
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ กรมควบคุมโรค จัดเวทีทบทวนโปรแกรมการดำเนินงาน HIV ของประเทศไทย (Thailand HIV programme review) เพื่อรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอปรับปรุงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานเอดส์ ตามแผนการยุติดปัญหา AIDS ให้สำเร็จในปี 2573 โดยมีตัวแทน 13 องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีการจัดเวทีย่อยในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ โดยเชิญองค์กรที่ทำงานในประเด็น HIV/AIDS ระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอต่อการทบทวนยุทธศาสตร์เอดส์ระดับชาติ ซึ่งมีการสรุปและจัดทำเป็นข้อเสนอ 6 ข้อ เพื่อเสนอต่อภาครัฐและองค์กรภาคีระดับชาติ โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ จะมีการสรุปข้อค้นพบและข้อเสนอแนะจากภาคี
สำหรับข้อเสนอ 6 ข้อ โดยองค์ภาคประชาสังคมต่อการบรรลุเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. การจัดบริการสุขภาพที่มีการเฝ้าระวังการตีตราและเลือกปฏิบัติ และลงมือแก้ไขเพื่อลดการตีตราและยุติการเลือกปฏิบัติในทุกขั้นตอนของบริการ 2. การผลักดันกฎหมาย นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 3. ความร่วมมือ การประสานงาน การกระจายอำนาจ และการสนับสนุนกลุ่มและเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และความยั่งยืนด้านการเงิน
4. การทำความเข้าใจกับคนในสังคมและการสื่อสารสาธารณะ 5. การสนับสนุนกลุ่มและเครือข่ายภาคประชาสังคมในการดำเนินงานลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ และการผลักดันกฏหมายนโยบายที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติ 6. การติดตามวัดผล และการนำข้อมูลการสำรวจติดตามสถานการณ์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์
ขณะที่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้แถลงข่าวในประเด็น HIV โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า การที่สถานพยาบาลหลายแห่งยังให้ผู้สมัครงานต้องตรวจหาเชื้อ HIV แสดงให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อบุคคลที่ติดเชื้อ HIV หลายกรณีแล้ว
กสม. ระบุต่อว่า ควรมีข้อเสนอแนะเพื่อเน้นย้ำให้มีการแก้ไขปัญหาในภาพรวม โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกระทรวงแรงงาน มีหนังสือขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ โดยเคร่งครัด รวมถึงปรับปรุงแบบฟอร์มการตรวจร่างกายในผู้สมัครงานให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน