ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล “ฮุน เซน”เหยียบคันเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปัญหาที่ดินในกรุงพนมเปญตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะการไล่รื้อ-เผาไล่ที่อยู่อาศัยของคนยากคนจนเพื่อนำไปให้สัมปทานภาคเอกชน และต่างชาติทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่
แต่รัฐบาลจัดหาสิ่งชดเชยไม่เป็นธรรม ปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชั่นทุกระดับ คนสลัมลุกฮือขึ้นต่อต้านเป็นระยะ เจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้กำลังรุนแรง ทำร้ายผู้หญิงจนแท้ง จับกุมแกนนำไปหลายคน ผู้ไร้ทางต่อสู้ยอมออกไปอยู่นอกเมือง
คนระดับล่างในเมืองหลวงเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนเลือกตั้ง (28ก.ค.56) 5 วัน กลุ่มนักข่าว ลงเก็บข้อมูลไล่รื้อสลัมในกรุงพนมเปญ ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงโค้งสุดท้าย
จุดแรกที่ชุมชน “โบรี กีลา” กลางกรุง ย้อนไปปี 2545 รัฐบาลยึดที่ดินตรงนี้ให้ต่างชาติเช่าพัฒนา และรับปากชาวบ้านจะสร้างแฟลตรองรับ 10 หลัง แต่สร้างเสร็จแค่ 8 หลัง คนมีฐานะจึงเข้าอยู่ได้โดยจ่ายใต้โต๊ะห้องละ 3,000 เหรียญสหรัฐฯ
ส่วนคนจนกว่า 500 คนถูกต้อนไปอยู่ห่างพนมเปญ 20 กิโลเมตร เหลืออีก 107 ครอบครัวปักหลักต่อสู้อยู่บนที่ดินแคบยาวราว 3 ไร่ด้านหลังแฟลต
สภาพโบรี กีลาวันนี้ไม่ต่างจากแหล่งเสื่อมโทรม ชาวแฟลตทิ้งขยะลงมากองเป็นหย่อมๆ บ้านใหญ่กว่าคอกหมูเล็กน้อย เรื่องสุขภาวะไม่ต้องพูดถึง
แต่พวกเขาก็ทนอยู่ทนสู้จนกว่ารัฐบาลจะสร้างแฟลตอีก 2 หลังให้เสร็จ และให้สิทธิเข้าอยู่ตามสัญญา
107 ครอบครัวแปรความคับแค้นเป็นพลัง ยกระดับความรู้และทักษะการต่อสู้ สามารถเชื่อมเครือข่ายชุมชนคนจน 185 กลุ่มใน 7 เขตทั่วพนมเปญเป็น “สหพันธ์ชุมชนคนจนในเมือง” มีสมาชิกถึง 14,000 คน
เปจ ลำคูน แกนนำโบรี กีลาในวัยกลางคน แต่แววตามุ่งมั่นราวคนหนุ่ม พูดกับสื่อไทยอย่างไม่หวั่นเกรงคนของรัฐที่มาสังเกตการณ์อยู่ใกล้ๆ
“ผมรักประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่นี่จ่ายเงินปุ๊บก็ได้ปั๊บ มันตลกดีมั้ย ประเทศไหนที่มีประชาธิปไตย ต้องมีความเท่าเทียม เราพูดความจริง ไม่เห็นต้องกลัวใคร”
ตอนสาย เราออกจากพนมเปญไปทางเหนือราว 20 กิโลเมตร ไปเยี่ยมชาวโบรี กีลาซึ่งโดนตำรวจใช้กำลังบังคับขึ้นรถขนควายมาอยู่ที่หมู่บ้านพนมบาต อ.ปันเฮียร์ลือ จ.กันดาล
ทีแรกบริษัทก่อสร้างแฟลตรับปากให้ค่าชดเชย และวัสดุก่อสร้างบ้าน แต่พอมาถึงกลับได้ที่ดินสร้างบ้านคนละ 4×12 เมตร เงินชดเชยไม่ครบ เสา สังกะสีได้ครึ่งเดียว มิหนำซ้ำยังมีสถานะแค่ถือสิทธิอยู่อาศัย
คนที่นี่ส่วนหนึ่งเช่านาปลูกข้าว ใครจนมากๆต้องเข้าไปหางานรับจ้างในพนมเปญ ส่วนใหญ่รับสภาพใหม่ได้ พอหางานมีรายได้ดำรงชีวิตตามอัตภาพ จะลำบากหน่อยก็ตอนเจ็บไข้ได้ป่วย
จุดสุดท้าย ไปดูชุมชน “ทมอโกล” ติดสนามบินพนมเปญ ต้นปีนี้ บริษัท SCA ส่งเอกสารในนามรัฐบาลมาให้เจ้าบ้าน 180 หลังคาเรือนกรอกยินยอมย้ายออกไป อ้างว่ามีโครงการขยายสนามบินออกไป 10 เมตร ชาวบ้านขอสัญญาจัดสรรที่ดินใหม่ให้พร้อมเอกสารสิทธิ์ บริษัทไม่รับปาก เมื่อชาวบ้านไม่ยอม บริษัทโทร.ข่มขู่ 2 ครั้ง บางรายเก็บของไว้ล่วงหน้า เพราะกลัวโดนไล่รื้อกระทันหัน
“หลังสิ้นยุคเขมรแดง เรามาจับจองและซื้อที่ดินแปลงนี้ราคา 10,000 เหรียญสหรัฐฯ รอรัฐออกเอกสารสิทธิ์มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนบัดนี้ยังไม่ได้เลย ฉะนั้นเราไม่กลัวเขาไล่รื้อ จะต่อสู้จนถึงที่สุด” คิว สาลี เจ้าของบ้านติดกำแพงสนามบินพูดอย่างมั่นใจ
2 วันที่ได้สัมผัสชุมชนแออัดในเมืองหลวง ทำให้พบว่า นอกจากมีความยากจนเป็นอาภรณ์สวมใส่แล้ว พวกเขายังมี “3ไม่”เป็นเครื่องประดับ
ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่อยู่ที่ทำกิน ,ไม่มีชื่อในสำมะโนครัวประชากร และไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
อาจกล่าวได้ว่า คนเขมรจำนวนมากหลังยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีสภาพแค่ “พลเมืองชั้นสอง”
มีแค่อากาศหายใจเท่านั้นที่เป็นของตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ กระแสความรู้สึกความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงค่อยๆลามไปทั่วเมืองหลวงและปริมณฑล
เราไม่แปลกใจเลยทำไม ส.ส.พรรครัฐบาลเกือบสูญพันธุ์ในกรุงพนมเปญและ 3 จังหวัดปริมณฑล
จะให้คนส่วนใหญ่ในเมืองเลือก “ฮุน เซน”ลงได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาถูกกดขี่ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมานานเกินทน
—————————
ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน
22 กันยายน 2556