
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นักวิชากการจากหลายสถาบัน อาทิ ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD)/ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ที่ปรึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสืบสกุล กิจนุกร ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกันลงนามในหนังสือถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมสำเนาถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือในการทบทวนนโยบายการสกัดกั้นนักศึกษา-นักวิชาการจากเมียนมาเข้าประเทศไทย
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่เกิดการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศเมียนมาโดยกลุ่มนายทหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และมีการจับกุมคุมขังอดีตผู้นำประเทศและบุคคลที่สนับสนุน อันเป็นผลให้เกิดการประท้วงต่อต้านและเป็นที่มาของการปราบปรามอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้ร่วมการประท้วงและประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องหลบหนีการจับกุมเข้ามาในประเทศไทยและประเทศที่3 โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเรียกร้องให้ผู้นำทหารแก้ใขปัญหาด้วยสันติวิธีผ่านการเจรจาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินการตามข้อเสนอ 5 ประการ ที่รัฐบาลทหารเมียนมามีท่าทียอมรับ แต่การดำเนินการให้เป็นจริงดูจะยังห่างไกล
ในขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศเมียนมายังคงมีความรุนแรง การออกหมายจับ การจับกุมคุมขังและการสู้รบในรัฐต่างๆในประเทศเมียนมายังคงดำเนินต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาถูกสั่งปิด นักวิชาการกว่า 80 % ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกให้ออกจากตำแหน่งหรือไม่ ก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ การเรียนการสอนหยุดชะงักและไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะได้รับการแก้ไข สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ “ความหายนะทางการศึกษา” ของประเทศเมียนมาซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตของการพัฒนาบุคลากรที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศเมียนมาต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทย
ในหนังสือระบุว่า ในฐานะนักวิชาการที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักวิชาการ และ นักเรียนนักศึกษา กอปรกับสถาบันการศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาและระดับที่ลดหลั่นลงไป มีนโยบายรับนักศึกษาจากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมอบให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาที่ห่างไกลออกไปแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของการศึกษาไทย (internationalization of the Thai education) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักศึกษาจากประเทศเมียนมา หลายสถาบันได้รับนักศึกษาและนักวิชาการที่ยังต้องการการพัฒนาทางวิชาการเข้ามาในฐานะนักศึกษาและนักวิจัยในสถาบันต่างๆจำนวนหนึ่ง สถาบันเหล่านั้น ต่างประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ 1.นักวิชาการและนักศึกษาที่รับมาเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ต้องมีการเปลี่ยนชนิดของวีซ่า ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยอุปสรรคหรือทำไม่ได้ การแนะนำให้คนเหล่านี้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้สมัครขอวีซ่าใหม่เป็นชนิดที่ถูกต้องทำไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์แพร่กระจายของโรคโควิด-19
2.มีนักศึกษาและนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในประเทศเมียนมา แม้จะมีเอกสารเดินทางครบถ้วน แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ด้วยนโยบายงดออกวีซ่าชนิดต่างๆให้กับประชาชนเมียนมาของรัฐไทย และ/หรือนโยบายปิดกั้นการเดินทางออกนอกประเทศโดยเมียนมาเอง 3.มีนักศึกษาและนักวิชาการบางคนที่ต้องหนีภัยการจับกุมหรือหนีภัยความตาย โดยไม่มีเอกสารการเดินทาง ทางเดียวที่คนเหล่านี้จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ คือ การเดินทางผ่านพรมแดนธรรมชาติซึ่งมีความเสี่ยงต่อการจับกุม คุมขัง และส่งกลับโดยรัฐไทย
หนังสือระบุด้วยว่าเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการที่สามารถเข้ามาศึกษาและทำงานวิชาการในประเทศไทยได้ พวกเราในฐานะนักวิชาการจึงเรียนมาเพื่อขอหารือและเสนอแนะว่า 1.นักวิชาการและนักศึกษากลุ่มแรกที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องและอยู่ในประเทศไทยแล้ว ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาผ่อนผันปรับเปลี่ยนชนิดของวีซ่าเป็นวีซ่านักศึกษา/วิชาการ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ 2.อนุญาตให้นักศึกษา นักวิชาการที่ได้รับการตอบรับเข้าศึกษา วิจัย หรือทำงานจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินทางมาได้ สามารถสมัครขอวีซ่าอย่างถูกต้อง และเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางอากาศ และชายแดนทางบก โดยให้ยึดถือหนังสือตอบรับของแต่ละสถาบันการศึกษาเป็นหลักฐานสำคัญ
3.บุคคลที่หนีภัยความตายและการจับกุมคุมขัง โดยเฉพาะที่มีหนังสือตอบรับของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยตามข้อที่ 2ขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องผ่อนผันให้เดินทางผ่านแดนเข้ามาโดยไม่มีการจับกุม และดำเนินการเปิดสำนักงานประสานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 มาปรับใช้โดยอนุโลมเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทยได้ และได้รับการศึกษาและความคุ้มครองตามหลักการระหว่างประเทศทั้งหลักการสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่ประเทศไทยยึดถือ
“การปรับนโยบายให้ผ่อนปรนขึ้นสำหรับคนบางกลุ่ม อย่างน้อยในขั้นแรก ขอให้ปรับใช้กับบุคคลที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อการศึกษา การดำเนินการเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชนแก่ประเทศเมียนมาในอนาคตและบุคคลเหล่านั้นแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์กับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และชื่อเสียงของประเทศไทยที่จะได้รับการชื่นชมจากประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มีอะไรที่รัฐไทยจะทำได้ในขณะนี้ดีไปกว่าการประกันอนาคตของประเทศเมียนมาและอนาคตของบุคคลเหล่านั้นด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้คนเหล่านั้น”หนังสือระบุไว้ในตอนท้าย
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ที่ปรึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานบันวิชาการต่างต้องการนักศึกษาและนักศึกษาพม่าเหล่านี้ต่างเข้ามาพร้อมทุน หากประเทศไทยเปิดรับพวกเขาจะทำให้สังคมโลกเห็นว่าเราไม่ใจไม้ไส้ระกำเกินไปการรับเขาไว้ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรต่อไปซึ่งผู้ที่ได้ประโยชนั้นคือทั้งพม่าและไทย อนาคตเราหวัวว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้อยู่ตราบนานเท่านาน
อาจารย์มหาวิทยาลัยในนครย่างกุ้งรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยและนักศึกษาส่วนใหญ่เข้าร่วมต่อต้านทหารพม่าทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอนเกือบทั้งประเทศโดยทหารพม่าพยายามที่จะเปิดมหาวิทยาลัยเพื่อทำให้เห็นว่าสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่อาจารย์และนักศึกษาไม่ยอมเพราะนอกจากต้องการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับทหารแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพในเรื่องโควิดซึ่งทหารพม่าไม่ได้ดูแลเรื่องเหล่านี้เลย
“ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเองก็รู้ว่าทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา แต่พวกเราต้องเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและยอมตกงาน บางส่วนหนีมาชายแดนไทยเพราะอยู่ในประเทศไม่ได้กลัวถูกทหารจับเข้าคุก บางส่วนหลบหนีไปฝึกอาวุธอยู่ในกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ พวกเราต้องการทำให้เห็นว่าไม่ยอมรับเผด็จการ ทั้งประเทศมีมหาวิทยาลัยเปิดไม่กี่แห่ง บางคนส่วนที่เปิดเมื่อไปมหาวิทยาลัยก็ต้องระมัดระวังตัวเพราะกลายเป็นว่าเป็นศัตรูกับฝ่ายที่ต่อต้านทหาร”อาจารย์รายนี้กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า อาจารย์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะสอนออนไลน์ให้กับนักศึกษา แต่ก็มีปัญหา ถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีก 1-2 ปี ระบบการศึกษาในประเทศพม่าพังทลายแน่ และจะพังไปหมดทุกๆด้าน ทุกวันนี้ยังมีการปะทะและนักศึกษาเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน หลายคนจึงต้องหนีออกนอกประเทศไปทางพื้นดินเพราะหากไปทางเครื่องบินต้องถูกทหารพม่าจับกุมแน่