เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่กำลังจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตย (สปป.) ลาวเพื่อให้เปิดเผยการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนในโครงการสร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลาย ซึ่งจัดทำโดยบริษัททีมคอนซัลติ้งกรุ๊ป เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด กฟผ.ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังเครือข่ายชาวบ้านโดยลงวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเด็นแรกที่เครือข่ายถามว่า การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติมของกรณีเขื่อนปากแบงและปากลายอยู่ในเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) หรือไม่ ทางกฟผ.ชี้แจงว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบุเงื่อนไขในการนำส่งรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นเงื่อนไขก่อนสัญญามีผลบังคับใช้ (Condition Precedent) และนำส่งรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนรายปีจนกว่าจะสิ้นสุดอายุสัญญา ทั้งนี้โครงการมีการจัดทำรายงานเพิ่มเติมก็สามารถนำส่งรายงานตามกรอบเวลาดังกล่าวได้
สำหรับประเด็นที่เครือข่ายฯ ขอทราบรายละเอียดและขั้นตอนกระบวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายโดยบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอ็นจีเนียริ่งกรุ๊ปแอนด์เมเนจเม้นท์จำกัด(มหาชน) เป็นไปตามกฎหมายใด ทางกผฟ.ชี้แจงว่า เนื่องจากผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโครงการ และร่างสัญญาฯ โครงการปากแบงและสัญญาฯ โครงการปากลาย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการนำส่งหรือแจ้งรายละเอียดและขั้นตอนของกระบวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงไม่ได้กำหนดว่าจะต้องระบุกฎหมายที่จะใช้อ้างอิงในการทำการศึกษา ดังนั้นกฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นที่เครือข่ายฯ ขอทราบเขตการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของปากแบงและเขื่อนปากลาย และระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบนั้น กฟผ.ชี้แจงว่า เนื่องจากการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโครงการ และร่างสัญญาฯ โครงการปากแบงและสัญญาฯ โครงการปากลาย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการนำส่งหรือแจ้งขอบเขตการศึกษาข้ามพรมแดนและระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบ กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว
ในประเด็นคำถามว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบและตรวจรับรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติมดังกล่าว กฟผ.ชี้แจงว่า รายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการปากแบงและโครงการปากลาย ได้รับการอนุมัติโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสปป.ลาว และผู้พัฒนาโครงการได้นำส่งรายงานดังกล่าวให้แก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อรับทราบในกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง(PNPCA) ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ทั้งนี้ เนื่องจากรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติมยังอยู่ในระหว่างการจัดทำ กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว
ขณะที่เรื่องขั้นตอนการได้รับการเยียวยาจากการได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนแม่น้ำโขงว่า หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ กฟผ.ชี้แจงว่า สัญญากำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการจัดตั้งกองทุน (Remedial Fund) เพื่อดำเนินการเยียวยาเมื่อเกิดผลกระทบข้ามพรมแดน
ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ นักวิจัยอิสระจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) กล่าวว่า จากการชี้แจงของ กฟผ.จะเห็นว่า รายงานศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติมของกรณีเขื่อนปากแบงและปากลาย ไม่มีผลต่อการเซ็นสัญญาซื้อขาย เป็นเพียงเงื่อนไขให้ทำรายงานผลกระทบฯ ให้ส่งก่อนการสร้างเขื่อนเท่านั้น
“เป็นการทำอย่างเสียไม่ได้ สำหรับการจัดทำรายงานผลกระทบข้ามแดน เพียงให้เป็นไปตามเงื่อนไข ตอนที่มีขยายการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้า ที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป.ลาว เรื่องความร่วมมือไปแล้วในวันที่ 4 มีนาคท 2565 ในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (MOU) จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ตามข้อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่การทำรายงงานผลกระทบข้ามแดนนั้นไม่ได้เป็น เงื่อนไขการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU” นายมนตรีกล่าว
นักวิจัยฯ กล่าาว่า จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า จากคำตอบ กฟผ. เห็นว่า กพช. ไม่ได้ผูกพันเงื่อนไขการทำรายงานผลกระทบข้ามแดน ทั้งในเรื่องสังคม การแบ่งเขตแดน และสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขในการในการลงนามซื้อขายไฟฟ้า เพียงแต่ขอให้ทำส่งซึ่งผู้ทำก็คือผู้พัฒนาโครงการปากแบงและโครงการปากลาย ดังนั้นเมื่อไม่เงื่อนไขการเซ็นสัญญาซื้อ และชี้แจงไม่ได้ว่าจะเปิดให้สาธารณะ คนนอก หรือผู้ได้รับผลกระทบได้รับรู้ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีกลไกในการควบคุมความเสียหายใดๆ ถ้ารายงานการศึกษาฯ บอกว่าไม่มี ก็คือไม่มี แบบนั้นได้หรือ กฟผ.และคู่สัญญา จะเขียนอย่างไรในสัญญาการซื้อขายก็ได้อย่างนั้นหรือ
“การจัดตั้งกองทุนเยียวยา ก็ต้องมีวิธีคิดแต่เมื่อไม่มีกระบวนการตรวจสอบ อ้างอิง กับตัวผู้ได้รับผลกระทบจะวิเคราะห์ความเสียหายออกมาอย่างไร และความเสียหายอย่างเช่นเรื่องดินแดนที่เป็นเรื่องสำคัญจะเยียวยาใครอย่างไรหรือ จากการติดตามตอนนี้ยังไม่เห็นว่า เงื่อนไข ข้อตกลงการใช้ไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองกับภาครัฐ (PPA) และ Tariff MOU นั้นเขียนเงื่อนไขและข้อผูกพันอย่างไร ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถรู้อะไรได้เลย” นายมนตรี กล่าว

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขามีความกังวลเรื่องผลกระทบข้ามแดนเป็นอย่างมาก และในมุมของนักวิชาการ และชาวบ้านรู้ว่ากระทบแน่นอน ดังนั้นจึงคิดว่า รัฐความจะกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามแดนให้เป็นเงื่อนไขการลงนามซื้อขายไฟฟ้า ต้องทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งพื้นที่ที่จะกระทบ ระดับน้ำจะเป็นอย่างไรหากมีการสร้างเขื่อน ชาวบ้านไม่ได้รับคำตอบใด ๆ เลย ต่อความกังวลใจได้เลยจากที่ กฟผ.ตอบหนังสือที่ทางเครือข่ายฯ ส่งไปสอบถามนั้น
นายนิวัฒน์กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งชาวบ้านและเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความกังวลใจชาวบ้าน
“หากมีการลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายและดำเนินการสร้างแล้ว ผลกระทบเกิดขึ้นใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เมื่อไม่มีอะไรชัดเจนแบบนี้ ดังนั้นการสร้างและจัดการเขื่อนต้องมีความชัดเจน ศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้าน ไม่ใช่ทำไปสร้างไปศึกษาไป เพราะผลกระทบก็เห็นอยู่แล้วในพื้นที่ภาคอีสานชัดเจน หากสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจอะไร ความเสียหายก็จะสะสมเพิ่มขึ้นๆ รุนแรง ซ้ำเติมคนลุ่มน้ำโขง และระบบนิเวสพังเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ” นายนิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้โครงการสร้างเขื่อนปากลาย จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยมีระยะเวลาสัญญา 29 ปี อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มกราคม 2575 โดยจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ห่างจากพรมแดนไทยลาว ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ไปทางเหนือราว 100 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยรู้สึกมีความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่กำลังจะเกิดขึ้น
————–