เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน และเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง นำโดย นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงภาคอิสาน นายชัยวัฒน์ พาระคุณ จาก จ.หนองคาย นายอำนาจ ไตรจักร์ จาก จ.นครพนม นายชาญณรงค์ วงศ์ลา จาก จ. เลย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากโครงการเขื่อนสะนะคาม ที่จะสร้างผลกระทบในด้านต่าง ๆ
นายมนตรีกล่าวว่า วันนี้ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำโขงภาคอิสานได้มายื่นกับ กสม.ให้ตรวจสอบประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากมีการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนสานะคาม เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และผลการศึกษาที่นำเสนอในกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ก็ไม่มีความชัดเจน ไม่มีการรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน จึงต้องการให้ทาง กสม.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพราะชาวบ้านมีข้อกังวลว่าจะมีผลกระทบข้ามแดน
นายชาญณรงค์กล่าวว่า ชาวบ้านกังวลการสร้างเขื่อนสานะคามเพราะอยู่ห่างจากเขตแดนไทยไม่กี่กิโลเมตร หากมีการสร้างจะกระทบต่อระบบนิเวศ อุทกวิทยา ตะกอน ที่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก ผลกระทบจากเขื่อนเก่า ทั้งตอนใต้ของจีน และเขื่อนไซยะยังไม่มีการสรุปและทบทวนผลกระทบนี่ยังจะมีการสร้างเขื่อนใหม่ขึ้นมา
นายอำนาจ กล่าวว่า ขณะที่มีการเก็บข้อมูลมา 9 ปีถึงผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำโขง แต่ไม่มีการนำมาแสดง แต่กลับมีแผนสร้างเขื่อนใหม่มาอีกเรื่อย ๆ สร้างความกังวลให้กับคนลุ่มน้ำโขง
ทั้งนี้หนังสือที่ยื่น กสม.ระบุว่าโครงการเขื่อนสานะคาม เป็นโครงการลําดับที่ 5 ของโครงการเขื่อนขั้นบันได (cascade) ที่ตั้งอยู่บนแม่นํ้าโขงสายประธานตอนล่าง ในเขตประเทศ สปป.ลาว โดยเขื่อนสะนะคาม ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เหนือ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีบริษัท China Datang Overseas Investment Co., Ltd. เป็นผู้พัฒนาโครงการ มีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
เขื่อนสะนะคาม ได้เข้าสู่กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง(Mekong Agreement 1995) พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ซึ่งดำเนินการไปโดยความไม่สมบูรณ์ของรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเนื่องจากมีการใช้ข้อมูลการสำรวจที่ล้าสมัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรายงานการศึกษาที่ไม่ศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563-2564 ได้กำหนดขยายระยะเวลาสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA ในวันที่ 19 มกราคม 2565 อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันกระบวนการ PNPCA ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมได้ เนื่องจากขาดการศึกษาที่ชัดเจนต่อผลกระทบข้ามพรมแดน และข้อมูลโครงการที่เป็นปัจจุบัน
“ในกระบวนการ PNPCA นั้น สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้เผยแพร่เอกสาร การทบทวนทางเทคนิค(Technical Reviews Report: TRR) เพื่อประเมินรายงานการศึกษาโครงการเขื่อนสะนะคาม สรุปประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนสะนะคาม ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์, การเปลี่ยนแปลงปริมาณตะกอน, การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ได้นำมาซึ่งผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นทันที”หนังสือร้องเรียนถึง กสม.ระบุ
หนังสือระบุว่า ผลกระทบข้ามแดนทำให้แม่น้ำหิวตะกอน จะเกิดคลื่นกัดเซาะด้านท้ายน้ำอย่างรุนแรงในระยะทาง 100 กิโลเมตรตามลำน้ำโขงท้ายเขื่อน และมีระยะทางไกลไปจนถึงกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ตลอดช่วงเวลา 7 ปีหลังเขื่อนเปิดดำเนินการ และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ที่เป็นเขตแดนธรรมชาติในแม่น้ำโขง ระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว เนื่องจากการกัดเซาะของกระแสน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนสะนะคาม
“ผลการศึกษาของเอ็มอาร์ซีในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจากเขื่อนสะนะคาม เป็นข้อมูลที่ยืนยันผลกระทบข้ามแดนต่อชุมชนและระบบนิเวศแม่น้ำโขงในทุก ๆ ด้านในเขตประเทศไทย ตลอดแนว 7 จังหวัดติดแม่น้ำโขงได้แก่ เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งผลกระทบข้ามแดนดังกล่าวนี้ จะเพิ่มความรุนแรงของผลกระทบข้ามแดนที่เกิดจากเขื่อนที่สร้างแล้วของประเทศจีนและเขื่อนในประเทศ สปป.ลาว”หนังสือ ระบุ
นางสาวศยามน ไกยูรวงค์ กสม. กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลเขื่อนสานะคาม กสม.จะจัดเวทีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ ได้ชี้แจงและรับฟังชาวบ้านประมาณต้นเดือนกันยายน ติดตามผลกระทบข้ามแดนจาก สทนช. ถึงข้อกังวล

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่ ทาง กสม.มีขอบเขตจำกัดเฉพาะในประเทศ แต่จะพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำประเด็นข้อกังวลของชาวบ้านที่องค์กรเอกชนได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์มาเป็นข้อมูลทางการของ กสม. เพื่อผลักดันในเวทีกรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และการแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านี้ต่อไป
นอกจากนี้ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงยังได้เข้ายื่นเอกสารและติดตามการตรวจสอบโครงการเขื่อนปากแบง ที่ผ่านกระบวนการ PNPCA แล้ว อยู่ในระหว่างการรอลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ กฟผ. โดยได้รับการชี้แจงจาก ผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ขณะนี้ทาง ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังอยู่ในขั้นตอนการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง