เรื่อง/ภาพ สุวัต ษมาจิตโอบอ้อม

เช้าวันนี้ท้องฟ้าเปิด อากาศแจ่มใส ลมพัดจนกิ่งไม้เอนไหวไปมา สัมผัสถึงไอหนาว พวกเราเดินทางมาลงพื้นที่ชุมชนประมงแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “กำปงพลั๊วะ” (Kampong Phluk) หนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โตนเลสาบ มีชุมชนรอบข้างอยู่ในเขตปกครองเดียวกันอีก 3 ชุมชน มีจำนวนประชากร รวมทั้งสิ้น 3,820 คน โดย 65% หาปลาอยู่ในพื้นที่ 100,000 เฮกต้าร์ หรือ 16,000 ไร่ และ 35% พึ่งพาการท่องเที่ยว
ผมได้รับโอกาสเยือนชุมชนประมงโบราณแห่งโตนเลสาบ โดยเดินทางจากแม่น้ำสาละวินเดินข้ามไปอีกฟากฝั่งหนึ่งของลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อศึกษาวิถี ความสัมพันธ์ของคนในการพึ่งพาแม่น้ำหลากหลายมิติ รวมถึงการอยู่อาศัยและการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำที่ผันผวนขึ้นลงไม่เป็นไปตามปกติ
ทะเลสาบเขมร หรือ โตนเลสาบ เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 7 เท่า ความลึกโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 10 เมตร

เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทำให้โตนเลสาบขยายตัวออกกว้างมากถึง 6 เท่า กลายเป็นแหล่งพื้นที่พักน้ำตามธรรมชาติในการสร้างความสมดุลการไหลของน้ำ และเป็นวัฎจักรในการเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง แหล่งน้ำแห่งนี้มีปลาน้ำจืดชุกชุมมากแห่งหนึ่งราว 300 ชนิด แต่ละปีมีผลผลิตปลาราว 300,000 ตัน
โตนเลสาบมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีพันธุ์พืชหลายร้อยชนิด ช่วงฤดูน้ำหลาก ต้นไม้โผล่หัวเหนือน้ำ เป็นแหล่งพึ่งพิงอาศัยให้กับสรรพสิ่ง จำพวก แมลงนก กิ้งก่า ฯลฯ รวมถึงพันธุ์พืชบางชนิดเกาะตามลำต้นและกิ่งไว้ นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีสำคัญต่อระบบนิเวศ กลายเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ ส่วนในช่วงหน้าแล้งเมื่อโตนเลสาบหดตัวและแคบลงกลายเป็นแม่น้ำ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่เมืองพนมเปญ

กำปงพลั๊วะแตกต่างจากชุมชนอื่นในบริเวณโตนเลสาบคือประชาชนที่มีเชื้อสายกัมพูชาล้วน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ฮินดู และผีตามความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ โดยสร้างบ้านเรือนยกพื้นสูงราว 10 เมตร เพื่อปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลน้ำหลาก ไม่ให้เข้าท่วมถึงตัวบ้าน โดยใช้ไม้ในพื้นที่เป็นหลัก ภายใต้การจัดการกฎระเบียบข้อบังคับใช้ที่ร่วมสร้างขึ้น และภายในชุมชนมีสถานที่สำคัญ เช่น วัด โบสถ์ โรงเรียน สาธารณะสุข สำนักงานตำรวจทางน้ำ รวมถึงสถานที่ราชการทางปกครอง เป็นต้น
ชุมชนกำปงพลั๊วะได้รับการส่งเสริมอาชีพจากหน่วยงานข้างนอกด้านการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ดำเนินการควบคู่ไปกับวิถีการทำประมง เพื่อเป็นทางเลือกทางอาชีพก่อเกิดรายได้เสริม และลดปริมาณหาปลารวมถึงสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ เช่น งู เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศในแม่น้ำมากขึ้น
อย่างไรก็ตามชุมชนได้ประสบปัญหาวิกฤติโควิด 2019 จึงขาดรายได้จากการบริการท่องเที่ยว ส่งผลให้ต้องหันมาพึ่งการประมงเป็นหลักเพื่อสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวอยู่รอดได้ ขณะเดียวกันชาวบ้านต้องเผชิญความยากลำบากเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงจนจับปลาได้ปริมาณน้อยลง

“พวกเราต้องใช้เวลาหาปลานานกว่าเดิม ต้องนั่งเรือออกไปไกลมากขึ้น ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ส่วนหนึ่งมาจากคนหาปลาเพิ่มขึ้น และการใช้เครื่องมือลากอวน รวมถึงการรุกล้ำพื้นที่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของนายทุนและบุคคลภายนอก”ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการอธิบายปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงถึงระดับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเพาะพันธุ์ปลา
ชาวบ้านอธิบายว่าที่ผ่านมา ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ประสบภาวะวิกฤตภัยแล้ง ปริมาณแม่น้ำโขงลดระดับลงจนไม่สามารถไหลย้อนขึ้นไปถึงโตนเลสาบ และไม่สามารถเติมน้ำให้โตนเลสาบได้ เมื่อปริมาณน้ำน้อย ขาดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ที่อยู่ของปลาสูญหาย ส่งผลต่อปริมาณที่ปลาลดลง
นักอนุรักษ์เครือข่ายประชาชนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงของน้ำส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา สาเหตุสำคัญมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง โดยมีการควบคุมปล่อยน้ำตามความต้องการใช้ประโยชน์ของเจ้าของเขื่อน
“การควบคุมปล่อยน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ปริมาณมากบ้าง น้อยบ้าง เช่น การปล่อยน้ำช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ช่วงหน้าแล้ง ล้วนส่งผลต่ออุณหภูมิและคุณภาพของน้ำ ปลาบางชนิดไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ การสร้างเขื่อนต้องปิดกั้นลำน้ำ แหล่งอาหารถูกคุกคาม ตะกอนและแร่ธาตุอาหารปลาถูกดักไว้ ปลาไม่สามารถอพยพขึ้นวางไข่ได้”นักอนุรักษ์ กล่าว

วันนี้แม้โตนเลสาบกลายเป็นพื้นที่ที่รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนที่ไม่สามารถเติมน้ำได้ตามฤดูกาล แต่ชุมชนกัมปงพลั๊วะ ได้เริ่มเข้าสู่โหมดการปรับตัว หลังสถานการณ์วิกฤตโควิดซาลง พร้อมกับการกลับมาทำประมงและต้อนรับนักท่องเที่ยว
การเผชิญโลกกว้างครั้งนี้ ทำให้ผมได้มองย้อนกลับไปอีกฟากฝั่งหนึ่งในลุ่มน้ำสาละวิน ที่กำลังถูกคุกคามด้วยแผนพัฒนาพัฒนาแหล่งน้ำโดยอ้างถึงการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ด้วยวิธีการผันน้ำข้ามลุ่มจากแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล โดยไม่สนใจเลยว่าแม่น้ำสาขาคือแหล่งต้นทุนที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่คอยเลี้ยงแม่น้ำสายหลักและเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่กันและกัน โดยความสัมพันธ์ของแม่น้ำจะถูกตัดขาดออกจากันไม่ได้
ในอนาคตระยะใกล้นี้ ได้มีการคาดการณ์ถึงผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน หากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นจริง เชื่อว่าชะตากรรมการเผชิญความยากลำบากไม่อาจแตกต่างจากที่ชาวบ้านโตนเลสาบกำลังเผชิญ เพียงแค่ต่างพื้นที่ต่างวาระเท่านั้นเอง