โดย ภาสกร จำลองราช
การคุมตัวเด็ก 126 คนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ผลักดันส่งกลับประเทศพม่าด้านอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย โดยเริ่มทยอยให้พ่อแม่เด็กมารับตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร โดยหน่วยงานหลักที่ดำเนินการในครั้งนี้คือตำรวจที่ถือกฎหมายคนเข้าเมือง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ถือกฎหมายคุ้มครองเด็ก และกระทรวงศึกษาธิการที่ถือกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ
เหตุผลในการผลักดันเด็กๆ ออกนอกประเทศครั้งนี้โดยให้เหตุผลหลักว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่กฎหมายอีก 2 ฉบับคือเรื่องการคุ้มครองเด็ก และนโยบายด้านการศึกษา กลับถูกหยิบยกมาใช้อย่างบางเบาสะท้อนถึงการเข้าถึงหลักการ “มนุษยธรรม” ของหน่วยงานรัฐได้จัดแจ๋ว
ในวงการศึกษาของสังคมไทยมักพูดกันอยู่บ่อยๆ “เด็กทุกคนในประเทศควรได้เรียน” ไม่ว่าพวกเขาจะมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่ หรือพวกเขาสถานะบุคคลอย่างไร เช่นเดียวกับการคุ้มครองเด็กที่เราได้ยินเสมอว่าต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง การส่งกลับเด็กๆ 126 คนครั้งนี้ ได้ปอกเปลือกให้เห็นเนื้อของคำว่ามนุษยธรรมในของหน่วยงานรัฐไทยได้เป็นอย่างดี
สังคมไทยผสมกลมกลืนด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มายาวนาน โดยบริเวณชายแดนรอบประเทศไทยโดยเฉพาะชายแดนด้านตะวันตกและภาคเหนือตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ไปจรดทะเลอันดามัน มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกเส้นแบ่งแดนขีดทับพื้นที่ แต่ทุกวันนี้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งยังเชื่อมร้อยและเป็นพี่น้องกันอยู่
วันนี้ภายในประเทศพม่าเกิดสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศเนื่องจากการยึดอำนาจของทหาร ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แม้แต่คนพม่าด้วยกันเองต่างประกาศสงครามกับกองทัพพม่า
กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามายาวนาน เป็นฐานการฝึกอาวุธให้หนุ่มสาวในพม่า ผลก็คือการตกเป็นเป็นเป้าและถล่มด้วยอาวุธจากกองทัพม่า
ไม่เพียงแต่รัฐที่เป็นชาติพันธุ์อย่างกะเหรี่ยง หรือคะเรนนี แม้แต่รัฐภาคกลางที่เป็นประชาชนชาวชาวพม่าก็ถูกกองทัพพม่าโจมตีหนักหน่วงด้วยเช่นกัน หากถูกสงสัยว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของฝ่ายต่อต้าน
นับวันสถานการณ์ของกองทัพพม่าเหมือนเลือดเข้าตาหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกำลังพลลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีประชาชนให้เกณฑ์ไปเป็นทหาร คนหนุ่มสาวกลายเป็นฝ่ายต่อต้านจำนวนมาก บางส่วนหนีออกนอกประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจของพม่าตกต่ำ และอาวุธที่นำมาใช้ประหัตประหารก็ร่อยหรอลง
การที่กองทัพพม่าใช้กำลังทางอากาศเป็นตัวขับเคลื่อนโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยทิ้งระเบิดปูพรมในพื้นที่ต่างๆโดยไม่แยกแยะเป้าหมายโดยเฉพาะพื้นที่พลเรือนตามหมู่บ้านต่างๆ ในรัฐชาติพันธุ์ สะท้อนให้เห็นถึงความเพลี่ยงพล้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเข้าไม่ถึงพื้นที่ของกำลังพลราบโดยเฉพาะในหลายพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ที่ถูกยึดพื้นที่ขยายวงกว้างขึ้นทุกวัน
ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าในการใช้อากาศยานทิ้งระเบิดหมู่บ้าน ทำให้คลื่นมนุษย์หลายระลอกต้องหนีตายข้ามมาหาพื้นที่ปลอดภัยในประเทศไทย
เช่นเดียวกับตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร ประชาชนจากฝั่งพม่าได้ข้ามพรมแดนมาอยู่ในสังคมไทยมากมายหลายรูปแบบ ทั้งแรงงานข้ามชาติ ปัญญาชน แพทย์และพยาบาล กลุ่มหนุ่มสาวที่เป็นนักกิจกรรม ชาวบ้านผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดน แต่ทั้งหมดยังปนเปกันเนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีระบบการคัดกรองแยกแยะที่ดี เนื่องจากยังกังวลว่าจะสะเทือนมิตรภาพระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกลายเป็นแค่ประโยคท่องจำของผู้นำรัฐบาลที่เอาไว้ประกาศให้โลกรู้เท่านั้น ในขณะที่แขนข้างหนึ่งของรัฐไทยพยายามทำให้เห็นว่ากำลังโอบอุ้มผู้หนีภัยการสู้รบ แต่แขนอีกข้างหนึ่งกลับผลักไสให้คนเหล่านี้กลับประเทศด่วนๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นการส่งคนกลับไปเผชิญการประหัตประหารหรือไม่
ที่สำคัญคือในระดับนโยบายของไทยกลับมองไม่ทะลุ เพราะยังหมกมุ่นสายสัมพันธ์อันดีระหว่าง พล.อ.มิน อ่อง หลาย กับ ผู้นำรัฐบาลไทย
กรณีที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย เชิญรัฐมนตรีพม่ามาประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในไทยเมื่อไม่นานมานี้ เท่ากับเป็นการตบหน้ากลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
เช่นเดียวกับการมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-เมียนมา หรือ RBC ครั้งที่ 35 ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงใหม่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2566 โดยภาพนายพลของกองทัพไทยจับมือกับนายพลแห่งกองทัพพม่าตัตมะดอว์ กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร
ขณะที่เด็กทั้ง 126 คนถูกผลักดันออกนอกประเทศด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ของสหประชาชาติ เด็กเหล่าคืออนาคตที่จะอยู่กับสังคมไทย ที่กำลังเต็มไปด้วยประชากรผู้สูงวัย เช่นเดียวกับเด็กๆ แนวตะเข็บชายแดนอีกหลายหมื่นคนที่ต้องหลบหนีภัยและไม่มีที่เรียน เพราะสถานการณ์การสู้รบที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ทางการไทยต้องมีความชัดเจน
ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการทบทวนนโยบายของรัฐไทยที่มีต่อรัฐบาลทหารพม่า โดยอยู่บนเงื่อนไขของสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
เราจะต้องแบกรับภาระอีกมากมายที่จะตามมา แถมยังถูกโลกประณามเพราะเอาใจกองทัพพม่าจนถอยห่างจากมนุษยธรรม
มีรัฐบาลดีๆ ที่ไหนที่สั่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดใส่ประชาชนของตนเอง
กรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กไร้เอกสารทางทะเบียนราษฎร์ 126 คนจาก จ.อ่างทอง จนนำไปสู่การผลักดันกลับประเทศพม่า ทำให้เห็นประตู “มนุษยธรรม” ของรัฐบาลไทยว่าเปิด-ปิดหรือแง้มไว้เพียงใด