เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 นาง Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ( UN High Commissioner for Human Rights ) ได้ออกแถลงการณ์ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มการกดดันต่อกองทัพพม่าเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่าและยืนยันว่าต้องมีการคืนรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว เนื่องจาก 1 ปีหลังการยึดอำนาจในพม่าโดยกองทัพ ประชาชนชาวพม่าได้ต่อสู้โดยแลกมาด้วยชีวิตและการสูญเสียอิสรภาพ แต่ยังเรียกร้องด้วยความไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาธิปไตย
“สัปดาห์นี้ดิฉันมีโอกาสได้พบกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ที่ยังมีกำลังใจต่อสู้ พวกเขาต่างร้องขอไม่ให้นานาชาติทอดทิ้ง และขอให้มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งเพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของประชาชนได้รับการปกป้องและกองทัพออกมารับผิดชอบ ดิฉันขอให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้และที่อื่น รวมถึงภาคธุรกิจรับฟังข้อเรียกร้องนี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า ผู้ที่กระทำผิดต้องรับผิดชอบ”
เธอกล่าวว่า ได้รับฟังเรื่องราวที่น่ากลัวของนักข่าวหลายรายที่ถูกทรมาน รวมถึงแรงงานที่ถูกปิดปาก การข่มเหงประชาชนชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาที่แตกต่าง การจับกุมกักขังตามอำเภอใจ การโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่มีประชาชน แสดงให้เห็นถึงการไม่ใส่ใจต่อชีวิตมนุษย์อย่างรุนแรง
ทั้งนี้สำนักงานสิทธิมนุษยชนฯได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพพม่าซึ่งพบว่า ประชาชนอย่างน้อย 11,787 คน ถูกจับกุมเนื่องจากคัดค้านรัฐประหาร ทั้งที่ประท้วงอย่างสันติหรือเข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์โดย 8,792 คนยังคงถูกคุมขัง และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 290 ราย คาดว่าเกิดจากการถูกทรมาน
แม้จะมีการประณามการทำรัฐประหารโดยนานาชาติแต่กลับไร้ผล ขณะที่มาตรการของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและอาเซียนก็ไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้กองทัพพม่ายุติความรุนแรงและหันมาเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตนเองยินดีที่มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งถอนตัวด้านการลงทุนจากพม่าด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่มีพลังด้านการเงินกดดันทหารพม่า
ในวันเดียวกัน Save the Children รายงานว่านับตั้งแต่รัฐประหารในพม่าเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 เด็กอย่างน้อย 150,000 คนถูกบังคับให้หนีสงครามและออกจากบ้าน โดย 1 ปีหลังรัฐประหารในพม่า ความรุนแรงต่อพลเรือน รวมทั้งเด็กและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็ก ๆ ถูกสังหารในการทิ้งระเบิดและการบุกโจมตีหลายครั้งโดยทหารพม่า ทั้งในรัฐคะเรนนี และภูมิภาคสะกาย รวมถึงการทิ้งระเบิดใส่ค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐคะเรนนี
องค์กรสิทธิเด็กกล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังล้มเหลวในการหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในการปกป้องเด็กจากการถูกโจมตี ความรุนแรง และการพลัดถิ่น โดยจากตัวเลขล่าสุดของสหประชาชาติ (UN) ประชาชนอย่างน้อย 405,700 คนต้องพลัดถิ่นจากการต่อสู้ในพม่านับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว และเมื่อเดือนที่แล้วจำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์
องค์กรช่วยเหลือระบุว่า จากจำนวนผู้พลัดถิ่นทั้งหมดในพม่า ประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวริมป่า กำลังประสบกับความหิวโหย ความเจ็บป่วย และความอันตราย
ขณะที่ Inger Ashing ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Save the Children International กล่าวว่า ” ในปีที่ผ่านมา เด็ก 150,000 คนทั่วประเทศพม่า ต้องแยกจากเพื่อน โรงเรียน และบ้านของพวกเขา เด็กๆ และครอบครัวกำลังหนีภัยสงครามเพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก พวกเขาถูกบังคับให้ต้องซ่อนตัวอยู่ในป่า และอาศัยอยู่ในสภาพที่เลวร้าย”