
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะทำงานประสานงาน ดูแล ช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ให้สัมภาษณ์ว่า คณะทำงานฯ ได้มีการจัดทำแผนในการให้ความช่วยเหลือ คือการจัดทำข้อมูลและประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณา โดยให้มีการประชุมในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง เจ้าของพื้นที่ คือป่าไม้ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมามีเฉพาะข้อมูลจากศูนย์สั่งการชายแดนไทยเมียนมาด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ซึ่งบางครั้ง ระบุตัวเลขผู้หนีภัยจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง พื้นที่บางแห่งมีบริบทพิเศษ เช่น ชาวบ้านจากบ้านแพท่า ราท่า ตรงข้ามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง มีบริบทพิเศษ คือหมู่บ้านของผู้อพยพถูกทหารพม่าทำลายแล้ว ไม่สามารถกลับไปได้ แม้ว่าจะไม่มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด แต่แบบนี้ต้องมีการพิจารณาเป็นพิเศษ

นายสันติพงษ์กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เป็นเรื่องเร่งด่วน ได้ส่งแผนไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกองกำลังนเรศวร และผู้ว่าฯ แต่กลับมีการผลักดันกลับ หลายฝ่ายจึงมองว่าเป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้ภาคประชาสังคมนำสิ่งของบริจาคเข้าไปช่วยเหลือ เพราะหากผลักดันผู้หนีภัยกลับทั้งหมด คือหมดภารกิจของคณะทำงาน
“ก่อนหน้านี้มีพูดในที่ประชุมว่า ให้องค์กรภาคประชาชนบางแห่งที่คุ้นเคยกับ KNU บอกให้ประชาชนของเขากลับไป โดยทหารพร้อมสนับสนุนจัดหาเสบียงไปช่วย ผมมองว่านี่เป็นการขอให้ไปพ้นแผ่นดินไทย มีการระบุถึงการสร้าง safe zone หรือค่ายผู้หนีภัย-ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs camp) เรามีประสบการณ์แล้วที่ค่ายอิตุท่า และอูแวโกล ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง แต่ก็พบว่าไม่ปลอดภัย เป็นการเอาคนไปรวมเยอะๆ ยิ่งมีความเสี่ยง ดังนั้นมาตรฐานในการจัดการจะเป็นอย่างไร” นายสันติพงษ์ กล่าว
ผู้จัดการมูลนิธิสถานะบุคคล กล่าวว่าคณะทำงานของจังหวัดที่ตั้งมา อาจเรียกได้ว่าไม่มีประโยชน์ เพราะหากชาวบ้านข้ามกลับฝั่งกะเหรี่ยงไปทั้งหมด คณะทำงานก็หมดหน้าที่ ซึ่งพบว่าเวลานี้มีการผลักดันกลับให้พ้นภารกิจ ทั้งๆ ที่คณะทำงานยังไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆ สำหรับผู้หนีภัยจากการสู้รบ เรื่องของการข้ามพรมแดนย้ายไปมาใช่เรื่องง่าย เวลานี้เกิดสงคราม เขายังกลับไปยังหมู่บ้านไม่ได้ แต่หลักมนุษยธรรมต้องมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ข้ามพรมแดนแม่น้ำสาละวินแล้วจบ หลักมนุษยธรรมต้องร่วมกันประเมิน ไม่ใช่จากมุมของความมั่นคงเท่านั้น หากไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะลามไปมากกว่านี้

“หากรัฐยังใช้วิธีการผลักดันกลับเช่นนี้ แนวโน้มในอนาคต ผู้หนีภัยจากการสู้รบอาจไม่ได้ข้ามมาเป็นกลุ่มใหญ่แบบนี้ อาจอพยพมาทีละน้อย จะนำไปสู่เรื่องการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหาแรงงานข้ามชาติ เมื่อเป็นแบบนี้เอาแค่เรื่องการระบาดของโควิดเรื่องเดียวคุณก็จัดการยากแล้ว หากเราตั้งหลักมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีมาตรการรับมือ มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม จะสามารถป้องกันปัญหาที่ตามมาได้” นายสันติพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นเพราะระดับนโยบายไม่ชัดเจนหรือไม่ นายสันติพงษ์กล่าวว่า ตอนที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ในข่าวออกมาดีพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่การปฏิบัติในพื้นที่กลับสวนทาง และพบว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินปัญหา ทหารพรานอย่างหนึ่ง กองกำลังนเรศวรไปอีกอย่าง ฝ่ายปกครองทำอีกอย่าง ทำให้ไม่ชัดเจนว่ามาตรการในการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร
“ความสับสนที่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างเมื่อตอนประชุมคณะทำงานในวันที่ 21 พฤษภาคม ได้เสนอแผนงานรอพิจารณา ระหว่างนี้เราตกลงกันว่าขอส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าไปก่อนเป็นการเร่งด่วน แต่เมื่อผมลงพื้นที่และแจ้งให้ทหารพรานทราบว่าจะเข้าไปส่งของบรรเทาทุกข์ตามมติที่ประชุม กลับกลายเป็นว่าเส้นทางโดนปิด เขาบอกว่าหากจะเข้าไปช่วยต้องมีการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร และขออนุมัติไปที่ผู้ว่าฯ ถ้าเป็นแบบนี้ ใช้เวลาอีกเป็นปีก็ไม่รู้จะได้ให้ช่วยเหลือหรือไม่” นายสันติพงษ์ กล่าว
ด้านวิทยุ Radio Karen ของสำนักข่าว KIC รายงานข่าวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ว่า ทหารไทยได้ช่วยกองทัพพม่าในการส่งเสบียงให้ทหารพม่า ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทหารพรานของไทยได้ส่งเสบียงให้กับทหารพม่า ที่ประจำอยู่ตามพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน คือฐานวีจ้อท่า เหล่อเซ และฐานจอท่า อยู่ในเขตมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง โดยพบว่าการขนส่งมีการใช้เรือเร็วสีดำ 4 ลำ จำนวน 9 เที่ยว และเรือเล็กเครื่องยนต์ฮอนด้า 1 ลำ จำนวน 8 เที่ยว
พ.อ. เกลอ โด่ โฆษกกองพล 5 KNU ได้ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริงและกล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ คือกองทัพพม่าได้ยึดอำนาจโดยการใช้กำลังทางทหาร เป็นกลุ่มคนที่ไม่ถูกกฎหมายไม่ได้รับเลือกโดยประชาชน ทหารต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการที่มายึดเอาอำนาจและอยู่เหนือกฎหมายแบบนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ทหารไทยก็ควรตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่กองพลที่ 5 เพราะทหารพม่าได้กดขี่ การที่ไปช่วยส่งเสบียงสนับสนุนทหารพม่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่เหมาะกับการที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้
สำนักข่าว KIC ระบุอีกว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ทหารพม่าได้ส่งเสบียงเข้ามาเพิ่มในพื้นที่เคปู ถึง ตะเมท่า ส่งผลให้เกิดการปะทะ ขณะเดียวกันทหารพม่าที่ประจำอยู่ตรงฐาน จอเฆ่อโจ ทำการยิงปืนใหญ่ลงมายังหมู่บ้าน จอเฆ่อท่า และพื้นที่หมู่บ้านมอโก่ และบ้านก้อเท่อเดอ
ขณะที่ชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบรายหนึ่งกล่าวว่าทหารไทยขึ้นมาหาพวกตนที่หนีมาพักพิงอยู่ในพื้นที่ ต.แม่คง โดยล่าสุดชาวบ้านทั้งหมดถูกกดดันให้กลับฝั่งรัฐกะเหรี่ยงแล้ว
“ทหารไทยมาอยู่กับพวกเราที่นี่ แจ้งขอให้ชาวบ้านกลับ เราบอกว่าขอเวลาอีกสักนิด จะค่อยๆ จัดการภายในสัปดาห์นี้ แต่เขาไม่ให้อยู่ เด็กๆ ก็ลำบากเพราะอากาศร้อน ไม่มีที่พัก ไม่มีอะไรรองรับ ชาวบ้านผู้หนีภัยที่นี่มีทั้งผู้สูงอายุ แม่ลูกอ่อนที่เพิ่งคลอด เราอยากขอผ่อนผันให้กลุ่มเปราะบางได้พักสัก 1-2 สัปดาห์ แต่ก็จำเป็นต้องกลับทั้งหมด” ชาวบ้านที่หนีภัยรายนี้ กล่าว
ข่าวแจ้งว่า ในรัฐคะเรนนี หรือรัฐคะยา ตรงข้าม อ.ขุนยวม และอ.เมืองแม่ฮ่องสอน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีสถานการณ์ความไม่สงบ เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับแนวหน้าประชาชนป้องกันตนเอง KPDF โดยกองทัพพม่าระดมโจมตีประชาชนทั้งทางพื้นที่ด้วยปืนใหญ่ และกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นทันที่อย่างน้อย 10,000 คน หนีภัยกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ


__________