
สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้พบกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งขณะนี้กำลังถูกกักขังเดี่ยวอยู่ในเรือนจำในกรุงเนปีดอว์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้กับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มาร่วมประชุม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมาร่วมหารือถึงวิกฤติปัญหาการเมืองในพม่า
สื่อของพม่าระบุว่า ทั้งทางการไทยและทางการพม่าไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพบปะครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นคนภายนอกคนแรกที่ได้อนุญาตให้พบกับนางซูจีนับตั้งแต่รัฐประหาร โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธที่จะให้ทูตยูเอ็นหรืออาเซียนเข้าพบนางซูจี ขณะที่ ผู้นำหญิงของพม่ารายนี้กำลังเผชิญกับการพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 33 ปี จากข้อกล่าวหาต่างๆของกองทัพพม่า
อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตกับสื่อพม่าว่า เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลทหารอนุญาตให้รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยพบกับนางซูจี และเกรงว่านางซูจีนั้นจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากมีความพยายามลอบบี้ที่จะให้อาเซียนหันมาคืนดีกับรัฐบาลทหารพม่า เช่นเดียวกับ นาย U Moe Zaw Oo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่ายประชาธิปไตยพม่าตั้งคำถามถึงแรงจูงใจของรัฐบาลทหารพม่าที่อนุญาตให้มีการเยือนของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทยด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่สำนักข่าว Myanmar Now ได้รายงานว่า เป็นห่วงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักโทษทางการเมืองที่กำลังถูกกุมขังในเรือนจำพม่า เนื่องจากพบตัวเลขนักโทษการเมืองถูกฆ่าเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำเพิ่มมากขึ้น โดยทางเรือนจำไม่ยอมส่งศพผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัว โดยทางเรือนจำมักอ้างว่า นักโทษการเมืองพยายามหนีระหว่างถูกย้ายตัวไปยังอีกเรือนจำหนึ่ง จึงถูกยิงเสียชีวิตเป็นต้น
อดีตนักโทษรายหนึ่งเปิดเผยว่า การหลบหนีระหว่างถูกย้ายไปอีกเรือนจำหนึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีการใส่กุญแจที่ขาอย่างแน่นหนา ครอบครัวของนาย Sein Win ก็เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่ได้รับข่าวร้ายว่า ลูกชายได้เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร แต่เพื่อนนักโทษระบุว่าการตายของเขาเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เขาถูกนำตัวไปสอบปากคำ และร่างกายของเขาเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำ ทั้งนี้นักโทษการเมืองหลายสิบคนถูกย้ายไปที่อื่นและหายตัวไป จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม จากข้อมูลของ AAPP ปัจจุบันมีนักโทษการเมือง 19,389 คนถูกคุมขังในเรือนจำทั่วประเทศ