยเกิดจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมที่หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องหลบหนี ประเทศไทยต้องยืนเคียงข้างประชาชนพม่าไม่ใช่ยืนเคียงข้างทหารพม่าที่ฆ่าประชาชน หากเกิดสันติภาพชาวบ้านก็จะกลับไปเอง

ดร.ศรีประภา กล่าวว่า ตอนนี้ทั่วโลกพุ่งสายตามาที่ประเทศไทยเพราะมีชายแดนติดพม่า ผู้หนีภัยย่อมหนีมาพื้นที่ใกล้ที่สุด และที่ผ่านมาประเทศไทยก็ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยเรื่อยมา แม้เราไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญา ปี 1951 แต่เราเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารของ UNHCR การที่เราผลักดันชาวบ้านกลับไปแล้ว 2 ครั้ง และไม่มีอาหาร ถือว่าเป็นการละเมิดหลักการสำคัญในการไม่ส่งกลับ โดยเฉพาะต้องไม่ส่งเด็กๆ กลับไปในพื้นที่ที่เสรีภาพและความปลอดภัยถกคุกคาม

“รัฐไทยควรอนุญาตให้ผู้หนีภัยเหล่านี้เข้ามาอย่างเปิดเผยในระดับนโยบายและรัฐไทยต้องอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรมเข้าไป” ดร.ศรีประภา กล่าว และว่าการที่ประชาชนช่วยเหลือกันถือว่าเป็นการทูตภาคประชาชนที่ควรส่งเสริมและขอชื่นชมสื่อมวลชนบางส่วนที่คิดทำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะหน้าที่สื่อสำคัญที่สุดขณะที่คนกลุ่มหนึ่งใช้เสียงของตัวเองไม่ได้ สื่อต้องใช้เสียงแทน และชื่นชมกลุ่มการเมืองภาคประชาชนซึ่งต้องอดทนหน่อย เชื่อว่าในที่สุดภาครัฐคงเห็นความตั้งใจ ส่วนภาครัฐไม่ควรปล่อยให้เวลาเนิ่นนานกว่านี้ ถึงเวลาต้องเปิดศูนย์แรกรับให้ผู้หนีภัยจากพม่า

นายวรรณสิงห์กล่าวว่า ได้ติดตามผู้หนีภัยการสู้รบริมสาละวินมาตั้งแต่ต้น ทำให้รู้สึกปวดหัวใจเพราะดูท่าทีของไทยมาโดยตลอด แทนที่จะหาทางช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมกลับเอาเรื่องกฏหมายหรือเทคนิคกติกามาปิดกั้น ทำให้การช่วยเหลือยากลำบากมากกว่าจะไปถึงจุดที่ชาวบ้านหลบภัยอยู่ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก

นายวรรณสิงห์กล่าวว่า ได้เดินทางไปหลายพื้นที่ เช่น ซีเรียที่เป็นผู้ส่งออกผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกประมาณ 3 ล้านคนไปยังตุรกี ซึ่งน่าชื่นชมรัฐบาลตุรกีมากที่ดูแลผู้ลี้ภัยอย่างดี โดยในค่ายผู้ลี้ภัยมีความสะอาดและปลอดภัย มีแม้กระทั่งการแบ่งเวลาให้โรงเรียนตุรกีให้เด็กชาวซีเรียได้เรียนและหาโอกาสให้ครูชาวซีเรียได้สอน แต่อีกหลายพื้นที่มีสถานการณ์ต่างกันไป การดูแลผู้ลี้ภัยในแต่ละประเทศมีหลายระดับ

ขณะที่ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ ได้พูดก่อนร้องเพลงร่วมกิจกรรมว่า ด้วยความที่เป็นคนชนเผ่าเดียวกัน เห็นพี่น้องต้องหนีเอาชีวิตรอด บางคนลูกไปทางไม่รู้ว่าพ่อแม่อยู่ไหนและต้องอยู่ตัวคนเดียวจึงรู้สึกหดหู่ ในฐานะที่เคยทำกิจกรรมลุ่มน้ำสาละวิน เชื่อว่าพี่น้องที่ข้ามฝั่งมาถ้าไม่เหลือบ่าฝ่าแรงเขาคงไม่ข้ามมา และเชื่อว่าเขาต้องกลับไปแน่นอน การไปอยู่บ้านคนอื่นไม่สนิทใจเหมือนอยู่บ้านตัวเอง วันหนึ่งบ้านเขาสงบร่มเย็นเขาก็จะกลับไป ตนขอยืนเคียงข้างชนเผ่าพื้นเมืองที่ต่อสู้เพื่อแผ่นดินเกิด เขาควรมีสิทธิอยู่แผ่นดินแม่ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าไหนก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้โอกาสที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ด้านกัปตัน-ภูธเนศ หงส์มานพ ดาราและผู้กำกับละครเรื่องเก็บแผ่นดิน ซึ่งได้บันทึกคลิปร่วมรายการกล่าวว่า ละครเก็บแผ่นดินเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของชาวคาเซ โดยยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อแผ่นดินเกิด ทำให้รู้สึกได้ว่าการต้องจากแผ่นดินของตัวเองมีความทุกข์ขนาดไหน จึงอยากเชิญชวนร่วมบริจาคช่วยเหลือชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบครั้งนี้

เช่นเดียวกับไอซ์ ภาณุวัฒน์ เปรมมณีนันท์ พระเอกละครเรื่องเก็บแผ่นดินกล่าวว่า ตนรับบทเป็นคนที่รักแผ่นดินจริงๆ รักภูเขา แม่น้ำและธรรมชาติ ความทุกข์ที่สุดคือต้องจากแผ่นดินเกิด จึงอยากชักชวนให้ช่วยเหลือชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบและกำลังเดือดร้อน


On Key

Related Posts

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →

กสทช.ขู่เพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการทำผิดส่งสัญญาณโทรศัพท์ข้ามแดนไปยังแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย-เผยกำลังตรวจสอบเข้มทำไมหันเสาออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณRead More →