
รัฐบาลพลัดถิ่น NUG ของพม่า ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 โดยระบุว่า เหตุโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่าในหมู่บ้านปะสิจี เมืองกั่นบะลู เขตสะกาย ก่อนหน้าเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 168 คน อย่างไรก็ตาม ศพเด็กอีก 10 ราย และศพผู้ใหญ่อีก 31 คน ยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์บุคคลได้ เหตุการณ์โจมตีทางอากาศครั้งนี้ สร้างความเศร้าสลดให้กับประชาชนในพม่า หลายฝ่ายเรียกร้องรณรงค์ให้งดเล่นน้ำสงกรานต์ ส่งผลให้บรรยากาศเล่นน้ำสงกรานต์โดยเฉพาะ นครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าเงียบเหงา
ในแถลงการณ์ของรัฐบาล NUG ระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิต 6 ราย อายุระหว่าง 5 – 14 ปี เสียชีวิต 19 ราย อายุระหว่าง 14 – 18 ปี เสียชีวิต 5 ราย และอายุมากกว่า 18 ปี เสียชีวิต 97 ราย นอกจากนี้ยังมีเด็กอีก 10 ราย และผู้ใหญ่อีก 31 ราย ยังไม่สามารถระบุเพศหรือบุคคลได้ โดยทางรัฐบาล NUG ระบุในแถลงการณ์ว่า ได้ให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบเหตุ นอกจากนี้ยังให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ครอบครัวที่ต้องสูญเสียในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งได้แบ่งปันข้อมูลให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นเป็นต้น และจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ต้องมาเสียชีวิตในเหตุการณ์การสังหารหมู่กระทำโดยกองทัพพม่าในครั้งนี้ด้วย

ขณะที่โฆษกจากกองพันที่ 4 ของกองทัพเพื่อประชาชนในเมืองกั่นบะลูเปิดเผยว่า ทุกครอบครัวในหมู่บ้านปะสิจี ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวจำนวน 2 – 4 คน จากเหตุการณ์โจมตีดังกล่าว ร่างกายของเหยื่อจำนวนมากถูกแรงระเบิดจนร่างแยกออกเป็นชิ้นส่วนหรือถูกเผาจนไม่สามารถระบุตัวตนได้
“ร่างกายไม่เหลือแม้แต่ชิ้นเดียวอีกต่อไป เราต้องหยิบแขนขาแต่ละข้างจากที่ต่างๆ แล้วนำมารวมกันเพื่อนับแต่ละคน และต้องเทียบขนาดแขนและขาเพื่อประกอบร่าง ร่างของเด็กหลายคนถูกบดขยี้เป็นชิ้นๆ เราพบศพเด็ก 2 คนในพุ่มไม้เมื่อเช้านี้ พวกเขาถูกยิงเสียชีวิตขณะซ่อนตัวอยู่ที่นั่น” เจ้าหน้าที่ PDF ยังเปิดเผยกับสำนักข่าว Myanmar Now ร่างเด็กทั้ง 2 คนนั้นถูกยิงจนร่างพรุน
ขณะที่กองทัพพม่ายอมรับว่าได้โจมตีฝ่ายต่อต้าน แต่อ้างว่า เหตุที่มีผู้สูญเสียในเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้เป็นจำนวนมากเนื่องจาก ฝ่ายต่อต้าน PDF ได้เก็บระเบิดไว้รอบๆพื้นที่ จึงทำให้เกิดระเบิด นอกจากนี้ยังโจมตี PDF ในพื้นที่ว่าได้บังคับให้ประชาชนเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยใช้ชาวบ้านเป็นโล่กำบังมนุษย์ ขณะที่ PDF ในพื้นที่เกิดเหตุได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว
ขณะที่บรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยเฉพาะที่เมืองหลวงเก่า อย่างกรุงย่างกุ้ง เป็นไปอย่างเงียบเหงา หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเขตสะกาย คนหนุ่มสาวบางส่วนให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาไม่มีความรู้สึกที่อยากจะเฉลิมฉลองสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ และพวกเขาเองรู้สึกว่า ไม่ควรทำในช่วงเวลานี้และเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าเทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลรื่นเริงสนุกสนานเมื่อหลายปีก่อนก็ตาม
“หากเหตุการณ์อย่างเมื่องกั่นบะลู เกิดขึ้นในครอบครัวของเรา เราคงคิดไม่ออกเลยว่าจะออกไปข้างนอกหรือหาความสุขให้กับตัวเราเองอย่างไร ยังไม่มีความสงบสุขในประเทศนี้ และเรายังไม่ได้รับการปลดปล่อยจากรัฐบาลทหาร ดังนั้นเราต้องต่อต้านต่อไป” ชาวเมืองย่างกุ้งวัย 28 ปีคนหนึ่งกล่าว