เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 นายสมศักดิ์ บุญมาเลิศ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ตุลาคมซึ่งเป็นวันจันทร์แรกของเดือนเป็นวันที่อยู่อาศัยสากล World Habitat Day ซึ่งเครือข่ายสลัมฯได้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวโดยในช่วงเช้า ชาวสลัมและพันธมิตรราว 4 พันคนจะเดินทางไปยังบริเวณหน้าศาลาว่าการ กทม.เพื่อหารือถึงปัญหาของคนจนพร้อมรับมอบเอกสารโฉนดชุมชนบึงลำไผ่ เขตมีนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของ กทม. 70 ไร่แต่ชาวบ้านได้ขอนำมาเป็นพื้นที่รองรับสำหรับชาวบ้านที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัย 5-6 ไร่
“ปีนี้ในส่วนของ กทม.มีการแก้ไขปัญหาให้กับชาวสลัมได้คืบหน้ากว่าทุกๆปี การมอบที่ดินให้ทำโฉนดชุมชนตามข้อเรียกร้องของเราถือว่าเป็นครั้งแรกของโฉดนชุมชนใน กทม. ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.จะเดินทางมาพบชาวบ้านด้วยตัวเอง” นายสมศักดิ์ กล่าว และว่าเครือข่ายสลัมฯได้เรียกร้องพื้นที่ทำโฉนดชุมชนจากกทม.ไว้ 5 แห่ง
นายสมศักดิ์กล่าวว่า หลังจากเสร็จภารกิจที่ กทม.แล้ว ขบวนชาวบ้านจะเดินเท้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์ เช่น การไม่เห็นด้วยกับ สว.ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการวางดอกไม้จันทน์เพื่อไว้อาลัยแด่รัฐธรรรมนูญ หลังจากนั้นจะแยกเป็น 2 ขบวน โดยชาวบ้านจำนวน 1 พันจะเดินเท้าไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามข้อเรียกร้องกรณีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยเราต้องการให้มีการปลดล็อค 61 ชุมชนเพื่อให้เช่าที่ดินได้ แต่รฟท.ไม่ยินยอมและไม่ยอมลงพื้นที่แถมยังดำเนินคดีกับชาวบ้านเพิ่มขึ้น
“การแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท.มีความคืบหน้าน้อยมากเมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐอื่นๆเพราะรัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการไปยัง รฟท.ได้ และ รฟท.เองก็มุ่งเน้นใช้สอยที่ดินไปในเรื่องธุรกิจจนไม่ยอมแบ่งปันให้ชาวบ้าน”นายสมศักดิ์ กล่าว
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ขบวนชาวบ้านที่เหลืออีก 3 พันคนจะเดินเท้าไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อติดตามข้อเรียกร้องต่างๆ โดยในเรื่องของสาธารณูปโภคที่ต้องการให้รัฐอุดหนุนโครงการบ้านมั่นคงนั้น ไม่น่ามีปัญหา เช่นเดียวกับเรื่องการต่อน้ำและไฟฟ้าในส่วนต่อขยายตามชุมชนต่างๆ ซึ่งในอดีตชาวบ้านต้องใช้น้ำและไฟฟ้าแพงเพราะต้องต่อเอาจากเพื่อนบ้านที่มีมิเตอร์น้ำประปา-ไฟฟ้า หากต้องการให้ต่อก็ต้องเสียค่าปักเสาและพาดสายไฟ แต่ขณะนี้ได้มีการรับปากว่าจะไม่มีการเรียกเก็บจากชาวบ้านเพราะเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานนั้นๆ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เครือข่ายฯ ยังได้เรียกร้องให้ พม.ช่วยเหลือชาวบ้านในการจัดหาที่พักราคาถูกสำหรับชาวบ้านที่เข้ามาหางานทำในกทม.และเมืองใหญ่ เพื่อลดภาระให้กับคนหาเช้ากินค่ำซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้เรายังไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องจำกัดการรวมกลุ่ม อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ เราต้องการให้คนที่อยู่บนเส้นความยากจนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับเงินบำนาญเดือนละ 3 พันบาท ไม่ใช่ได้แค่เบี้ยยังชีพที่ให้เป็นขั้นบันไดตามอายุ
“กรณีของคนไร้บ้านก็เช่นเดียวกัน เราต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงของคนไร้บ้านตามหัวเมืองใหญ่ๆ แม้ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 4 แห่ง ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานีและ กทม. แต่ไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีคนไร้บ้านเข้ามาใช้บริการมากขึ้น แม้ตอนแรกเขาไม่ค่อยมั่นใจ แต่เมื่อมีการเขียนกฎกติกากันเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เขามีความสุขขึ้นที่ได้มาอยู่ในศูนย์ฯเพราะทำให้พวกเขามีงานที่มั่นคงและมีความปลอดภัยขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว และว่า พรุ่งนี้นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี พม.จะเดินทางมาพบกับชาวบ้านหลังจากนั้นจะมีการการแถลงเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าวว่า หลังจากเสร็จภารกิจตามกระทรวงต่างๆ แล้ว ในเวลา 12.30 น.ขบวนทั้งหมดจะไปรวมตัวกันที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามข้อเรียกร้องต่างๆซึ่งเครือข่ายสลัมฯและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงาน แต่ขณะนี้หลายกระทรวงทำงานแบบเกียร์ว่างและไม่มีการเรียกประชุม ทำให้ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ดังนั้นจะประสานกับนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แจ้งต่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการแก้ไขปัญหาเพื่อสั่งการไปยังกระทรวงต่างๆ