
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนพนักงานบริการในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ ในเครือข่ายมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ประมาณ 20 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการ
ทั้งนี้แถลงการณ์ของเครือข่ายพนักงานบริการระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งตอนนี้ เป็นเวลากว่า 18 เดือน ส่งผลกระทบต่อพนักงานบริการยาวนานต่อเนื่อง คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน พนักงานบริการไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงประกันการว่างงาน อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการก่อนจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดแต่ไม่เยียวยาใด ๆ รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
“ไม่รู้จะได้กลับมาทำงานได้เมื่อไร ไม่มีเงินเยียวยา ไม่รู้จะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร เงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน เห็นชัดว่าว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลยซึ่งการทำงานที่ผิดพลาด ล่าช้าของรัฐบาล ไม่เพียงส่งผลกระทบกับพนักงานบริการและครอบครัว โดย 80% เป็นแม่ซึ่งเป็นหลักของครอบครัวที่ต้องดูแลคนข้างหลัง”ในแถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ระบุว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการถือว่าเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของประเทศไทยมาตลอด งานวิจัยในหลายสำนักที่นำเสนอว่า ธุรกิจบริการทางเพศ สร้างรายได้ ปีละ 1.2 – 4 แสนล้านบาท เพียง 1% จากรายได้เป็นเงินกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาเยียวยาพนักงานบริการที่เป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศแต่ในทางตรงข้าม พนักงานบริการกลับถูกทำให้เป็นอาชญากร ตั้งใจมองไม่เห็นทิ้งพนักงานบริการไว้ข้างหลัง
แถลงการณ์ระบุว่า พนักงานบริการได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดย เรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการเนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการตามมาตราการของภาครัฐ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือรายครั้งและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ แต่ เอ็มพาวเวอร์ได้รับหนังสืบตอบกลับฉบับเดียว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ว่าสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประสานส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว
ตัวแทนพนักงานอะโกโก้ กล่าวว่า ตนทำงานอะโกโก้มา 3 ปี อยู่มาแล้วหลายแห่ง ภาพที่เห็นคือมีคนตกงานพร้อมกันทีเดียวนับ 100 คนในร้านเดียว แล้วในถนนหนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 20 ร้าน บางร้านมีคนทำงานเยอะ บางร้านมีคนทำงานน้อย ถ้าลองเฉลี่ยแค่โซนโซนเดียวก็หลักหลายพัน ที่สำคัญพวกตนไม่เคยมีประกันสังคม หรือมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการอะไรกับร้านอยู่แล้วเพราะว่าร้านจ้างแล้วจ่ายแบบไม่ผูกมัด ทำให้ตอนนี้เงินเก็บหมดไปแล้วเพราะต้องดูแลที่บ้าน
“เราถึงต้องมาขอแต่เงินเยียวยา ไม่ใช่ว่าเราจะขอเอาแต่เงิน เราก็หางานทำ ทำอะไรได้เราก็ทำ ทำมาหลายงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบก็เพราะว่ารัฐบาลสั่งปิด ถ้าเราได้กลับมาทำงานแล้วอาจจะยังได้ค่าตอบแทนรายวันอยู่บ้างแต่นี่มันคือศูนย์เลย”พนักงานอะโกโก้ กล่าว
ขณะที่ตัวแทนพนักงานอาบอบนวดกล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด พอร้านถูกสั่งปิดพนักงานไม่มีสวัสดิการและไม่มีประกันสังคม ตั้งแต่ปิดมา ตนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากทางร้าน เงินเยียวยาก็ต้องยอมรับว่ามันไม่พอกับแม้กระทั่งค่าเช่าห้องด้วยซ้ำยิ่งในรอบรอบ 3 และรอบใหม่ครั้งนี้ไม่ได้ให้เป็นเงินสด ยิ่งทำให้เอาไปใช้ไม่ได้เพราะว่าจริงๆเรามีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย