เรื่องโดย จตุพร สุสวดโม้
ในวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี สหประชาชาติยกให้เป็นวันผู้ลี้ภัยสากลหรือ World Refugee Day โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุข้อมูลผู้อพยพในปลายปี พ.ศ.2564 มีประมาณ 89.3 ล้านคนทั่วโลกถูกบังคับให้พลัดถิ่น เนื่องจากการประหัตประหาร ความขัดแย้ง ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ในจำนวนนี้เกือบ 27.1 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย และเกือบครึ่งคือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากฝั่งพม่ากว่า 90,000 คนในค่ายผู้หนีภัยการสู้รบ (พื้นที่พักพิงชั่วคราว) จำนวน 9 แห่งตามเขตชายแดนไทย-พม่า อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและฝ่ายประชาชนอย่างรุนแรง โดยการสู้รบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ประชาชนชาวพม่าจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และหลบหนีเข้ามาประเทศไทย

แทน (นามสมมุติ) ชาวย่างกุ้ง พยายามลี้ภัยการเมืองจากประเทศพม่าเพื่อไปประเทศที่ 3 แต่ปัจจุบันโอกาสที่จะได้ไปสู่ประเทศปลายทางน้อยมาก เขาจึงได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในไทย
“ก่อนที่จะมาเมืองไทย ผมเข้าร่วมต่อต้านกองทัพพม่าด้วยการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวประท้วงอารยะขัดขืน Civil Disobedience Movement (CDM) หลังรัฐประหารสิ่งต่างๆ ในพม่าแย่ลงเรื่อย ๆ” แทนทำงานเป็นนักข่าวอยู่พม่าได้ไม่กี่เดือน จึงย้ายไปทำงานกับองค์ภาคประชาสังคม (NGO) ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้เรื่องสันติภาพและการเมืองแบบสหพันธรัฐ
แม้เขาไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากนัก แต่เพื่อความปลอดภัยในช่วงที่อยู่พม่า เขาไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเวลาที่ทำกิจกรรมการเคลื่อนไหว เพื่อให้หลุดรอดจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐพม่า เพราะอาจจะถูกจับกุมได้ เพื่อนของเขาหลายคนในตอนนั้นถูกจับกุม แม้แต่น้องชายของเขาเอง ที่ไปร่วมประท้วง ก็เกือบถูกตำรวจจับ โชคดีที่น้องชายเขาหนีได้ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส
“สถานการณ์พม่าในขณะนั้น แย่ลงเรื่อย ๆ มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงจำนวนมาก รัฐบาลตัดไฟฟ้า ปิดอินเทอร์เน็ต หลายต่อหลายครั้ง เพื่อป้องกันข่าวสารออกไปยังประเทศอื่นๆ หลังจากนั้นผมเริ่มคิดว่าถ้าอยู่ที่นี่ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว” ความรู้สึกของแทนในช่วงวิกฤต เขาคิดอย่างเดียวว่าต้องหาทางออก
ประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะมีพรมแดนติดกัน อย่างน้อยเขาสามารถกลับไปพม่าอีกได้ เขาจึงตัดสินใจลี้ภัยมาประเทศไทยพร้อมกับหนังสือเดินทางและวีซ่านักศึกษา
“ตั้งแต่อพยพมายังประเทศไทย ผมไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย แต่ได้รับการสนับสนุนจากคนไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ที่นี่มีความเห็นอกเห็นใจเรา พวกเขาช่วยเราได้มาก เราสามารถจัดทำเอกสารได้ พวกเขาให้เรามาที่นี่อย่างปลอดภัยและราบรื่น” แทนกล่าว
เมื่อได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยในไทย ทำให้เขามีทางเลือกมากกว่าเพื่อนๆอีกหลายคน ขณะที่ทั้งเยาวชน ครู นักเรียน หลายพันคนถูกควบคุมระบบการศึกษาโดยกองทัพพม่า การเลือกเข้ามายังประเทศไทยเป็นโอกาสให้เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระมากขึ้น
“แม้ผมจะมีวีซ่าในการพำนักอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เพื่อนผู้ลี้ภัยชาวพม่าคนอื่นๆไม่มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่า หลายพันคนต้องหนีจากสงครามเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในไทย บางคนต้องทำงานโดยอย่างผิดกฎหมาย”
ในช่วงแรกของการรัฐประหาร การเดินทางออกนอกประเทศอย่างถูกกฎหมายเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทหารพม่าก็ใช้หนังสือเดินทางเป็นเครื่องมือในการลงโทษประชาชน ถ้าใครเป็นฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล จะไม่ยอมออกหนังสือเดินทาง
“หากคุณอยู่ในลิสต์รายชื่อของรัฐบาลเพราะเป็นพวก CDM หรือคุณเป็นนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองที่มีชื่อเสียง รัฐบาลทหารมีรายชื่ออยู่ในบัญชี บางรายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับได้ บางรายรัฐก็ไม่อนุมัติหนังสือเดินทาง บางส่วนพวกเขาหนีมาโดยไม่มีหนังสือเดินทางและต้องทำงานประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย”เขาย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของคนจากพม่าจำนวนหนึ่งที่ต้องมุดอยู่ในที่มืดของสังคมไทย
คนหนุ่มสาวในเมืองต่างๆของพม่าจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะเข้ามาฝึกอาวุธกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และร่วมกันจัดตั้งกองกำลังปกป้องประชาชน

“หลายคนที่หนีมาเป็นแรงงานข้ามชาติ พวกเราอพยพออกจากประเทศ เพื่อต้องการหารายได้และต้องการหางานที่ดี ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร เศรษฐกิจพม่าย่ำแย่ จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณเห็นว่ามีแรงงานข้ามชาติพม่าในไทยเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาไม่สามารถหางานที่ดีในพม่าได้ การอาศัยอยู่ที่ประไทยแม้จะมีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่พวกเขาต้องจ่ายเงินพิเศษเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ได้ แต่ก็ยังดีกว่าอยู่รอความตายในพม่า”
แทนและเพื่อนๆพม่าในไทยหลายคนเห็นตรงกันว่า รัฐบาลไทยไม่ได้รับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัยจริง ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาด้านมนุษยธรรม แม้ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยก็ตาม แต่ในด้านมนุษยธรรมรัฐบาลไทยควรช่วยเหลือพวกเขาอยู่ แต่ก็ไม่มากนักเท่าที่ควร
“ผมหวังว่าพวกเราจะได้รับความช่วยเหลือ เช่น การออกเอกสารชั่วคราวในระยะสั้น ด้วยวิธีนี้จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสามารถไปทำงานได้ หรือคนเหล่านั้นสามารถมีประกันสังคม และจะทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์เพิ่มมาก” แทนกล่าว
ผู้ลี้ภัยจากพม่า ไม่เพียงเข้ามาเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นเท่านั้น แต่พวกเขาได้กระจายตัวไปยังระบบการจ้างงานที่สูงขึ้นระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที พนักงานต้อนรับในโรงแรม
“ผมรู้สึกขอบคุณคนไทยมากๆ ที่เห็นอกเห็นใจและสนับสนุนพวกเรา ผมอยากส่งเสียงถึงบางคนที่หวาดกลัวผู้อพยพว่า ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ด้วยการสร้างชุมชนที่ดี สร้างความเข้าใจกันจริงๆ” ชายหนุ่มบอกด้วยน้ำเสียงชื่นชม
ทุกวันนี้รอบตัวเรามีเพื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่มากมาย สังคมไทยพยายามพร่ำสอนในเรื่องการเข้าถึงพรหมวิหาร 4 โดยเฉพาะความเมตตา ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนต่อประชาชนด้วยกัน มีศาสนาพุทธเป็นแกนกลาง ทำให้เข้าถึงหลักการนี้ได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้บริหารประเทศระดับนโยบาย ดูเหมือนจะไม่เข้าถึงหลักธรรมข้อนี้เอาเสียเลย